"ไอเทม"ไม่ควรพลาดเล่นน้ำสงกรานต์ให้สุดปัง หยุดพฤติกรรมสุดยี้
ใกล้เข้ามาแล้วกับเทศกาลแห่งความสุขและสนุกของคนไทยและชาวต่างชาติ “เทศกาลสงกรานต์” หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ถือเป็นวันหยุดพักผ่อนยาวๆ หลายๆ คนรอคอย
KEY
POINTS
- “สงกรานต์” ประเพณีเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี ซึ่งในปี 2567 นับเป็นปีที่วันหยุดที่สามารถลางาานได้ลากยาวถึง 11 วัน
- เล่นน้ำสงกรานต์ ควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี พกน้ำดื่มติดตัวไว้ สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดดและทาครีมกันแดด และใส่รองเท้าแตะ
- สงกรานต์ปีนี้ เตรียมสุขภาพ หน้าผิวผม เสื้อผ้า รถ และใจต้องพร้อม เล่นน้ำอย่างปลอดภัย ลดพฤติกรรมสุดยี้ที่ไม่ควรทำ
ถึงแม้อากาศจะร้อนแบบสุดๆ แต่ทุกคนพร้อมใจกันออกมาเล่นสาดน้ำกันให้ชุ่มฉ่ำ
ยิ่งสายคอนเทนต์ที่มีแพลนจะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ให้สนุกสุดเหวี่ยง ต้องออกไปเช็กอิน ถ่ายรูปบรรยากาศแห่งความสุข
ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่หลายคนนิยมเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด กลับบ้านไปเจอญาติ เพื่อสังสรรค์ และทำบุญในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ทำให้มีการใช้รถจำนวนมาก ดังนั้นก่อนเดินทางเที่ยวสงกรานต์จึงควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้การเดินทางมีความปลอดภัย ราบรื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เล่นน้ำ ‘สงกรานต์ 2567’ ได้ที่ไหนบ้าง? รวมพิกัด 5 ภาคทั่วไทย ไว้ให้แล้วที่นี่
เล่นสงกรานต์ให้ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ ลดปัญหาคุกคามทางเพศ
ทริคเตรียมตัวก่อนเที่ยวสงกรานต์
“กรุงเทพธุรกิจ”ได้รวบรวมทริคเตรียมตัวก่อนเที่ยวสงกรานต์ 2567 ให้ปลอดภัย หมดยุคพฤติกรรมสุดยี้ เริ่มด้วย
1.ศึกษาเส้นทางล่วงหน้า
เมื่อได้สถานที่ในการเที่ยวสงกรานต์แล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือการศึกษาเส้นทางไว้ล่วงหน้าก่อนเสมอ เพื่อดูว่าเส้นทางที่ต้องไปนั้น สภาพถนนเป็นอย่างไร มีปั๊มน้ำมันในจุดได้บ้าง หรือมีเส้นทางอื่น ๆ ที่ช่วยเลี่ยงรถติดในช่วงเทศกาลหรือไม่ นอกจากนี้ในกรณีที่ต้องขับรถระยะยาวการศึกษาเส้นทางล่วงหน้า ยังช่วยคำนวณการใช้น้ำมัน เพื่อหาจุดแวะพักได้อีกด้วย
2.นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
การเดินทางเที่ยวสงกรานต์ หรือในช่วงเทศกาลที่หยุดติดกันหลาย ๆ วันนั้นจะต้องมีสติ และสมาธิในการขับรถมาก ๆ เนื่องจากมีผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นก่อนเดินทางควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้ขับรถอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่เกิดอาการง่วง หรือหลับในขณะขับรถ
พกยา ตรวจเช็กรถ เบอร์ฉุกเฉินมีไว้อย่าให้ขาด
3. พกยาสามัญประจำบ้านติดตัวไว้
อุบัติเหตุฉุกเฉินเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่มีใครคาดคิดได้ การเตรียมยาสามัญประจำบ้านติดตัวไว้ก็จะช่วยทำให้อุ่นใจ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมตัวเองให้มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน หากเกิดป่วยขึ้นมากระทันหันก็จะสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ หรือหากมีอาการปวดหัว ท้องเสีย หรือไข้ขึ้นก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ ไม่ทำให้อาการทรุดหนัก ซึ่งกลุ่มยาสามัญประจำบ้านที่ควรพกติดตัวไว้มีดังนี้
- กลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้
- กลุ่มยาแก้แพ้
- ยาแก้ปวดท้อง
- ยาแก้ท้องเสีย
- ยาทาผิวหนัง แก้ผื่นคัน
- ยาดมแก้วิงเวียน หน้ามืด
- อุปกรณ์ในการทำแผล พลาสเตอร์ น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ และยาใส่แผล
4.ตรวจเช็กสภาพรถก่อนออกเดินทาง
การตรวจเช็กสภาพรถก่อนการออกเกินทางเที่ยวสงกรานต์นั้น ช่วยให้การเดินทางเต็มไปด้วยความปลอดภัย และทำให้เดินทางราบรื่น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาเรื่องรถเสีย ซึ่งการตรวจเช็กสภาพรถก่อนออกเดินทาง ควรเช็กดังนี้
- แบตเตอรี่ ควรตรวจเช็กบริเวณขั้วแบต ฉนวนสายไฟว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ พร้อมทั้งเช็กระดับน้ำกลั่น และวันหมดอายุของแบตว่ายังมีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางไกลได้
- ยางรถยนต์ ต้องเช็กทั้ง 4 ล้อว่ามีความสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน ที่สำคัญต้องเติมยางลมให้พร้อม
- ระบบไฟ เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ หากขับเวลากลางคืนจะช่วยส่งสัญญาณได้ ช่วยให้การเดินทางนั้นมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟเบรก และไฟตัดหมอก
- ระบบเบรก เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการขับขี่ หากพบว่าระบบเบรกมีปัญหาควรแก้ไขก่อนการเดินทาง
- หม้อน้ำ ทำหน้าที่ในการระบายความร้อน หากหม้อน้ำมีปัญหาอาจทำให้ตัวเครื่องยนต์ร้อนจนดับได้
5.จดเบอร์ฉุกเฉินไว้เผื่อเหตุจำเป็น
ในช่วงสงกรานต์ที่หลาย ๆ คนก็เดินทางไปเที่ยวทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ก่อนเดินทางจึงควรจดเบอร์ฉุกเฉินไว้เสมอ หากเกิดเหตุจริง ๆ จะได้ไม่เสียเวลาในการหา สามารถโทรเพื่อขอความช่วยเหลือได้เลย ซึ่งเบอร์ฉุกเฉินที่ควรมีติดเครื่องไว้มีดังนี้
- เบอร์โทรฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย
แจ้งเหตุด่วน - เหตุร้าย 191
แจ้งเหตุไฟไหม้ 199
ตำรวจท่องเที่ยว 1155
ตำรวจทางหลวง 1193
สายด่วนจราจร 1197
แจ้งรถหาย 1192
ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท 1146
ศูนย์จราจร อุบัติเหตุ จส.100 1137
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 1667
สายด่วนอุบัติเหตุทางน้ำ 1196
- เบอร์โทรฉุกเฉิน เกี่ยวกับการเดินทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด ( บขส.) 1490
การรถไฟแห่งประเทศไทย 1690
ขสมก. 1348
ท่าอากาศยาน 1722
สวพ. FM91 (รายงานสภาพจราจรและแจ้งเหตุด่วนบนถนน) 1644
กรมขนส่งทางบท 1584
กรมทางหลวง 1586
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1543
- เบอร์โทรฉุกเฉิน ด้านการแพทย์
หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล 1554
หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (กทม.) 1646
หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (ทั่วไทย) 1669
6. ทำประกันอุบัติเหตุไว้
อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ที่แม้เราจะขับขี่อย่างระมัดระวังขนาดไหน แต่ก็สามารถเกิดอุบัติเหตุที่มาจากเพื่อนร่วมถนนได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้
ก่อน-ช่วงเล่นน้ำ-หลังเล่นน้ำ ควรทำอย่างไร
ก่อนเล่นน้ำ
- สวมเสื้อผ้าสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี
- พกน้ำดื่มติดตัวไว้เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดดและทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป
- ใส่รองเท้าแตะ เพื่อป้องกันการอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเชื้อราที่เท้า
ช่วงเล่นน้ำ
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์น้ำหวาน น้ำอัดลม
- ไม่เล่นน้ำกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วง เวลา 11.00 – 15.00 น.
- ควรเล่นเป็นกลุ่ม และหากมีอาการตัวร้อนจัด ผิวหนังแดงและแห้ง เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดเพื่อพาไปพบแพทย์
- ไม่เล่นน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดเพราะอาจป่วยหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
หลังเล่นน้ำ
- รีบอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ ไม่ต้องรอกระหาย
- อยู่ในบ้าน หรือกักบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
- ไม่เปิดพัดลมจ่อตรงตัว
ไอเทมที่ไม่ควรพลาด เล่นน้ำสบายใจ
1.ปืนฉีดน้ำ
ถือเป็นไอเท็มที่ขาดไปไม่ได้เลยจริงๆ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ ใครๆ ก็ต้องพกไว้เป็นอาวุธคู่กาย ซึ่งปืนฉีดน้ำ ก็มีให้เลือกหลากหลายสไตล์ทั้งปืนฉีดน้ำพกพา กระเป๋าฉีดน้ำสะพายหลัง ที่รองรับการใช้งานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถเลือกซื้อในแบบที่ชอบและพกพาสะดวก เพื่อสาดเล่นในวันสงกรานต์ให้สนุกสุดฉ่ำ โดนยิงมาเมื่อไหร่
2.หมวกกันแดด
อีกหนึ่งไอเท็มที่ต้องมีติดตัวไว้อย่างยิ่ง ยิ่งแดดเดือนเมษายนไม่เคยปราณีใครอยู่แล้ว การมีหมวกไว้กันแดดกันน้ำสักใบเพื่อปกป้องศีรษะและใบหน้าจากแดดที่แรงกล้า มีหมวกชิคๆ สักใบไว้ถ่ายรูปสวยๆ ทำคอนเทนต์ลงโซเชียลแบบกรุบๆ
3.แว่นกันน้ำ
ไอเท็มสุดฮอตที่หลายๆ คนต้องมี เพื่อปกป้องการระคายเคืองของดวงตา ไม่ว่าจะสิ่งสกปรกที่ปะปนมากับน้ำแป้งดินสอพอง หรือเพื่อการมองเห็นที่ดียิ่งขึ้นหากต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
แถมยังเป็นไอเท็มสายแฟที่สามารถเลือกแมชต์แว่นตาทรงต่างๆ ได้ตามสไตล์ของตัวเอง อีกสีสันความสนุกแบบไม่มีสะดุดในช่วงสงกรานต์!
4. ครีมกันแดด
ช่วงสงกรานต์ที่มาพร้อมกับความร้อนและแดดเดือนเมษายนที่เตรียมแผดเผา ครีมกันแดดถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ต้นเหตุของความหมองคล้ำ ไหม้แดด ควรทาครีมกันแดดทั้งหน้าและผิวกายก่อนออกจากบ้าน และพกติดตัวไว้เพื่อเติมซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง และต้องเป็นกันแดดที่กันน้ำ กันเหงื่อได้ดี เพื่อจะได้สนุกสุดจอยกับสงกรานต์ได้ตลอดทั้งวัน
5. สมาร์ทโฟนกันน้ำ
สายคอนเทนต์สายโซเชียลทั้งหลายต้องห้ามพลาด! อัปรูปแชร์ความสนุกได้แบบเรียลไทม์กับสมาร์ทโฟนกันน้ำ
เตรียมทุกอย่างพร้อม เล่นสงกรานต์ให้ปลอดภัย
- สุขภาพต้องพร้อม
อากาศเมืองไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย หาเวลาดูแลสุขภาพก่อนเดินทาง เพราะหากเกิดไม่สบายขึ้นมา ไม่เพียงแต่ระวังเรื่องอาการไข้เท่านั้น ยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ ทำให้ง่วงมึนงง ถึงคราวนี้สิ่งที่วางแผนไว้ก็เป็นอันหมดสนุกแน่ๆ เพราะฉะนั้นดูแลตัวเองให้แข็งแรงไว้ก่อนเป็นดีที่สุด สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง และเตรียมยาประจำตัวไปด้วย
- หน้าผิวผมต้องพร้อม
เป็นผู้หญิงก็ต้องสวยให้สุดในทุกสถานการณ์ ฉะนั้นเสริมทัพด้วยเครื่องสำอางค์แบบกันน้ำ เพื่อความเป๊ะในขณะเล่นน้ำสงกรานต์ และใช้ครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิว ไม่อย่างงั้นแล้ว แสงแดดตัวร้ายทำลายชั้นผิว กว่าจะให้สวยกลับมาเหมือนเดิม ดูจะยุ่งยากกว่าแน่นอนค่ะ และที่สำคัญพอกัน นั่นคือ ทรงผม ให้เลือกทรงที่ถ่ายรูปแล้วสวย แม้ผมจะเปียกก็ยังแลดูไม่ยุ่งเหยิงนะคะ ลองซ้อมจับเซตดู ยังพอมีเวลา
- เสื้อผ้าต้องพร้อม
เทศกาลความชุ่มฉ่ำนี้ หนีไม่พ้นเรื่องตัวเปียก ในโหมดนี้ขอแนะนำเสื้อผ้า ที่ลดอันตรายจากการโดนแทะโลมด้วยตา เป็นเสื้อยืดสีเข้มๆแค่พอดีตัว กางเกงขาสั้นพอประมาณ เน้นความคล่องตัวยามเปียก อาจจะมีกระเป๋าพลาสติกใสๆ ใส่เสื้อผ้าสำรองหรือผ้าเช็ดตัวสะพายข้างตัว หรือแบบคล้องคอไว้ใส่โทรศัพท์มือถือก็แลดูชิคไปอีกแบบ
- รถต้องพร้อม
ตรวจดูความพร้อมของรถ ระบบเกียร์ ระบบไฟ ระบบเบรก ช่วงล่าง ล้ออะไหล่ ที่ปัดน้ำฝน และลืมไม่ได้เลยคือ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ได้รับการต่ออายุแล้ว เผื่อยามเกิดอุบัติเหตุทางจราจร พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จะมีค่าเสียหายเบื้องต้น คนละ 30,000 บาทในกรณีบาดเจ็บ และคนละ 35,000 บาทในกรณีสูญเสียอวัยวะตามหลักเกณฑ์ ซึ่งเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถใช้ถนนได้อีกทาง
- ใจต้องพร้อม
ด้วยการจราจรที่คับคั่ง ทุกคนล้วนต้องการถึงที่หมายอย่างปลอดภัย การมีสติและมีน้ำใจบนท้องถนนจึงเรื่องสำคัญ แต่หากเกิดเหตุที่มิได้คาดฝันขึ้น ตั้งสติไว้ เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินที่ควรมีและบันทึก เผื่อไว้ยามคับขันนี้ คุณยังมีคนคอยช่วยเหลือ เช่น บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ที่รองรับสิทธิ์ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยโรงพยาบาลสิริโรจน์ กด 076 361-888 หรือศูนย์รับแจ้งเหตุ-สั่งการนเรนทรอันดามัน จ.ภูเก็ต ที่เบอร์ 1669 จะมีทีมเคลื่อนที่เร็วและช่วยชีวิตฉุกเฉิน รุกไปยังที่เกิดเหตุเพื่อให้บริการทางการแพทย์อย่างทันท่วงที
เคล็ดลับ! เล่นน้ำสงกรานต์ผิวไม่พัง
1.ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน ควรเลือกใช้ครีมกันแดด SPF>50 PA+++ ทาบริเวณในร่มผ้า ควรทาซ้ำ ทุกๆ 2 ชม. จนกว่าจะเข้าบ้าน
2.ใส่หมวก หรือใส่เสื้อผ้าแขนยาว ขายาว
3.เล่นก่อน 10 โมง หรือหลังจากบ่าย 3 โมง เพราะแดดแร๊งง หลีกเลี่ยงจากรังสียูวี เพราะทำให้ผิวไหม้ ดำหมองคล้ำได้ ดีที่สุดเล่นตอนเย็นเลยจ้า
4.ควรเลือกใส่เสื้อผ้าโทนสีสดใส เช่น แดง เหลือง ขาว ฟ้า เขียว ห้ามใส่เสื้อผ้าโทนสีทึบๆ เพราะสีทึบจะดูดซับแสงแดดได้ดีมาก
5.พยามยามหลีกเลี่ยงแป้งดินสอพองผสมสีที่อาจมีสารอันตรายต่อผิวหน้า เลือกทำเลที่ใช้น้ำสะอาดเล่นเพื่อป้องกันผิวแพ้สารอันตราย และเชื้อโรคที่ปะปนมากับน้ำ
6.หลังเล่นน้ำสงกรานต์ถ้าเผลอลืมทากันแดดแล้วเกิดผิวไหม้ ให้ใช้เจลว่านหางจระเข้ทาบรรเทาอาการแสบร้อน
7.ถ้ามีผื่นผิวหนังทั้งจากเชื้อราหรืออาการระคายเคืองหลังเล่นน้ำสงกรานต์ ควรพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม เทศกาลสงกรานต์ในปี 2567 นับเป็นปีที่วันหยุดค่อนข้างเอื้ออำนวยให้กับภาคการท่องเที่ยวสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เมษายน ได้ นับว่าเทศกาลนี้จะลากยาวถึง 11 วัน เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลก่อนสงกรานต์ มีวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน และ วันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 12 เมษายน
แม้แต่ในส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ วันหยุดยาวก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงวันที่ 6-8 เมษายน และวันที่ 12-16 เมษายน ซึ่งก็นับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567
อ้างอิง: กรมประชาสัมพันธ์ ,โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์