วงจรของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

ปลายมกราคม 2568 และแล้วฝุ่นจิ๋วก็มาตามคาดและจะตามมาอีกมากเกือบทั่วประเทศไทย พร้อมกับเสียงอึงอื้อฟังไม่ได้ศัพท์ ที่จะเงียบหายไปเมื่อฝนแรกของปีมาเหมือนระฆังมวยบอกหมดยก
จากนั้นทุกชีวิตคนในประเทศไทยก็จะดำเนินต่อไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นเลยบนแผ่นดินนี้
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมปัญหายังมีอยู่ซ้ำซากแบบนี้? หรือว่า “เขา” เลี้ยงปัญหาไว้หาผลประโยชน์ หรือ “เรา” หมดน้ำยาในการแก้ปัญหาแล้วจริงๆ หรือเป็นไปได้ไหมว่าเพื่อนบ้านแสนดีของเราไม่เห็นเราอยู่ในสายตาเสียแล้ว?
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีข้อถกเถียงน้อยมากในทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนและสัตว์หรือไม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะข้อมูลทางสาธารณสุขและงานวิจัยที่มีดาดดื่นในทางวิชาการที่มีอยู่บ่งชี้ยอมรับว่าเป็นอันตราย เข้าใจง่ายกว่าเรื่องสัณฐานโลกกลมหรือโลกแบนเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น ประเด็นสาธารณะน่าจะถกแถลงกันอยู่ที่สาเหตุหรือต้นตอของปัญหาเพื่อหาทางหลีกเลี่ยง ยับยั้ง ลดและบรรเทาเยียวยา มากกว่าการเอาสีข้างเข้าถูหรือโทษกันไปมามากกว่าการลงมือทำด้วยปัญญา ซึ่งเกือบจะเป็นพฤติกรรมปกติของสังคมไทยมานานแล้วและคงจะเป็นอยู่ต่อไปอีกนาน
ในทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมีหลักการที่ต้องอ้างถึงเพื่อหาทางออกจากปัญหาร่วมกันคือ (1) หลักการป้องกันไว้ก่อน (Pre-cautionary Principle) หรือ “กันดีกว่าแก้” และ (2) หลักการแก้ปัญหาให้ตรงจุด (Devolutionary Principle) หรือปัญหาเกิดตรงไหนให้แก้ตรงนั้น
หลักการข้อ(1) บอกว่าควรเลี่ยงที่จะเสี่ยง อย่าเสี่ยงแม้นว่าเราจะยังไม่มีข้อมูลที่ดีและมากพอแก่การตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับปัญหา ก็ลดความเสี่ยงจากปัญหา โดยการหาสาเหตุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
เมื่อทราบแล้วก็จัดลำดับความสำคัญ ความรุนแรงก่อนหลังจากข้อมูลที่ได้ แล้วลงมือทำ ทำอย่างไร? เลี่ยงที่จะก่อปัญหาได้ก็เลี่ยง ยับยั้งได้ก็ทำ ลดขนาดของกิจกรรมเสี่ยงได้ก็ลด (ปิด-เปิด-ชะลอ) บรรเทา เยียวยาเมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้น
หลักการข้อ (2) แปลว่า หากสาเหตุของปัญหาหรือความเสี่ยงเกิดในพื้นที่ ตำบล หน้าบ้านหรือเขตรับผิดชอบก็เป็นภาระหน้าที่ของผู้ต้องรับผิดชอบที่ต้องทำตามหลักการข้อ (1) หากอยู่ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค หรือระหว่าง อาณาเขตของรัฐประเทศ ก็ต้องอาศัยกลไกและความร่วมมือที่มีอยู่ให้เหมาะกับเหตุกับกาลเวลา
ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีจะมีหลักการผู้ก่อปัญหาต้องจ่าย ผู้ได้ประโยชน์ต้องจ่าย ในทางปฏิบัตินั้นก็ยังต้องกลับไปอิงกับหลักการข้อ (1) และ (2) ที่กล่าวมาแล้วอยู่ดี
ในโลกแห่งความเป็นจริง (โดยเฉพาะแบบชาวเอเชีย หรือ ชาวอาเซียน) การประยุกต์หลักการดังกล่าวทำได้ไม่ง่าย ไม่เช่นนั้นปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนในอาเซียนคงแก้ได้ในปีที่เกิด(ราวปี พ.ศ. 2539 เมื่อเกิดครั้งแรกๆในอินโดนีเซีย)
แต่การแก้ปัญหาอย่างน้อยต้องมีสี่ปัจจัยหลักที่ต้องมีครบถ้วน (1) เจตจำนงค์ทางการเมืองในทุกระดับ (2) ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (3) มีทางเลือกที่เหมาะสมให้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องและ (4) มีการบังคับใช้กฎกติกาอย่างเข้มงวด
มิเช่นนั้นก็ต้องทำใจรับกรรมร่วมกันไปเพียงอย่างเดียว หรือ เตรียมใจยอมรับให้ประเทศอื่นมาบังคับให้ทำตามกฎกติกาที่เราไม่มีโอกาสเขียนแต่ต้องทำตาม ที่ปรากฏแล้วในหลายกรณี เช่น IUU และ ข้อขัดแย้งว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์การการค้าโลก เป็นต้น
นัยของหลักการทั้งสองหากดำเนินการได้จริงๆ มีข้อดีหากมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ ลดความเสี่ยง ประหยัด มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาได้จริง ดังเช่นความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์(อีกแล้ว) ใครสนใจไปดูได้ เขารู้เขาทำจริง ไม่รีรอ
แต่ในความเห็นของผู้เขียน มีสองเรื่องที่เป็นเงื่อนไขเป็นตายของการแก้ปัญหาที่ระบบและรูปแบบปัจจุบันแบบไทย ซึ่งทำให้แก้ปัญหาไม่ได้
คือ ต้องให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ “ไม่เผา” และเรียกหา “ความรับผิดชอบ” ทางกฎหมายทางแพ่งและทางอาญา ในแต่ละชั้นของจุดที่เกิดปัญหาในปัจจุบัน ง่าย ๆ โดยการให้รางวัลแก่การไม่เผา ไม่ใช่ที่ไหนเผาก็อัดงบประมาณลงไปอย่างที่ทำอยู่
และหากยังมีปัญหาลองเอาผู้นำในแต่ละระดับของอำนาจออกจากตำแหน่ง ติดคุก ปรับตามความเสียหายที่เกิด ลองสักปี ให้รู้กันว่าปัญหานี้แก้ไม่ได้ ใครร่วมสร้างปัญหาก็ลากมาร่วมรับผิดชอบ ตรงไปตรงมา
ทว่า การบริหารบ้านเรามีคนใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย นี่คือวัฒนธรรมที่แก้ปัญหาให้ตายก็แก้ไม่ได้ ตัวอย่างมีดาดดื่น ไม่ใช่แต่เรื่องฝุ่นจิ๋ว แบบนี้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ก็ไร้ความหมาย