Health is Wealth “ดุษฎี ตันเจริญ” บาลานซ์ชีวิต การทำงาน
Work life balance "กรุงเทพธุรกิจ" เปิดมุมมอง “ดุษฎี ตันเจริญ” กรรมการผู้จัดการ “รักษ” (RAKxa) กับจุดเริ่มต้นของการหันมาดูแลสุขภาพ จนกลายเป็น Passion สู่การบริหารธุรกิจศูนย์บูรณาการด้านสุขภาพครบวงจร และมุมมองการบริหารองค์กรที่เน้นความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน
Health is Wealth การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ “ดุษฎี ตันเจริญ” กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงมุมมองการใช้ชีวิตตลอดหลายปีที่ผ่านมา การที่เป็นคนทุ่มเทกับงานและมีความสุขกับการทำงานจนบางครั้งเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ทำให้ต้องพบแพทย์หลายครั้งและสุดท้ายก็ พบว่า หากจัดการความเครียดไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน
“รักษ” (RAKxa) ศูนย์บูรณาการด้านสุขภาพครบวงจร ที่เรียกได้ว่าดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งเกิดจาก Passion ของ “ดุษฎี ตันเจริญ” ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ “รักษ” (RAKxa) ที่มองว่าสุขภาพนั้นสำคัญ และ Passion นี้ไม่ได้เพียงแค่อยู่ที่ผู้บริหารเท่านั้น แต่ยังถูกส่งต่อไปยังพนักงาน เพื่อให้รักษ ไม่ใช่แค่ Wellness ที่ดูแลลูกค้า แต่ต้องดูแลพนักงานให้สุขภาพดี เท่าเทียมอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ต้องฟันฝ่าค่อนข้างมาก “ดุษฎี” เล่าย้อนกลับไปเมื่อครั้งทำงานด้านบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงนั้น งานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยความที่ไม่มีลูกเวลาทั้งหมดจึงทุ่มเทให้กับงาน มีความสุขกับการทำงาน พร้อมเสมอที่จะต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ ผลลัพธ์ที่การทำงานออกมาในเชิงบวก
แต่เมื่องานกับวิถีชีวิตไปด้วยกัน ด้านสุขภาพ ก่อให้เกิดความเครียดและยังไม่รู้จักวิธีบริหารจัดการความเครียด ด้วยความคิดที่ว่าสู้กับมันได้ ไม่ท้อถอย และยังคงทำอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายพบว่า ถึงแม้จะเป็นความสุขในการทำงาน แต่บริหารจัดการความเครียดไม่ได้ ก็ส่งผลชัดเจนต่อสุขภาพ
“เรายังมุ่งแต่งาน ไม่ดูแลสุขภาพ ไม่ดูแลอาหาร ชีวิตทั้งหมดทั้งมวลเป็นการทำงานอย่างเดียวยกเว้นตอนนอน เราไม่มีลูก ไม่ต้องสละเวลาไปดูแลครอบครัว ดังนั้น ตั้งแต่ตื่นมาคิดแล้วว่ามีอะไร มีโปรเจกต์อะไรบ้าง สามารถรับมือโปรเจกต์อื่นเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่ เรามองว่าความสามารถของเราจะสามารถก้าวจากจุดที่ยืนอยู่ได้ ทำให้ตั้งแต่ตื่นไปทำงาน กลับมาค้นหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา พอเรามุ่งแต่เรื่องงาน ข้อดีคือ เรามีความสุขกับการทำงาน ผลงานได้ดี แต่ข้อเสียคือ แลกมาด้วยสุขภาพทั้งหมดของร่างกาย”
สุขภาพดีต้องใส่ใจดูแล
ดุษฎี เล่าต่อไปว่า พอสุขภาพไม่ดี เราเป็นผู้บริหาร หลายครั้งที่เราต้องควบคุมอารมณ์ให้มากขึ้น อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพ พอสุขภาพไม่ดี ต้องรักษาตัวทำให้เรารู้ว่าการดูแลสุขภาพหลังป่วยมันลำบากกว่าการที่ดูแลสุขภาพตั้งแต่เบื้องต้น หลังจากนั้นทำให้เริ่มศึกษาด้านการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง ทั้งด้านอาหาร และแพทย์ทางเลือก บำบัดโดยธรรมชาติ เพื่อให้สุขภาพดีและตอนนี้ถือว่าพอใจในสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างมาก
“จากการศึกษาเพิ่มเติมทำให้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ตรงนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับตัวเองในการใช้ ประสบการณ์มาสร้างสรรศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอย่าง “รักษ” ขึ้นมา เพราะ “Health is Wealth การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ทั้งหมดเกิดจาก Passion เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เกิดความสำเร็จ หากทำงานโดยไม่มี Passion ก็อาจจะไม่มีความสุขจนทุกวันนี้ คีย์หลักในการทำงาน คือ ทำงานด้วย Passion”
หาประสบการณ์และลงมือทำ
Wellness คือ การดูแลสุขภาพ แบบองค์รวม การดูแลสุขภาพไม่ใช่การไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ต้องดูทั้งภาพกาย ใจ และแนวคิด อาหารเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้น รักษ จึงให้ความสำคัญด้านอาหาร ทั้งเครื่องปรุง วัตถุดิบ คัดสรรมาอย่างมั่นใจว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของจริง ดังนั้น การดูแลแบบองค์รวม มีการดูแลด้านจิตใจเข้ามาด้วย การทำสมาธิ เพื่อให้ตัวเองกลับมาอยู่กับตัวเอง ดังนั้น อาหาร จิตใจ ทรีตเมนต์ เพื่อรักษา ทั้งหมด กลับมาเพื่อการดูแลสุขภาพจริงๆ และพอเราเรียนรู้ค่อนข้างเยอะ ทำให้เรามองว่าสุขภาพสำคัญที่สุด
ดุษฎี เล่าว่า ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ต้องไปหาประสบการณ์ เนื่องจากความเข้าใจ Wellness ค่อนข้างน้อย จึงต้องบินไปต่างประเทศและศึกษา Wellness แทบจะทุกที่ เพื่อศึกษาว่ามีความแตกต่างอย่างไร พอเราลองด้วยตัวเอง เราจะรับรู้ว่าเป็นอย่างไร อย่างที่บอกว่า ไป Wellness แต่ละที่เราเห็นจุดเด่นแบบไหน และจับอะไรมาผสมผสานให้เกิดรักษ ขณะเดียวกัน แพทย์ทางเลือกก็ต้องลองเองทั้งหมด และดึงจุดแข็งแต่ละศาสตร์มาที่รักษ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราคัดสรรมาดีกับลูกค้าที่สุด
บริหารอย่างเท่าเทียม ยั่งยืน
ทั้งนี้ จากธุรกิจที่มาจาก Passion การส่งต่อ Passion สู่พนักงาน รวมถึงส่งเสริมความเท่าเทียม จึงเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงานในองค์กร ภายใต้มุมมองที่ว่า หากทุกคนทำงานด้วย Passion จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข กุญแจสำคัญ คือ การดูแลสุขภาพของตนเอง และ ผู้อื่น คือ ต้องใส่ใจ ดูแล หวังดีต่อสุขภาพของทุกคนอย่างแท้จริง
ดุษฎี เล่าต่อไปว่า การดูแลสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่เพียงลูกค้าเท่านั้น แต่พนักงานเกือบ 200 คน ของรักษ ก็ต้องสุขภาพดีเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร เพราะ 70% ของสุขภาพที่ดี คือ อาหารที่ดี ดังนั้น อาหารของพนักงานจึงใช้คอนเซปต์เดียวกับลูกค้า โดยใส่ใจทั้งรายละเอียดเครื่องปรุง วัตถุดิบต้องมาจากสวนผักที่ปลูกเอง มั่นใจในเรื่องของการปลอดสารเคมี ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
“เมื่อใดที่ตัวเราเอง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการพนักงานทุกคน มีสุขภาพที่ดี มีความสุขและใช้ชีวิตแบบ Wellness จะสามารถส่งต่อ Wellness ให้กับลูกค้าได้ด้วยความจริงใจและรู้จริงทั้งหมดเกิดจาก Passion การบริหารองค์กรของที่นี่โดยรวม พนักงานทุกคนขับเคลื่อนการทำงานด้วย Passion เพราะคีย์หลักของการดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น คือ ต้องใส่ใจและดูแล หวังดีต่อสุขภาพของทุกคนอย่างแท้จริง หากทำงานโดยไม่มี Passion ก็อาจจะไม่มีความสุข”
ขณะเดียวกัน “รักษ” ให้ความสำคัญของประสบการณ์และความรู้ของพนักงานทุกคน เปิดโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศไหน สามารถมาทำงานที่นี่ได้ มองว่าในแง่ของ Wellness เมื่อคนเราต้องให้บริการและดูแลสุขภาพ หากมาจาก Passion ของแต่ละบุคคล และเปิดโอกาสให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดในแง่ของการทำงาน จะทำให้เขามีความสุขในการทำงาน และสามารถส่งต่อความสุข ความเป็น Wellness ไปสู่ลูกค้าได้ และจะได้เรื่องของประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ความเท่าเทียม และความยั่งยืน