"น้ำกัดเท้า" ซ้ำเติมผู้ประสบภัย "น้ำท่วม 2565" เช็กวิธีป้องกันและรักษาโรค
ผู้ประสบภัย "น้ำท่วม 2565" ต้องเผชิญกับความเดือดร้อน โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำท่วมอย่าง "น้ำกัดเท้า" เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงได้ยาก การอยู่กับ "น้ำท่วม" เป็นเวลานานจึงต้องดูแลตัวเองให้ดี เช็กวิธีป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้า ทำแบบนี้!
"น้ำท่วม 2565" ทำให้ประชาชนหลายจังหวัด ทั้งในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลายคนอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง แต่บางคนเลือกที่จะอยู่เฝ้าบ้านที่ถูกน้ำท่วมขัง เพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน แล้วใช้การเดินลุยน้ำออกไปรับอาหาร/สิ่งของบริจาค ทำให้เกิด "โรคน้ำกัดเท้า" ซ้ำเติมตามมาอีก
ท่ามกลาง "สถานการณ์น้ำท่วม" แบบนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้เท่าทันอาการ "น้ำกัดเท้า" ให้มากขึ้น พร้อมรู้จักวิธีป้องกันและรักษาให้ถูกต้อง
- "น้ำกัดเท้า" หรือฮ่องกงฟุต เกิดจากอะไร?
รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ในบทความวิชาการชิ้นหนึ่งว่า "น้ำกัดเท้า" เป็นโรคหรืออาการที่พบมากหลังเกิดฝนตกและน้ำท่วมขัง เกิดได้กับบุคคลที่ในชีวิตประจำวันต้องสัมผัส แช่น้ำ ลุยน้ำ เป็นระยะเวลานาน ที่ทำให้ผิวชั้นนอกจะนุ่มขึ้น นานเข้าก็อาจเปื่อย มีแผล แล้วเมื่อต้องลุยน้ำสกปรกบ่อยๆ ก็เป็นเหตุให้เชื้อหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และปรสิตบางชนิดเข้าโจมตีผิวหนังได้
โรคนี้มักจะพบมากในเพศชายโดยเฉพาะผู้ที่มีเหงื่อมากทำให้อับชื้น มากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินลุยน้ำท่วม ซึ่งเท้าแช่น้ำเป็นเวลานานๆ หรือคนที่ต้องทำงานในลักษณะที่ต้องเดินลุยน้ำสกปรก ในช่วงฝนตกน้ำท่วมขัง ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ง่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "วันหยุดยาว" นี้ กรมทางหลวง แนะเลี่ยง 30 "เส้นทางน้ำท่วม" ก่อนเดินทางไกล
- อัปเดตเบอร์โทรศัพท์ศูนย์ประสานงาน "น้ำท่วม" พื้นที่ กทม. เช็กที่นี่
- "พายุเซินกา" เข้าใกล้ไทย 15 ต.ค.นี้ เช็ก! พื้นที่เฝ้าระวัง "น้ำท่วมฉับพลัน"
- 'ฝนตก-รถติด-น้ำขังรอการระบาย' ทำเสียสุขภาพจิตขนาดไหน?
- เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ "น้ำกัดเท้า" มีอะไรบ้าง?
เชื้อต้นเหตุก่อโรคน้ำกัดเท้า เป็นเชื้อราที่มีลักษณะเป็นเส้นใย สร้างสปอร์และโครงสร้างต่างๆหลายแบบ จัดอยู่ในกลุ่ม dermatophytes มี 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ Trichophyton, Epidermophyton และ Microsporum เนื่องจากเป็นเชื้อที่ชอบเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ที่ผิวหนัง ผม ขน และเล็บ
- อาการที่บ่งบอกว่าเป็น "น้ำกัดเท้า"
อาจารย์ ดร.วรวรรณ กิจผาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความวิชาการว่า
อาการของโรคน้ำกัดเท้าแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่เกิดการระคายเคือง
เป็นระยะแรกเมื่อเท้าแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการเท้าเปื่อย คัน แสบ ผิวหนังแดงและลอก ระยะนี้เป็นระยะที่เป็นมาไม่นาน จึงยังไม่มีการติดเชื้อใดๆ การรักษาจะใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น ไตรแอมซิโนโลนชนิดครีม, เบตาเมทาโซนชนิดครีม ทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง
- ระยะที่ติดเชื้อแบคทีเรีย
เป็นระยะที่มีอาการเป็นผื่นบวมแดงมาก มีหนอง และปวด อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน จนมีรอยแผลเปื่อยที่ผิวหนังซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่แผล การรักษาในกรณีที่เป็นไม่มาก ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือด่างทับทิม แล้งทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน หรือ ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ วันละ 2-3 ครั้ง
- ระยะที่ติดเชื้อรา
ระยะนี้มีความแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรียตรงที่ การติดเชื้อรามักเกิดในผู้ที่แช่น้ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานมาก หรือผู้ที่มีนิ้วเท้าชิดหรือเกยกัน มีอาการ คือ ผิวหนังมีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน ร่วมกับมีประวัติเป็นมานานเกิน 2 สัปดาห์ การรักษาจะใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์, คีโทโคนาโซลชนิดครีม และโคลทริมาโซลชนิดครีม โดยทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง หลังจากทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว
- วิธีป้องกันและรักษา "น้ำกัดเท้า" ในช่วง "น้ำท่วม"
กรณีต้องเดินลุย "น้ำท่วมขัง" ที่ไม่สูงมาก
1. เมื่อต้องลงน้ำ เดินลุยน้ำ ต้องหาถุงพลาสติก/ถุงครอบรองเท้า มาสวมปกคลุมรองเท้าและถุงเท้าไม่ให้ถูกน้ำ และไม่ให้เท้าเปียกชื้น (ควรใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาด และแห้งสนิทเท่านั้น)
2. หลังจากเดินลุยน้ำขังมา ให้รีบถอดรองเท้าและถุงเท้าไปซักล้าง และตากไว้ในที่อากาศถ่ายเท ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้งสนิท
3. ไม่ใช้ข้าวของส่วนตัวปนกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า แม้แต่รองเท้าแตะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคนี้อยู่ เพราะโรคนี้ติดต่อสู่กันได้
กรณีต้องเดินลุย "น้ำท่วมสูง" ในพื้นที่หลายจังหวัด
1. หลังจากเดินลุยน้ำท่วมมา ให้รีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ และล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้งสนิท ควรมียาทารักษาโรคน้ำกัดเท้าติดตัวไว้ เพราะหากต้องลุยน้ำท่วมบ่อยๆ มีโอกาสเป็นได้ง่าย
2. ให้ระมัดระวังการเกาเท้าจุดที่คัน หากใช้นิ้วมือหรือเล็บที่เคยเอาไปเกาแผลที่มีเชื้อรามาก่อน แล้วไปเกาต่อที่ผิวหนังจุดใหม่ อาจทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง ดังนั้น ควรล้างมือบ่อยๆ และลดการเกาตามร่างกาย
3. หากบริเวณเท้ามีแผลอยู่แล้ว และจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ กรณีนี้หลังจากลุยน้ำมาแล้วนอกจากล้างเท้าด้วยสบู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ ให้แช่เท้าในน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นให้อาบน้ำและถูสบู่บริเวณที่เป็นแผลอีกครั้ง แล้วเช็ดเท้าและบริเวณแผลให้แห้งดี และทายาที่แผลตามปกติ
สำหรับผู้ประสบภัยที่ต้องการขอรับอาหาร สิ่งของจำเป็น และยารักษาโรคต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" ประจำพื้นที่ในแต่ละจังหวัด หรือโทรสายด่วน ปภ. 1784
--------------------------------------
อ้างอิง :
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/