เหตุใดไว้ใจ ‘คนไนซ์’

เหตุใดไว้ใจ ‘คนไนซ์’

ยังไม่สามารถหาคำที่เหมาะสมในภาษาไทยมาใช้กับ “nice person” ได้ “คนนิสัยดี” “คนน่าคบ” “คนมีอัธยาสัย“ ก็ยังไม่ใช่ จึงขอเรียกว่า “คนไนซ์” ไปก่อนเมื่อมีคำถามว่า “เหตุใดการวางใจ “คนไนซ์” จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมาก” จึงรู้สึกงงๆ เพราะใครๆ เขาก็วางใจ “คนไนซ์” กันทั้งนั้นมิใช่หรือ มันเหมือนเป็นสิ่งอัตโนมัติที่ถูกสั่งสอนมา แต่เมื่อคิดให้ดีๆ แล้วก็น่าหาคำตอบเพราะการต้มตุ๋นกันทั้งออนไลน์และออนไซต์กันในปัจจุบันนั้นก็ใช้ “ความไนซ์” เป็นเครื่องมือสำคัญ 

ถ้าเราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าเหตุใดเราจึงไว้วางใจ “คนไนซ์” อย่างง่ายๆ อาจช่วยให้เราดูเเลตนเองได้ดีขึ้น เพราะ “คนไนซ์” ก็เป็นมิจฉาชีพได้และมันเก่งเสียด้วยในการใช้ “ความไนซ์” ของตัวเองให้เป็นประโยชน์

ลองค้นดูความหมายของ “nice person” จากมหามิตร AI ก็ได้ความหมายของ “ความไนซ์” ในตัวคนว่ามาจากการผสมกันของพฤติกรรม ทัศนคติและบุคลิกภาพ ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคม มีความสุภาพ เป็นมิตรและพูดจารื่นหู โอนอ่อนผ่อนตามอย่างไม่ขัดแย้งในสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะอื่นอยู่ในตัว เช่น ความเมตตากรุณา การยินดีให้ความช่วยเหลือ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของผู้อื่น ฯลฯ 

“ความไนซ์” ของบุคคลเห็นได้จากการกระทำของเขาที่มีต่อผู้อื่น ตลอดจนมีความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นบวก เมื่อพิจารณาคุณสมบัติหลักของ “ความไนซ์” ก็สามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ (ก) ความเมตตากรุณา หมายถึงการเห็นอกเห็นใจและห่วงใยผู้อื่น (ข) ความสุภาพ หมายถึงการมีมารยาทดีและสื่อสารอย่างแสดงออกถึงความเคารพผู้อื่น (ค) ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น 

(ง) ความตั้งใจและยินดีร่วมมือทำงานกับผู้อื่นอย่างกลมกลืน (จ) ความเป็นกันเอง มีการแสดงออกของบุคลิกภาพที่อบอุ่นและสามารถเข้าถึงได้ง่าย (ฉ) ความเกรงใจ คิดถึงผลกระทบที่ตนเองมีต่อผู้อื่นเสมอ (ช) ความเป็นบวก มองโลกในแง่ดีและสนับสนุนทัศนคติที่เป็นบวก

“ความไนซ์” ในตัวบุคคลจะบันดาลให้เป็น “คนไนซ์” อันเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป ใครก็อยากรู้จักและเป็นเพื่อนกับ “คนไนซ์” ที่ให้ความอบอุ่น ความสบายใจและความเป็นมิตรไมตรี

อย่างไรก็ดี “ความไนซ์” อาจเป็นเพียงสิ่งลวงตาลวงใจอย่างฉาบฉวยที่สร้างขึ้นเพื่อหาประโยชน์จากคนอื่นก็เป็นได้ ดังนั้น หากเป็น “ความไนซ์ที่แท้จริง” แล้วต้องมีสิ่งที่เรียกว่า (ก) genuineness ซึ่งหมายถึงการมีความจริงใจ การเป็นของแท้ (ปัจจุบันเขาเรียกกันว่า ของเเทร่) คนที่ genuine คือคนที่แสดงออกซึ่งความคิดเห็น อารมณ์และการกระทำอย่างซื่อสัตย์ ไม่เสแสร้งและไม่หลอกลวง และ (ข) integrity ซึ่งหมายถึงความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรม และความมั่นคงต่อหลักคุณธรรมและค่านิยมนำทางชีวิต

การเป็น “คนไนซ์” อย่างฉาบฉวยมิได้การันตีว่าจะไม่เป็นมิจฉาชีพ หลายท่านที่ถูกมิจฉาชีพทำร้ายนั้น คาดได้ว่า “ความเป็นคนไนซ์” บวกความปากหวานเเละความสามารถหาประโยชน์จากจุดอ่อนมีบทบาทอย่างสำคัญ ดังนั้น การเข้าใจว่าเหตุใดมนุษย์จึงไว้วางใจ “คนไนซ์” อย่างง่ายๆ จึงอาจช่วยเป็นเกราะป้องกันตนเองได้พอควร

มนุษย์มีทางโน้มที่จะไว้วางใจ “คนไนซ์” เนื่องจากกลไกทางจิตวิทยาที่เกี่ยวพันกับการร่วมเป็นสังคมเดียวกัน วิวัฒนาการของการอยู่รอดของมนุษย์ และความเอนเอียงทางความคิดของมนุษย์ ต่อไปนี้คือเหตุผลหลักทางจิตวิทยา (1) ในการรับรู้เชิงสังคมของมนุษย์นั้นความอบอุ่น (ความเป็นมิตร ความเมตตากรุณา) เป็นตัวถูกใช้ประเมินก่อนเพื่อนมนุษย์โดยสัญชาตญาณจะประเมินว่าบุคคลมีความตั้งใจดีหรือไม่ก่อนที่จะประเมินเรื่องอื่นๆ ดังนั้น เมื่อ “คนไนซ์” ให้ภาพลักษณ์ของความอบอุ่นจึงทำให้ดูน่าไว้วางใจ

(2) มนุษย์มักมีทางโน้มลึกๆ ในใจที่มีใจตอบกลับความเมตตากรุณาที่ได้รับเมื่อเจอคนที่ “ไนซ์” จิตใต้สำนึกจึงทำให้รู้สึกผูกพันไว้วางใจและมีใจตอบกลับธรรมชาติต้องการลักษณะนี้เพื่อให้การร่วมกันเป็นสังคมเข้มแข็งขึ้น (3) ในสังคมโบราณนั้นการไว้วางใจบุคคลอื่นเพื่อการร่วมมือกันของสมาชิก เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งเพื่อความอยู่รอด กลุ่มใดที่สมาชิกมีความไว้วางใจและสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีมีโอกาสสูงกว่าที่จะอยู่รอด ดังนั้นมนุษย์จึงมักเอนเอียงไว้วางใจผู้คนที่แสดงออกซึ่งความเมตตากรุณา

(4) ความรู้สึกเอนเอียงที่เรียกว่า Halo Effect (เชื่อว่าคุณลักษณะหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กับคุณลักษณะอื่นด้วย เช่นคนรวยไม่โกง/คนหน้าตาดีเป็นคนดี) มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนมีสมมติฐานในใจ เช่น คนมีความเมตตากรุณาจะเป็นคนซื่อสัตย์และไว้วางใจได้ (5) “คนไนซ์” สร้างอารมณ์ของความปลอดภัย ดังนั้น คนมีเมตตาจึงมักทำให้คนที่รู้จักลดความกังวลและรู้สึกปลอดภัยเเละเพิ่มความตั้งใจที่จะไว้วางใจ 

(6) งานวิจัยพบว่ามนุษย์ตัดสินความน่าไว้วางใจของคนจากภาพการแสดงออกบนใบหน้าและพฤติกรรม “คนไนซ์” ที่ยิ้มแย้ม มองตา และมีภาษากายที่เปิดเผยเข้าลักษณะของ “คนไนซ์” เข้ากรอบนี้ (7) ในทุกสังคมตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ จะถูกสอนว่า “ความไนซ์” เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงรู้สึกว่า “ความไนซ์” มีความสัมพันธ์กับ “ความดี” “การมีศีลธรรม” ดังนั้น จึงมีทางโน้มโดยอัตโนมัติที่จะไว้วางใจ “คนไนซ์” 

(8) งานวิจัยพบว่าการมีสัมพันธภาพทางสังคมในด้านบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับความเมตตากรุณานั้นร่างกายจะปล่อยสาร oxytocin (เรียกว่า trust hormone) ดังนั้น ระบบประสาทเคมีของร่างกายทำให้มนุษย์มีทางโน้มที่จะไว้วางใจผู้ที่มีพฤติกรรม “ไนซ์”

การพยายามเป็น “คนไนซ์” นั้นเป็นเรื่องที่ดี การพบปะรู้จัก “คนไนซ์” ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่า “คนไนซ์” มิได้หมายความว่าเป็นคนดีเสมอไป เมื่อใดที่รู้สึกไว้วางใจใครเป็นพิเศษอย่างรวดเร็วคงต้องตั้งคำถามตัวเองถึงสาเหตุในยุคนี้การชอบเเละไว้วางใจ “คนไนซ์” อย่างไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่ภัยที่ร้ายเเรงได้