รู้จักภาวะ "Text Neck" เมื่อ "ก้มหน้า" เล่นมือถือจะมีน้ำหนักกดทับถึง 27 กก.

รู้จักภาวะ "Text Neck" เมื่อ "ก้มหน้า" เล่นมือถือจะมีน้ำหนักกดทับถึง 27 กก.

รู้หรือไม่? พฤติกรรม "ก้มหน้า" เล่นมือถือนานๆ นำไปสู่อาการ "Text Neck" ทำให้ปวดต้นคอ ปวดหัว ปวดหลัง เนื่องจากเกิดแรงกดทับที่ต้นคอได้ตั้งแต่ 12-27 กิโลกรัม ยิ่งก้มมากก็ยิ่งปวดคอมากตามองศาของการก้ม

ไม่เฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานที่ใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานในแต่ละวัน แต่สมัยนี้เด็กๆ วัยรุ่นวัยเรียนก็ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นหลายชั่วโมงต่อวันเช่นกัน ชี้ชัดด้วยข้อมูลของ “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)” หรือ #ETDA ที่สำรวจพบว่า ในปี 2565 กลุ่มคนไทย Gen Y มีการใช้เน็ตสูงถึง 8 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน ตามมาด้วย Gen Z ที่ใช้เน็ตถึง 8 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อร่างกายและสายตาได้แบบไม่รู้ตัว

โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เน็ตผ่านมือถือที่มีพฤติกรรม “ก้มหน้า” มองหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบต่อต้นคอและหลังมากขึ้นไปอีก เช่น ปวดต้นคอ, ปวดหัว, ปวดหลัง ซึ่งอาการเหล่านี้มีนิยามทางการแพทย์สมัยใหม่เรียกว่า  “Text Neck” (Text Neck Syndrome) หรือ อาการปวดคอและหลังที่เนื่องมาจากการก้มหน้าใช้งานสมาร์ทโฟน

มีข้อมูลจากงานวิจัยของ ดร.เคนเน็ต ฮานส์ราจ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังแห่งนิวยอร์ก ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ “Surgical Technology International” ฉบับที่ 25 ระบุไว้ว่า อาการ Text Neck Syndrome อาจทำให้คุณปวดคอและหลังได้ โดยผลการวิจัยนี้ค้นพบว่า การก้มศีรษะเพื่อดูมือถือในมือนั้น สามารถสร้างแรงกดดันต่อคอของคุณได้มากถึง 60 ปอนด์ หรือประมาณ 27.2 กิโลกรัม โดยยิ่งก้มหน้าต่ำมาก ก็จะยิ่งมีแรงกดทับมากตามไปด้วย 

ทั้งนี้ เขาได้แสดงผลการศึกษาเปรียบเทียบผู้ใช้งานมือถือที่มีพฤติกรรม “ก้มหน้า” มองจอในแต่ละองศา ซึ่งทุกๆ 15 องศาที่คุณเราก้มลงและโน้มศีรษะไปข้างหน้า แรงกดบนกระดูกสันหลังของคุณจะเพิ่มเป็นสองเท่า ดังนี้

รู้จักภาวะ \"Text Neck\" เมื่อ \"ก้มหน้า\" เล่นมือถือจะมีน้ำหนักกดทับถึง 27 กก.

  • ก้มหน้า 0 องศา (ไม่ก้มหน้า) จะไม่มีแรงกดทับ โดยร่างกายแบกรับแค่น้ำหนักศีรษะเพียง 5 กก.
  • ก้มหน้า 15 องศา จะมีแรงกดทับประมาณ 12.2 กก.ฃ
  • ก้มหน้า 30 องศา จะมีแรงกดทับประมาณ 18.1 กก.
  • ก้มหน้า 45 องศา จะมีแรงกดทับประมาณ 22.2 กก.
  • ก้มหน้า 60 องศา จะมีแรงกดทับประมาณ 27.2 กก.

โดยแรงกดที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดนั้นทำให้กระดูกสันหลังของคุณตึง และค่อยๆ เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมได้ อีกทั้งยังทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกยืดออกเป็นเวลานานนั้น มักจะเกิดการอักเสบจนมีอาการเจ็บตามมา

นอกจากนี้หากยังมีพฤติกรรมก้มหน้ามองจอมือถือแบบนี้สะสมนานวันเข้า ก็จะส่งผลเสียระยะยาวคือ ทำให้กล้ามเนื้อยึดตึง หมอนรองกระดูกเคลื่อน เกิดอาการเส้นประสาทถูกกดทับ รวมถึงอาจทำให้กระดูกคอของคุณโก่งโค้งงอผิดรูปได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลจาก ดร.มิเชลล์ คอลลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายกายภาพบำบัดในโรดไอแลนด์ ระบุไว้ด้วยว่า พฤติกรรมใช้มือถือจนเกิดอาการ Text Neck นั้น พบในผู้ป่วยที่อายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ

อีกทั้งการก้มหน้าและงอตัวเพื่อดูจอมือถือนนานๆ ยังสร้างปัญหาต่อระบบการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ปอดทำงานลดลง โดยมีข้อมูลยืนยันว่าการก้มหน้าและงอตัว สามารถลดความจุของปอดลงได้มากถึง 30% 

เมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ก็อาจนำไปสู่ภาวะการขาดออกซิเจนในเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดได้ อีกทั้งนยังส่งผลกระทบต่อปัญหาทางเดินอาหาร ทำให้การย่อยไม่ดีเนื่องจากแรงกดทับที่อวัยวะภายในร่างกาย

รู้จักภาวะ \"Text Neck\" เมื่อ \"ก้มหน้า\" เล่นมือถือจะมีน้ำหนักกดทับถึง 27 กก.

อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่าการก้มหน้าไถจอมือถือติดต่อกันนานๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในหลากหลายมิติ ถึงอย่างนั้นคนยุคนี้ก็คงไม่สามารถหยุดก้มหน้าเล่นมือถือได้อย่างเด็ดขาด เพราะยังคงต้องใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การปรับพฤติกรรมขณะใช้งานสมาร์ทโฟนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และน่าจะเป็นทางออกเดียวของปัญหานี้ที่พอจะช่วยให้สุขภาพร่างกายไม่แย่ลง ซึ่ง ดร.มิเชลล์ คอลลี่ มีคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้

1. ตระหนักถึงร่างกายของคุณเสมอ : หากเผลอก้มหน้าและหลังงอเมื่อไรก็ให้รีบปรับให้หลังตรง

2. ปรับศีรษะและคอให้ตรงกับกระดูกสันหลัง : โดยให้เท้าของคุณราบไปกับพื้น ยกหน้าอกขึ้น ขยับไหล่ไปข้างหลัง แล้วปรับให้หูของคุณอยู่ตรงกับหัวไหล่ เพื่อไม่ให้ศีรษะของคุณโน้มไปข้างหน้ามากเกินไป 

3. ใช้แท่นวางมือถือแทนใช้มือในการถือ : ควรหาอุปกรณ์รองรับมือถือหรือป้องกันข้อมือจากน้ำหนักของสมาร์ทโฟน ทดแทนการใช้มือของคุณ เพราะหากใช้มือในการถือสมาร์ทโฟนนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อแขน บ่า ไหล่ และคอตึง เกร็ง จนเกิดอาการปวดคอและปวดหัวตามมา

4. ซื้อหูฟัง : ใช้หูฟังเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในการพูดคุยหรือประชุมเป็นเวลานาน ทดแทนการถือและยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาแนบหู เพื่อช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อแขน บ่า ไหล่ 

ที่สำคัญที่สุด คือ การหยุดพักจากหน้าจอทุกๆ 20 นาที ในระหว่างที่ใช้งานสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์แบบพกพา จากนั้นให้ยืนขึ้น หมุนไหล่และคอ หรือเดินเป็นระยะทางสั้นๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

------------------------------------------

อ้างอิง : CNN, clevelandclinic.orgtext-neck