บริโภคอาหารที่มี"ไขมันทรานส์"มากไป เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
เบเกอรี่อร่อยๆ หน้าตาดีๆ หลากหลายชนิด ก่อนบริโภคต้องคิดสักนิด เพราะส่วนใหญ่ตรวจสอบไม่ได้ว่า มี"ไขมันทรานส์"เกินมาตรฐานหรือไม่
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้กระทรวงสาธารณสุข จะประกาศบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมสารไนโตรเจนลงไปในกระบวนการผลิตอย่างเป็นทางการ
แต่ปัจจุบันยังมีการใช้ ไขมันทรานส์ ที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวนำมาผ่านกระบวนการใส่ไฮโดรเจนให้แข็งเป็นไข ซึ่งส่วนใหญ่พบในอุตสาหกรรมอาหาร อาทิขนมอบ เบเกอรี่ พาย เค้ก โดนัท ครีมเทียม
ถ้าเป็นน้ำมันไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบไขมันทรานส์ในปริมาณเพียงเล็กน้อย
การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ โดยไม่อาจรู้ได้ว่า มีไขมันทรานส์มากน้อยเพียงใด จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
เพราะผู้บริโภคไม่อาจตรวจสอบได้ว่า อาหารจำพวกไหนมีไขมันทรานส์อยู่ในปริมาณที่เกินมาตรฐาน เนื่องจากอาหารหลายชนิดไม่มีฉลากระบุชัดเจน และผู้ผลิตก็บอกแค่ว่า มีส่วนผสมของเนย แต่ไม่บอกให้ชัดว่า เป็นเนยแท้หรือเนยเทียม หรือเนยขาว ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น
แม้จะมีกระบวนการผลิตเนยเทียมที่ไม่มีไขมันทรานส์ แต่เนยเทียมก็ยังมีไขมัน Omega-6 หากรับประทานมากไป จะทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
ส่วน เนยขาว หรือshortening เป็นไขมันพืชที่ผ่านกระบวนการ hydrogenate เพื่อเปลี่ยนสถานะจากของเหลว(น้ำมัน) เป็นกึ่งของแข็งมีจุดเกิดควัน(smoke point) สูงกว่าเนยและมาร์การีน และยังมีส่วนประกอบเป็นไขมันสูงกว่าเนยที่มีเพียงประมาณร้อยละ 80
เพราะเนยขาว ต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่จำเป็นต้องแช่เย็น เก็บได้นานกว่าเนยสด จึงเป็นที่นิยมใช้มากกว่า ทั้งๆ ที่มีไขมันทรานส์(trans fats)สูงเป็นอันตรายต่อร่างกาย
องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค)
และปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด
และมีงานวิจัยที่พบว่า ไขมันทรานส์มีผลเสียมากกว่าไขมันอิ่มตัวพวกน้ำมันปาล์ม เนื่องจากเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และลดคอเลสเตอรอลชนิดดี(HDL)
อ้างอิง : สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา และฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค