ใช้สมองคิดงานเยอะ ระวัง! “ภาวะสมองล้า” เสี่ยงสมองเสื่อมก่อนวัย

ใช้สมองคิดงานเยอะ ระวัง! “ภาวะสมองล้า” เสี่ยงสมองเสื่อมก่อนวัย

ต้องยอมรับว่าการทำงานในหลายอาชีพจำเป็นต้องใช้ความคิดอย่างหนัก ทำให้เกิด “ภาวะสมองล้า” ซึ่งเสี่ยงต่อ “โรคสมองเสื่อม” ก่อนวัยอันควรและโรคอื่นๆ ในอนาคต

มนุษย์ออฟฟิศ ในปัจจุบันนี้มีหลายอาชีพที่ต้องทำงานที่ใช้ความคิดอย่างหนัก เพื่อให้ได้ผลงานที่ออกมาเป็นที่หน้าพอใจทั้งต่อหัวหน้างานและต่อองค์กร ซึ่งในแต่ละวันคนกลุ่มนี้จะใช้งานสมองติดต่อกันนานหลายชั่วโมง และบางคนอาจไม่ยอมพักระหว่างวันเลยก็มี รู้หรือไม่? พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะทำให้ได้งานออกมาน่าพึงพอใจ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้ นั่นคือ ความเสี่ยงต่อ “ภาวะสมองล้า” เนื่องจากใช้สมองทำงานมากเกินความเหมาะสม

โดย อาการที่บ่งชี้ถึงภาวะสมองล้า ได้แก่ อาการปวดหัว เหนื่อย เมื่อยล้า แม้ว่าทั้งวันแทบจะไม่ได้ลุกออกจากโต๊ะทำงานเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะสมองที่ทำงานอย่างหนักหลายชั่วโมงติดต่อกัน จนทำให้มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น

อีกทั้งหากมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ โดยไม่แก้ไขพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็น “โรคสมองเสื่อม” ก่อนวัยอันควร โดยจะเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่สามารถบริหารจัดการเวลาการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ทำความเข้าใจ “ภาวะสมองล้า”

สำหรับผู้ที่ต้องใช้ความคิดหรือทำงานโดยใช้หลายทักษะพร้อมกัน ถ้าไม่สามารถปรับตัวกับงานได้ จะทำให้ประสิทธิภาพและคุณภาพงานลดลง เกิดปัญหาสุขภาพเช่น ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ภาวะสมองล้า (Brian Fog) นอกจากนี้ยังมีผลต่อระดับไอคิวที่ลดลงในบางคนด้วย

“ภาวะสมองล้า” เกิดจากสมองทำงานหนักมากแบบแทบไม่ได้พัก อาการที่พบบ่อยคือ รู้สึกหัวตื้อ มึนงง ปวดหัว คิดช้า จำเรื่องราวหรือสิ่งที่เพิ่งทำไม่ได้ เหนื่อยล้าทางจิตใจง่าย อารมณ์แปรปรวน หากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจมีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้

นอกจากนี้ยังเกิดจากเกิดจากความเครียดสะสมเรื้อรังจากการทำงาน จนคุกคามชีวิตส่วนตัว ส่งผลต่อสภาพจิตใจ จนมีผลต่อกระทบต่อการทำงานและอาจเกิดการตัดสินใจลาออกจากงาน เนื่องจากร่างกายรับภาวะของอาการเหล่านี้ไม่ไหวอีกต่อไป

สำหรับ สาเหตุหลักของการเกิดภาวะสมองล้านั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่

- พักผ่อนน้อย จนมีอาการเหนื่อย อ่อนล้า

- ไม่มีโภชนาการที่ดี

- มีการสะสมของสารพิษโลหะหนัก สารพิษจากยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมากับอาหาร

- ความเครียดสะสม

- สารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นจนเกิดการอักเสบในเซลล์ร่างกาย

- ขาดการออกกำลังกาย

- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย

- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

- มีอาการทางจิตประสาทหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ร่วมด้วย

จากพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของร่างกายถดถอยลง ต่อมหมวกไตจึงทำงานหนักขึ้น สารสื่อประสาทในสมองเริ่มแปรปรวน  การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองเริ่มลดลง และมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้สูงกว่าคนทั่วไป

  • ปรับตัวสักนิดเพื่อสุขภาพสมอง

1. จัดลำดับงานที่สำคัญจากมากไปน้อย

2. หยุดเล่นโทรศัพท์หรือแท็บเลตสักพัก หรือหยุดเสพข่าวที่เพิ่มความเครียดในช่วงที่กำลังเครียดจากงาน

3. หาเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อปรับอารมณ์และผ่อนคลาย

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง

5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะมื้อเช้า

6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ ในช่วงที่มีความเครียด เพราะยิ่งทำให้สมองล้า

8. นอนกลางวันอย่างน้อย 15 นาที

9. ทานดาร์กช็อกโกเเลต เพื่อช่วยการหมุนเวียนของเลือด

หากทำตามคำแนะนำข้างต้นได้(แม้ว่าจะทำไม่ครบทุกข้อ) แต่อย่างน้อย การพักผ่อนและการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้เพียงพอ ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะหากสมองได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอก็จะสามารถทำงานต่อไปได้โดยติดขัดน้อยที่สุด 

นอกจากนี้ การจัดลำดับความสำคัญก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะถ้าหากเราจัดลำดับการทำงานให้ดี ก็จะช่วยให้สามารถทำงานได้ราบรื่นขึ้น และเสร็จงานตามกำหนด เพราะมีแนวทางไว้แล้วว่าต้องทำงานไหนตอนไหนหรือควรทำงานไหนให้เสร็จก่อน เพื่อไม่ให้สมองต้องทำงานหนักเกินไป

หากไม่จัดลำดับความสำคัญเลย เมื่อถึงเวลาทำงานหรือต้องส่งงานอาจจะเกิดความสับสนว่างานไหนควรทำตอนไหน และอาจจะทำให้ลืมทำงานบางชิ้นไป ดังนั้น เมื่อมีลำดับที่แน่นอนแล้วสมองก็จะเรียงความคิดได้อย่างเป็นลำดับ แล้วเราก็จะสามารถทำงานต่อไปได้โดยที่สมองไม่ต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าจนเกินไปนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลสมิติเวช และ MEGA we care