'ไม่สูบ ไม่ดื่ม' คืน 6 พื้นที่สาธารณะ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคน
สสส. - เครือข่ายงดเหล้า รวมพลัง ภาคี กทม. ท้องถิ่น และอุทยานแห่งชาติ ขอบคุณที่ไม่ดื่มไม่สูบใน 6 พื้นที่สาธารณะ เปิดรับการท่องเที่ยวทั่วไทย ลดเสี่ยง สร้างพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ
KEY
POINTS
- "พื้นที่สาธารณะ" ว่า การเกี่ยวข้องกับผู้คนทุกๆ คน กลุ่มคนทั่วๆ ไปที่รวมถึงชุมชน คำว่า สาธารณะ เกี่ยวข้องกับผู้คนในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ชุมชนเมือง ประเทศ รัฐ ซึ่งมี ความหมายในลักษณะชุมชนระดับโลก
- อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่สาธารณะ ในการสังสรรค์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งกระทบต่อคนอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์ รวมถึงในสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ธรรมชาติ ชายหาดทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีต่อการท่องเที่ยว
- ล่าสุด สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์สร้างสำนึกคนหลากหลายวัย “สร้างสุขสาธารณะร่วมกัน” โดยกำหนด 6 พื้นที่สาธารณะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
พื้นที่สาธารณะ (Public Space) เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกคน ที่สามารถเข้ามาใช้สอย แบ่งปัน และช่วยกันดูแลให้มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่สาธารณะ ในการสังสรรค์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งกระทบต่อคนอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์ รวมถึงในสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ธรรมชาติ ชายหาดทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีต่อการท่องเที่ยว
พื้นที่สาธารณะ คืออะไร
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา นิยาม "พื้นที่สาธารณะ" ว่า การเกี่ยวข้องกับผู้คนทุกๆ คน กลุ่มคนทั่วๆ ไปที่รวมถึงชุมชนและมีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “ส่วนตัว” (Oxford English Dictionary)
คำว่า สาธารณะ เกี่ยวข้องกับผู้คนในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ชุมชนเมือง ประเทศ รัฐ ซึ่งมี ความหมายในลักษณะชุมชนระดับโลก (Madanipour, 1996) อีกทั้ง พื้นที่สาธารณะ (public space) เป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทุกๆ คน เปิดรับ สามารถเข้าถึงได้หรือแบ่งปันร่วมกันกับสมาชิกทุกๆ คนในชุมชน และถูก จัดเตรียมด้วยภาครัฐเพื่อประชาชน
เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ในเชิงกายภาพ สามารถมองเห็นได้จากทุก คนและมีการเข้าถึงได้มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว เช่น ทางเท้า ถนน สวนสาธารณะ ลาน เมือง ลานชุมชน เป็นต้น
ในมิติเชิงสังคม พื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ในการพบปะกัน รวมตัวกันของกลุ่มคนที่ หลากหลายที่มีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม ที่สะท้อนถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชนนั้นๆ (Francis, 1989)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ห้ามพลาด! 14 กิจกรรมน่าไปในพื้นที่กรุงเทพ 16-22 มี.ค.67 เช็กเลยมีที่ไหนบ้าง
- กทม. เชื่อมคลองโอ่งอ่างสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขยายพื้นที่สาธารณะย่านเมืองเก่า
- 10 ไอเดีย นักออกแบบรุ่นใหม่ เฟอร์นิเจอร์สาธารณะ รับวิถีคนเมือง
6 พื้นที่สาธารณะ
สำหรับประเทศไทย มีพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนหลากหลายวัยมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แยกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
1.สถานที่สวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ
2.สถานที่เล่นกีฬาแข่งขันกีฬา
3.สถานที่ธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ภูเขาน้ำตก ทะเล
4.สถานที่จัดงานทางประเพณี วัฒนธรรม
5.สถานที่ตลาดนัด ตลาดสด ถนนคนเดิน ลานดนตรี
6.ศาสนสถาน สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สาธารณะ ที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน อาทิ สวนสาธารณะราว 39 แห่ง และสวนย่อยๆ มากกว่า 1,000 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง รวมถึง สถานที่ราชการ สถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ล้วนแต่เป็นที่สาธารณะ ซึ่งทาง กทม. มีการดูแลพื้นที่ต่างๆ ให้ประชาชนใช้อย่างปลอดภัย
"ไม่ดื่ม ไม่สูบ" ในที่สาธารณะ
วันที่ 19 มี.ค. 2567 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) จัดงานแถลงข่าวแคมเปญ “ขอบคุณ ที่ไม่ดื่มไม่สูบในที่สาธารณะ” โดยร่วมกับ กรุงเทพมหานคร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช และเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อรณรงค์สร้างสำนึกคนหลากหลายวัย “สร้างสุขสาธารณะร่วมกัน” โดยกำหนด 6 พื้นที่สาธารณะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ครั้งนี้มีนักแสดงหนุ่ม โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับงานอาสาอนุรักษ์ธรรมชาติ
สสส. ขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีพันธกิจในการระดมพลังสังคมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพคนไทย ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอันดับต้นๆ
โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดโรคและการบาดเจ็บกว่า 200 ชนิด ทั่วโลกมีคนตายปีละ 3 ล้านคน และตายจากบุหรี่ปีละ 8 ล้านคน สสส. มุ่งเน้นขับเคลื่อนการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยความร่วมกับหน่วยงาน องค์กรที่เป็นเจ้าของสถานที่ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบ ห้ามดื่ม เช่น สถานพยาบาล สถานศึกษา ศาสนาสถาน สวนสาธารณะ ตลาด ถนนคนเดิน สถานที่แข่งขันกีฬา
ดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ นำมาสู่ปัญหาความรุนแรง
จากการสำรวจทางออนไลน์ของ Buzzebees Panel เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน อายุ 18-40 ปี ยังพบการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะถึง 28% ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรง การทะเลาะวิวาท การก่ออาชญากรรม นำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
"สสส. จึงเร่งรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปฏิบัติตามกฎหมาย โดยจัดทำสื่อรณรงค์แคมเปญ “ขอบคุณ ที่ไม่ดื่มไม่สูบในที่สาธารณะ” ผ่านช่องทางสื่อหลักและสื่อออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างค่านิยมและจิตสำนึกสาธารณะร่วมกัน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมส่งต่อชุดสื่อรณรงค์ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปประกอบการการบังคับใช้กฎหมายต่อไป” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
กทม. มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย
สำหรับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปัจจุบัน มีนโยบายการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ในบางพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา และสถานที่อื่นที่มีกิจกรรมสาธารณะ เพื่อรักษาความปลอดภัยและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชนที่มีต่อสถานที่สาธารณะ ซึ่งกทม. มีพื้นที่สาธารณะ ได้แก่
- ลานกีฬา 1,034 แห่ง
- ศูนย์กีฬา 12 แห่ง
- ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัย 35 แห่ง
- สวนสาธารณะหลัก 39 แห่ง
เปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อน และทำกิจกรรมต่าง ๆ
ชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การใช้พื้นที่สาธารณะจึงควรเคารพสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ร่วมกัน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนและออกกำลังกาย ส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นการร่วมส่งเสริมสังคมที่ดีร่วมกัน
ดื่มแอลกอฮอล์ ในอุทยานฯ ปรับ 1 แสนบาท
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อํานวยการ สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพิ่มโอกาสในการสัมผัสธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้รับความพึงพอใจโดยปราศจากการรบกวนจากผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ จึงไม่อยากให้เด็กเข้าไปเห็นพฤติกรมของนักท่องเที่ยวที่ดื่มเหล้า ที่ผ่านมา มีการกำหนดโทษ ไม่ให้นำแอลกอฮอล์เข้าพื้นที่ โดยปรับ 1,000 บาท
"ปัจจุบัน มีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ตามระเบียบว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2563 บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยาน ต้องไม่ทำการจำหน่ายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ระวังโทษ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"
ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวและขณะเดียวกันก็ให้เจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตรวจตรารักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยมีความปลอดภัย และนักท่องเที่ยวจะต้องได้สัมผัส ธรรมชาติอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวน หรือกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดความรำคาญ รบกวนผู้เข้าไปพักผ่อนชมธรรมชาติและสัตว์ป่า ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ประกอบกิจการนันทนาการ ไม่นำบรรจุภัณฑ์พลาสติก ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งรวมถึงภาชนะที่ทำด้วยโฟมเข้าไปในพื้นที่ หากผู้ใดพบการกระทำผิดในเรื่องต่างๆ แจ้งสายด่วน 1362 ได้ 24 ชั่วโมง
เมืองแสนสุข พัฒนาสู่เมืองต้นแบบ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ด้าน มณทิรา จรรยาภรณ์พงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจากเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุข มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health tourism) ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ซึ่งเป็นนโยบายของนายรณชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติควบคู่กับสุขภาวะที่ดีของประชาชน และสร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพแก่นักท่องเที่ยว
ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของการส่งเสริมชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่ โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการประกาศนโยบายและมาตรการต่างๆ ขอขอบคุณ ผู้ประกอบการและประชาชนทุกท่าน ที่ไม่ดื่ม ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักท่องเที่ยวและประชาชนจะเกิดความสุขทั้งกายและใจจากการมาพักผ่อนที่ชายหาดบางแสนร่วมกัน
คนไทยกว่า 87% เห็นด้วยกับนโยบาย
ด้าน ธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่สาธารณะ 6 ประเภท มีบางส่วนมีกฎหมายควบคุมแล้ว และบางส่วนเป็นสถานที่เอกชนที่เป็นข้อยกเว้น ซึ่งจากการดำเนินงานของเครือข่ายฯ พบว่า พื้นที่ที่มีการควบคุมให้ไม่ดื่มไม่สูบแล้วมีคนไปใช้พื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในงานประเพณีเทศกาล งานดนตรี งานกีฬา ที่จะมีการสปอนเซอร์จากภาคธุรกิจ แต่เมื่อเจ้าภาพจัดงานปลอดเหล้าเบียร์บุหรี่แล้ว กลับพบว่าไม่ได้ทำให้คนมาเที่ยวลดลง กลับมีรายได้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายงดเหล้าได้ทำโพลล์สอบถามความ คิดเห็นนักท่องเที่ยวชาวไทย วันที่ 15-17 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา จำนวน 711 ชุด จาก 28 อุทยานฯ พบว่า
- ร้อยละ 74 ทราบว่ามีระเบียบห้าม
- ร้อยละ 87 เห็นด้วยกับนโยบายนี้
- ร้อยละ13 ไม่เห็นด้วยเพราะเกี่ยวกับเรื่องสิทธิส่วนบุคคล
- ร้อยละ 70 เห็นว่า นโยบายนี้ดีอยู่แล้วไม่ต้องปรับปรุง
นักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดอย่างไร
จากการสำรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำรวจ 104 ชุด พบว่า
- ร้อยละ 89 เห็นด้วยกับนโยบายนี้
- ร้อยละ 84 มองว่า ดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้ไข
"ทางเครือข่ายฯ ได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก Healthy Spaces ขอบคุณที่ไม่ดื่มไม่สูบในที่สาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์และรับข้อร้องเรียนชื่อ เพื่อเป็นสื่อกลางกิจกรรมและรับข้อร้องเรียนต่างๆ ด้วย” นายธีระ กล่าว