รู้จัก “ภาวะสิ้นยินดี” ไม่เศร้าแต่ก็ไม่สุข กระทบชีวิต “วัยทำงาน” แค่ไหน?

รู้จัก “ภาวะสิ้นยินดี” ไม่เศร้าแต่ก็ไม่สุข กระทบชีวิต “วัยทำงาน” แค่ไหน?

ไม่มีอารมณ์เศร้า สุข ทุกข์ รวมถึงไม่สนใจเรื่องใดๆ ถือว่ามีความเสี่ยงจะเป็น “ภาวะสิ้นยินดี” และอาจอันตรายกว่า “โรคซึมเศร้า”

“เฉยเมยและเฉยชากับทุกสิ่ง” 

“ไม่ได้มีความรู้สึกว่า สุข เศร้า หรือทุกข์”

“ขาดความสนใจกับสิ่งรอบตัว”

หากคุณมีอาการเหล่านี้ ต้องรู้ว่านั่นไม่ใช่ภาวะปกติ! แต่คืออาการของ “ภาวะสิ้นยินดี” หรือ Anhedonia ถือว่าเป็นอาการผิดปกติทางจิตเวช ส่งผลให้ผู้ป่วยเฉยชาต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมไปถึงมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง

สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์ หรือในบางครั้งก็เป็นผลจากโรคทางกายหรือพบในคนปกติทั่วไปได้เช่นเดียวกัน อาการของภาวะนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และเพศหญิงมีความเสี่ยงการเกิดภาวะนี้มากกว่าเพศชาย

ผู้ที่มีอาการของภาวะสิ้นยินดี นี้ จะไม่มีความรู้สึกร่วมกับสิ่งใดทั้งสิ้น ไม่ยินดียินร้ายหรือสุขทุกข์อะไรทั้งนั้น ทั้งที่เมื่อก่อนสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ โดยในทางการแพทย์กำหนดให้ภาวะนี้เป็นอาการทางจิตเวช ซึ่งเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood Disorder) ชนิดซึมเศร้า (Depression) 

โดยแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก คือ 

1. ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ที่ผู้ป่วยไม่ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

2. ภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีความสุขหรือไม่เพลิดเพลินต่อการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งในภาวะปกติสามารถสร้างความพึงพอใจให้ได้ เช่น การรับประทานอาหาร การอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น การทำกิจกรรม เป็นต้น

  • สาเหตุของภาวะสิ้นยินดี

สำหรับสาเหตุของภาวะนี้พบว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานหนักมากเกินไป สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ปลอดภัย การพบเจอกับประสบการณ์ร้ายแรงในชีวิตมาก่อนทำให้กระทบต่อจิตใจ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ ถูกทำร้ายร่างกาย ความเครียดที่สะสมอย่างยาวนาน รวมไปถึงการใช้สารเสพติด นอกจากนี้นักวิจัยคาดว่าอาจเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีผลต่อฮอร์โมน โดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีทางอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกดี

  • อาการของผู้ที่อาจมีภาวะสิ้นยินดี เป็นแบบไหน?

1. มีความสามารถในการแสดงอารมณ์ลดลง

2. ชอบอยู่ตัวคนเดียว ปลีกตัวจากสังคม

3. มีความสุขลดลงจากการทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมที่ชอบทำ

4. มีความคิดด้านลบต่อตนเองและผู้อื่น

5. ความต้องการทางเพศลดลง

6. รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรหรือไม่อยากออกไปไหน

7. เริ่มมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองง่ายขึ้น มีความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป รู้สึกไม่กลัวตาย

หากสังเกตแล้วพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวก็ไม่ควรชะลาใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้ทัน

  • การรักษาภาวะสิ้นยินดี

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะนี้ได้โดยตรง แต่ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติด้านร่างกายหรือสงสัยว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสุขภาพจิต แพทย์อาจส่งต่อไปยังจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการบำบัด ซึ่งมีทั้งการพูดคุยหรือการรับประทานยา โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะสิ้นยินดี ร่วมกับโรคซึมเศร้ามีจะอาการดีขึ้นพร้อมกับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเหล่านั้น แพทย์อาจรักษาโดยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส และการรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งพบว่าได้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า  

หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ภาวะสิ้นยินดี อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เพราะมีปัญหาด้านอารมณ์และด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาร่วมกับปัญหาด้านสุขภาพจิต

  • การป้องกันภาวะสิ้นยินดี

ปกติแล้วปัญหาด้านสุขภาพจิตยังเป็นปัญหาที่ป้องกันไม่ได้ และอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยรวมกัน แต่หากสังเกตเห็นว่าคนใกล้ชิดมีอาการต่าง ๆ คล้ายกับภาวะสิ้นยินดี หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม และรับความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน รวมถึงดูแลสุขภาพร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ

แม้ว่าในปัจจุบัน “ภาวะสิ้นยินดี” อาจจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะรักษาได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการพยายามสังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

อ้างอิงข้อมูล : พบแพทย์, Hello คุณหมอ และ CLEO