"ฉีดฟิลเลอร์" เสี่ยง "ตาบอด" อยากสวยต้องระวัง! เช็กผลข้างเคียงก่อนทำ
ทำบุญสวยชาติหน้า แต่ทำหน้าสวยชาตินี้! อยากสวยไม่ว่า แต่ต้องศึกษา "ภาวะแทรกซ้อน" ให้ดีก่อนตัดสินใจ "ฉีดฟิลเลอร์" บนใบหน้า เพราะอาจเสี่ยง "ตาบอด" แบบไม่ทันตั้งตัว
การทำ “หัตถการความงาม” และ “ศัลยกรรมใบหน้า” กลายเป็นเรื่องปกติของผู้คนยุคนี้ไปแล้ว ใครๆ ก็ล้วนมีสิทธิที่จะสวยขึ้นและดูดีขึ้นได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีฟื้นฟูผิวหน้าที่ได้รับความนิยมมากก็คือการ “ฉีดฟิลเลอร์” เพื่อเติมเต็มริ้วรอยและร่องลึกจากวัย รวมถึงใช้ฉีดเสริมจมูก คาง และปากได้ด้วย
- สถิติชี้คนทั่วโลก “ฉีดฟิลเลอร์” มากถึง 3.7 ล้านครั้ง
มีข้อมูลจากงานวิจัย “Nonvascular Complications of Injectable Fillers” ที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ “Indian Journal of Plastic Surgery” (ณ ปี 2563) ระบุว่า ในทศวรรษที่ผ่านมามีข้อบ่งชี้ในการใช้ฟิลเลอร์ฉีดในความงามบนใบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากการรวบรวมข้อมูลทั่วโลกที่จัดทำโดย สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (ISAPS) แสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกนิยม “ฉีดฟิลเลอร์” มากถึง 3.7 ล้านครั้ง (เพิ่มขึ้น 11.6% จากปี 2560) ซึ่งเป็นหัตถการความงามยอดนิยมอันดับ 2 รองจาก “ฉีดโบท็อกซ์” (โบทูลินัมท็อกซิน) ที่พบว่าผู้คนทำมากที่สุดถึง 6 ล้านครั้ง (เพิ่มขึ้น 17.4% จากปี 2560)
- ยิ่งฉีดลึกมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน
เมื่อความนิยมในการฉีดฟิลเลอร์เพิ่มขึ้น จำนวนของ "ภาวะแทรกซ้อน" ก็เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน โดยพบว่าผู้เข้ารับบริการมักมีภาวะแทรกซ้อนหลายรูปแบบ และยิ่งฉีดลึกลงใต้ผิวหนังเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงสูงเท่านั้น
หากฉีดแค่ที่ผิวหนังเพื่อแก้ไขริ้วรอยและร่องลึกจากวัยมักจะไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน แต่หากฉีดลึกลงไปใต้ผิวหนังโดยหวังผลเรื่องการเพิ่มปริมาตรและการปรับรูปใบหน้า (เสริมจมูก คาง ปาก) พบว่ามีรายงานภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากหลายเคสทั่วโลก เช่น การติดเชื้อ, ฝี, ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด, การสูญเสียการมองเห็น (ตาบอด) ที่เชื่อมโยงกับอาการหลอดเลือดจากการฉีดฟิลเลอร์ และช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจฉีดสารต่างๆ เข้าสู่ใบหน้านั้น ผู้เข้ารับบริการก็ควรเช็กผลข้างเคียงและ “ภาวะแทรกซ้อน” ให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังให้ได้มากที่สุด
- พบเคสในไทย! ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาซ้ายมองไม่เห็น
สำหรับในประเทศไทยก็มีตัวอย่างเคสหนึ่งที่ได้รับ "ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์" โดยสาขาวิชาผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แชร์ข้อมูลผ่านเพจ “Ramadermatology” (6 ก.ค. 65) ระบุว่า พบเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 39 ปี ได้รับการฉีด HA filler บริเวณหว่างคิ้วเหนือจมูก ภายหลังฉีดมีอาการตามัว ปวดตาข้างซ้าย ซึมลง ร่วมกับมีอาการขาอ่อนแรงทันที
เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยเคสดังกล่าวพบว่า ตาซ้ายคนไข้มองไม่เห็น ไม่มีการตอบสนองต่อแสง รูม่านตาขยาย ไม่มีแสงสะท้อน เจอจุดสีแดงในดวงตา ซึ่งบ่งบอกว่ามีภาวะการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอตา (retina) ร่วมกับภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงจอตา นอกจากนี้ยังพบเส้นประสาทควบคุมกล้ามเนื้อบกพร่อง แขนขวาอ่อนแรง เมื่อตรวจด้วย MRI พบภาวะสมองขาดเลือดบริเวณสมองซีกซ้าย
โดยผู้ป่วยรายนี้ ได้รับการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ต้านการอักเสบ (methylprednisolone) อย่างไรก็ตามในเคสนี้ไม่ได้ทำการฉีดสลายด้วยยาสลายฟิลเลอร์ (Hyaluronidase) และหลังจากติดตามภายหลังการรักษา 2 สัปดาห์ พบว่าอาการอ่อนแรงเริ่มดีขึ้น แต่ผู้ป่วยยังมองไม่เห็นเหมือนเดิม
- จักษุแพทย์แนะเลี่ยง "ฉีดฟิลเลอร์" ที่หว่างคิ้วและจมูก
ไม่นานหลังจากเกิดเคสข้างต้น เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ในสังคมทวิตเตอร์ก็มีการแชร์ข้อความเตือนภัยเกี่ยวกับ “ฉีดฟิลเลอร์เสี่ยงตาบอด” ด้วยเช่นกัน ซึ่งชาวเน็ตต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างล้นหลาม ล่าสุด.. มีจักษุแพทย์อย่าง “พญ.ศศิ ใหญ่สว่าง” ออกมาให้ความเห็นด้วยว่า
“กรณีฉีดฟิลเลอร์นั้น หากตอนฉีดปลายเข็มเฉี่ยวเข้าหลอดเลือด หลอดเลือดที่ใบหน้าต่อกันหมด ฟิลเลอร์ที่ฉีดมีโอกาสพุ่งเข้าไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงตาส่งผลให้ “ตาบอด” และปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การฉีดทุกบริเวณบนใบหน้ามีความเสี่ยง แต่เสี่ยงมากที่สุด คือ หว่างคิ้วและจมูก แนะนำหลีกเลี่ยง”
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากบทความวิชาการของ ผศ.พญ.มาริษา พงศ์พฤฒิพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายไว้ด้วยว่า ผลข้างเคียงจากฟิลเลอร์นั้น แม้ไม่รุนแรงถึงชีวิตแต่ก็เกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ และอาจกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ไม่น้อย แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ
1. ผลข้างเคียงในระหว่างการฉีด : เส้นเลือดอุดตัน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย และสารฟิลเลอร์อาจเข้าไปสู่เส้นเลือดที่เลี้ยงดวงตาทำให้ “ตาบอด” ได้ รวมถึงมีภาวะฟกช้ำที่เกิดจากเข็มผ่านเส้นเลือด
2. ผลข้างเคียงในระยะแรก : มีลักษณะบวม นูน เป็นก้อนและขรุขระ เกิดการติดเชื้อเฉียบพลัน
3. ผลข้างเคียงในระยะยาว : เกิดตุ่ม ก้อน และบวมในภายหลังจากการแพ้หรือติดเชื้อ มีหนองหรือน้ำเหลือง ซึมจากการใช้ฟิลเลอร์ถาวร
อย่างไรก็ตาม หากใครอยากจะเสริมความงามด้วยการฉีดฟิลเลอร์ก็สามารถทำได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง โดยกลุ่มแพทย์จากเพจ Ramadermatology ให้คำแนะนำไว้ด้วยว่า สำหรับแพทย์สิ่งสำคัญที่สุดคือแพทย์ต้องรู้เรื่องกายวิภาคใบหน้า (anatomy) อย่างแม่นยำ ฉีดด้วยความระมัดระวัง และสามารถตรวจคัดกรองได้รวดเร็วหากพบว่าคนไข้มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนประชาชนก็ควรตรวจสอบแพทย์ว่าเป็นแพทย์จริงๆ มีใบประกอบวิชาชีพ และเลือกใช้บริการกับสถานพยาบาลที่ไว้ใจได้
------------------------------------------
อ้างอิง : หมอพาย lifeoflemonpie, Complications of Injectable Fillers, Ramadermatology, chulalongkornhospital