ปรับมาตรการคุมผู้ทำผิด เพิ่มคุณภาพชีวิต-ลดแออัดเรือนจำ
สถิติ 10 ปีที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วประเทศเฉลี่ย 3.1 แสนคน และเคยพุ่งสูงไปถึง 3.5 – 3.6 แสนคนต่อปีในช่วงระหว่าง ปี 2561-2563
เมื่อนำไปคำนวณกับขนาดของพื้นที่รองรับผู้ต้องขังของเรือนจำ พบว่า จำนวนของผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำสามารถรองรับได้ไปกว่า 4-5 หมื่นคน
ทำให้บางแห่งผู้ต้องขังต้องเผชิญกับปัญหาความแออัดในเรือนจำมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคภัย และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในระยะยาว
สภาพความแออัดได้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำ อาทิ วัณโรค หอบหืด งูสวัด ความเครียด นอนไม่หลับ น้ำหนักลด และซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตาย ยังไม่นับรวมการดูแลสุขภาพเฉพาะทางที่ไม่เพียงพอ
โดยเมื่อพิจารณาจากรายงานการตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 พบว่า หลายเรือนจำให้บริการด้านทันตกรรมและสุขภาพจิตต่ำกว่าเป้าหมาย
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ในปี 2565 พบว่าผู้ต้องขังมีการติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็น 40% ของผู้ต้องขังทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิต 139 คน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรือนจำมีสภาพที่แออัด มาจากหลายปัจจัย อาทิ การใช้ “โทษทางอาญาเฟ้อ” หรือ การกำหนดโทษจำคุกโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษแบบสุดโต่งให้ได้รับโทษนานเกินจำเป็น และการใช้มาตรการทางเลือกน้อยไป ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ต้องขังในเรือนจำมีจำนวนมาก
แม้ว่าที่ผ่านมามีความพยายามใช้กำไล EM มาเป็นทางเลือกเพื่อควบคุมตัวผู้ทำความผิดแทนการกักขัง โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดความหนาแน่นในเรือนจำได้ รวมถึงเป็นการให้โอกาสผู้ทำความผิดกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคม
ทว่า การใส่กำไล EM อาจไม่ได้ช่วยผู้ทำความผิดในการฟื้นฟูพฤตินิสัยและการปรับตัวเข้ากับสังคมตามปกติ เนื่องจากยังถูกสังคมตีตราจากการใส่กำไล EM ทำให้อาจกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง
การศึกษาของ TDRI เมื่อปี 2566 พบว่าปัจจุบันการใช้มาตรการทางเลือกในประเทศไทย (Alternatives to imprisonments) ยังเป็นสิ่งที่ถูกละเลย และไม่ได้รับการขับเคลื่อนพัฒนาจากหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานบริการสาธารณะ แทนมาตรการแทนการควบคุมตัว ซึ่งมาตรการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ต้องขังและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคม
ปัจจุบันกฎหมายได้รองรับการทำงานบริการสังคมแทนการกักขัง เช่น กรณีผู้ทำความผิดไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจึงจำคุกแทนค่าปรับ อาจให้เลือกทำงานบริการสังคมแทน
หรือกรณีคุมประพฤติตามคำสั่งศาลให้รอการลงโทษ พักโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก ซึ่งโดยทั่วไปจะนำมาใช้กับความผิดเล็กน้อยแบบความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ไม่ร้ายแรง
ข้อดีคือผู้ทำความผิดจะได้พำนักอยู่ที่บ้านของตนเองและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องมาทำบริการสาธารณะตามที่ศาลกำหนด ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของญาติที่ต้องส่งเสียดูแลค่าใช้จ่ายขณะที่อยู่ในเรือนจำ และทำให้ผู้ทำความผิดยังได้ทำงาน เมื่อพ้นโทษก็สามารถกลับมาทำงานหารายได้ตามปกติ
แต่การทำงานบริการสาธารณะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรก ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาเพื่อเป็นกรอบการทำงานของผู้ทำความผิด ทำให้บางครั้งระยะเวลาในการทำงานอาจไม่เหมาะสม
เรื่องที่สอง คือ รูปแบบของงานที่มีไม่หลากหลายเพียงพอ ซึ่งเน้นใช้แรงงานและความรู้พื้นฐานเท่านั้น อาทิ งานทำความสะอาด งานสุขาภิบาล งานบำรุงสถานที่ราชการ ทำงานฝีมือ การบริจาคโลหิต เป็นต้น ซึ่งงานลักษณะนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับศักยภาพหรือความสามารถของผู้ทำความผิดบางคนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อเปรียบเทียบกับบทเรียนจากต่างประเทศ พบว่าแนวทางการทำงานบริการสาธารณะมีความชัดเจนทั้งในด้านกรอบเวลาการทำงาน และลักษณะของงานที่หลากหลายตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ด้านกรอบเวลาทำงาน พบว่ากรณีอังกฤษ ศาลมีอำนาจกำหนดชั่วโมงการทำงานภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนและจัดประเภทงานบริการสาธารณะแก่ผู้ทำความผิด โดยแบ่งชั่วโมงการทำงานตามความร้ายแรงของความผิดที่ได้กระทำ ในโทษสถานเบาจะใช้ระยะเวลาเพียง 40-80 ชั่วโมง ขณะที่โทษสถานกลาง 80-150 ชั่วโมง และโทษสถานหนัก 150-300 ชั่วโมง
ส่วนลักษณะของงาน เมืองลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกา กำหนดให้ผู้ทำความผิดเข้าทำงานในสถานที่ตามองค์กรของรัฐ เอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร อาทิ การทำงานในสวนสาธารณะของเมือง ศูนย์บริการควบคุมป้องกันสัตว์ ศูนย์ให้บริการทำความสะอาด
ซึ่งลักษณะของการทำงานดังกล่าว อาจเป็นการช่วยเหลือภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือช่วยงานสาธารณะที่เกิดประโยชน์ตามทักษะและความสามารถของบุคคล อาทิ การเข้าไปช่วยทำงานเอกสาร ประชาสัมพันธ์ และบัญชี ซึ่งลักษณะงานดังกล่าวอาจทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า
การมีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมนอกจากจะสะท้อนความร้ายแรงของบทลงโทษที่ได้รับแล้ว ยังช่วยทดแทนชั่วโมงการทำงานที่ขาดหายไปของงานบริการสาธารณะได้อีกด้วย
โดยจากสถิติของประเทศอังกฤษพบว่า การทำงานบริการดังกล่าวช่วยชดเชยภาระขาดแคลนคนทำงาน 4.8 ล้านชั่วโมง ขณะที่เมืองลอสแองเจลลิส สามารถชดเชยภาระงานที่ขาดแคลนได้ถึง 8.5 ล้านชั่วโมง ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราวๆ 100 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ให้ได้นั้น รัฐบาลควรต้องเร่งปรับโจทย์การนำมาตรการทำงานบริการสาธารณะที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเร่งทำ 2 ด้าน คือ
หนึ่ง เร่งกำหนดแนวทางในเรื่องของระยะเวลาให้ชัดเจนและเหมาะสม เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องทำงานเป็นระยะเวลานานเท่าใด และ
สอง กำหนดประเภทของงานที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคม และส่งเสริมพัฒนาความสามารถของบุคคลโดยไม่จำกัดเพียงการทำงานที่ใช้แรงงานและความรู้พื้นฐานเท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงานเพื่อวางกลไกในการจัดหางาน ดูแล และควบคุมผู้ทำความผิดระหว่างที่ทำงานบริการสังคม
แนวทางดังกล่าวนอกจากจะช่วยคลี่คลายปัญหาความแออัดในเรือนจำ และสวัสดิภาพของผู้ถูกคุมขังให้มีมาตรฐานแล้ว ยังช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและทำงานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมด้วย