เปิด"ค่าจ้างผู้สูงอายุ" เดือนละ 12,000 บาท กูรูชี้ไทยควรมี "กฎหมายทรัสต์"

เปิด"ค่าจ้างผู้สูงอายุ" เดือนละ 12,000 บาท  กูรูชี้ไทยควรมี "กฎหมายทรัสต์"

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 66ตัวเลขผู้สูงอายุไทยที่ยังทำงานเพิ่มขึ้น อยู่นอกระบบ 86.8 % ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละราว 12,000 บาท กูรูแนะแบ่งเงิน 5 ก้อนภูมิคุ้มกันทางการเงินช่วยเกษียณสุข ชงไทยควรต้องมีกฎหมายทรัสต์ เปิดช่องสูงวัยจัดการเงินก้อน

KEY

POINTS

  • 5 ปีแนวโน้มตัวเลขผู้สูงอายุมีงานทำเพิ่มขึ้น ปี 2566 อยู่ที่ 37.5 % เพิ่มขึ้นกว่าปี  2565 โดย ทำงานนอกระบบ 86.8 %
  • ภาพรวมค่าจ้างผู้สูงอายุเฉลี่ยเดือนละราว 12,000 บาท มากสุดในภาคบริการและการค้า แต่ยังเผชิญปัญหาค่าตอบแทน-งานขาดความต่อเนื่อง
  • SETลุยสร้างทักษะบริหารเงิน กูรูแนะแบ่งเงิน 5 ก้อนภูมิคุ้มกันทางการเงินช่วยเกษียณสุข ชงไทยควรต้องมีกฎหมายทรัสต์ เปิดช่องผู้สูงอายุจัดการเงินก้อน

ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 13.64 ล้านคน ซึ่งรายได้หลังวัยเกษียณเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการวางแผนเตรียมการ ไม่อาจหวังพึ่งเฉพาะแต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

ตัวเลขปี  2566 พบว่าผู้สูงอายุที่ยังทำงาน 37.5 % เพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 ทั้งนี้ นายกสมาคมวางแผนการเงินไทยแนะแบ่งเงินเป็น 5 ก้อนเพื่อช่วยให้เกษียณสุข

จากรายงานการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทยปี  2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ทำงาน 5.10 ล้านคน คิดเป็น 37.5 %ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี  2565 ที่อยู่ที่ 36.1 %  ปี 2564 อยู่ที่ 35.9 % ปี 2563 อยู่ที่ 36.9 % และปี 2562 อยู่ที่ 34.5 %

ค่าจ้างผู้สูงอายุเฉลี่ยรายเดือน

ในจำนวนผู้สูงอายุที่ยังทำงาน 5.10 ล้านคน อยู่คนเดียว 6.77 แสนคน และอยู่กับครอบครัว 4.43 ล้านคน 

  • ทำงานนอกระบบ 4.43 ล้านคน คิดเป็น 86.8%  
  • ทำงานในระบบ 6.75 แสนคน คิดเป็น 13.2 % 
  • ได้รับค่าจ้างภาพรวมเฉลี่ยเดือนละ 12,151 บาท
  • งานภาคเกษตรกรรมได้รับ  5,796 บาท
  • ภาคการผลิต 12,555 บาท
  • และภาคบริการและการค้า 13,848 บาท

อย่างไรก็ตาม ต้องเผชิญกับปัญหาจากการทำงาน  เรื่องค่าตอบแทน 52.7% งานขาดความต่อเนื่อง 16.4 % งานหนัก 16.1 % ไม่มีสวัสดิการ 9.5 % ไม่มีวันหยุด 2.7 % ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ 1.4% และอื่นๆ 1.2 % 

วางแผนเกษียณแบ่งเงิน 5 ก้อน 

เมื่อเร็วๆนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ได้ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ จัดงานเสวนา “จาก Aged Society สู่ Happy Young Old” เพื่อเปิดมุมมองและแนวคิดสำคัญเตรียมพร้อมวางแผนทางการเงิน เพื่อเกษียณให้มีความสุข พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ

วศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า การวางแผนจัดการเงินของคนเกษียนจะต้องแบ่งเงินเป็น 5 ก้อน คือ 

  • ก้อนที่ 1  เตรียมไว้ใช้จ่าย 1-2 ปีแรก อาจฝากธนาคาร หรือซื้อกองทุนที่สามารถถอนได้โดยเร็ว
  • ก้อนที่ 2 ใช้ปีที่ 3-5 โดยอาจลงทุนในตราสารหนี้
  • ก้อนที่3 ใช้ปีที่ 5-10 ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละปี อาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น อาจจะลงราว 10-20 %ไม่ใช่ลงทั้งหมด
  • ก้อนที่ 4 ช่วง11-20ปี  ลงทุนในหุ้นได้มากกว่า 20 % และให้ผลตอบแทนระยะยาว
  • และก้อนที่ 5 สำคัญที่สุดสำรองไว้ยามฉุกเฉินต้องสำรองตั้งแต่เกษียณ และเก็บไว้ตลอดอายุเกษียณ อาจจำเป็นต้องใช้ เป็นเรื่องฉุกเฉิน

“สิ่งที่จำเป็นในการวางแผนการเงินเกษียณ คือ ทำการป้องกัน โดยตอนอายุน้อยอาจจะลงทุนเน้นเติบโต แต่พอวัยเก๋าไม่เน้นเรื่องเติบโต ให้เน้นกระแสเงินสดหรือรายได้ มากกว่าการเติบโต โดยหลักการอายุมากขึ้นก็เสี่ยงได้น้อยลง เพราะโอกาสแก้ตัวน้อย ให้ยึดหลักนี้ไว้”วศินกล่าว 

ไทยควรมีกฎหมายทรัสต์

ขณะที่ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด  กล่าวว่า การวางแผนชีวิตเกษียณสุข จะต้องทำพินัยกรรม  2  ส่วน ได้แก่ 

1.พินัยกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินต้องจัดการให้เรียบร้อยไม่ว่าจะแบ่งให้ลูกหลานหรือองค์กรการกุศลก่อนที่จะสูงอายุ เพราะหากจะทำตอนที่ความจำเสื่อม หรือเป็นพาร์กินสัน หรือมีความเสื่อมถอยของร่างกายในส่นวนต่างๆ จะจัดการเรื่องทรัพย์สินได้ยาก

“ถ้ามีทรัพย์สินใหญ่ๆ ที่ดินแนะนำให้ขาย เอาเงินไปฝาก แล้วหาเนอร์สซิ่งโฮมที่ดีๆ และซื้อประกัน เพราะอยู่คนเดียวหากอยู่ที่บ้านเสี่ยงหกล้ม เพราะฉะนั้นขอให้วางแผนสิ่งเหล่านี้ จัดการเรื่องทรัพย์สินและชีวิตให้เรียบร้อย แล้วจะไปอย่างตัวเบา”ศ.พิเศษ กิติพงศ์กล่าว

และ2.พินัยกรรมชีวิต ถ้าวางแผนก็จากไปอย่างมีคุณภาพ เตรียมการเรื่องการจัดการศพ รวมถึง ทำ Living Will คือ การเตรียมการที่จะไม่ยื้อความตาย เป็นการแสดงเจตจำนงในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคร้ายแรง  ว่าจะไม่ปั๊มหัวใจ เจาะคอหรือทำสิ่งใดที่จะเป็นการยื้อความตาย ซึ่งต่างจากยื้อชีวิตที่ยังจะต้องยื้อ เช่น หากเกิดหัวใจวายยังต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา จึงต้องแยกให้ออกยื้อความตายกับยื้อชีวิต

“อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายทรัสต์ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวไม่มีครอบครัวแล้วมีเงินก้อนสามารถนำเงินฝากทรัสต์ได้ แล้วแจ้งความประสงค์ไว้ว่าหากถึงช่วงเวลาที่ตัวเองไม่มีความสามารถในการทำธุรกรรมแล้ว ให้นำเงินส่วนนั้นไปทำอะไรบ้าง เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเนอร์สซิ่งโฮม เป็นต้น จะทำให้ผู้สูงอายุวางแผนถูกว่าเงินที่มีอยู่จะนำไปใช้ที่ตรงไหนอย่างไร จะได้ไม่เป็นเหยื่อของการหลอกเอาเงิน” ศ.พิเศษ กิติพงศ์กล่าว

SETลุยสร้างทักษะการเงินสูงวัย

 ด้านดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SETกล่าวว่า  ตลาดหลักทรัพย์ฯทำเรื่องการวางแผนเพื่อเกษียณ และวางแผนหลังเกษียณ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่พบว่ายังไม่มีความพร้อม คนถูกหลอการลงทุน จากการหลงเชื่อ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ จึงได้จัดโครงการ Happy Money, Happy young old เน้นช่วงวัยหลังเกษียณ

โดยมีกระบวนการเรียนรู้  3 ส่วน  ได้แก่ 1.E-LEARNING เรียนรู้พื้นฐานด้านการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณ มีผู้เข้าร่วม จำนวน 6,684 คน มีความรู้เพิ่มขึ้น 31.05% นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม คาดหวังจะมีผู้ที่เข้าร่วมเพิ่มจำนวนมากขึ้น

2.WORKSHOP อบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรบริหารเงินหลังเกษียณ 8 ชั่วโมง เพื่อฝึกลงมือปฏิบัติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้เข้าร่วมมีความรู้เพิ่มขึ้น 20.81 % และ3.FINANCIAL PLANNING CLINIC รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน เพื่อให้สามารถนำไปวางแผนการเงินเกษียณของตนเองได้บรรลุตามเป้าหมาย