"วัยทำงาน" ควร "ดื่มน้ำ" เยอะแค่ไหน? ดื่มมากไประวังภาวะ "สมองบวมน้ำ"

"วัยทำงาน" ควร "ดื่มน้ำ" เยอะแค่ไหน? ดื่มมากไประวังภาวะ "สมองบวมน้ำ"

ชาวออฟฟิศรู้ยัง? "ดื่มนำ้" เยอะไปก็ไม่ดี! เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะ "Hyponatremia" ทำให้เซลล์สมองบวมน้ำ สับสน ปวดหัว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้าลง หากรุนแรงอาจเสี่ยงต่ออาการชักและเสียชีวิตได้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็น "วัยทำงาน" ยุคนี้พกขวดน้ำไซส์บิ๊ก 1.5 - 2 ลิตร เพื่อบังคับให้ตนเอง "ดื่มน้ำ" ระหว่างวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และไม่เกิดภาวะ "ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)" แต่บางคนก็ขยันดื่มน้ำไม่หยุดแบบสุดโต่ง อาจด้วยเหตุผลที่ว่า

“ดื่มน้ำเยอะๆ แล้วจะได้ลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อู้งานได้ครั้งละ 10 นาที” ซึ่งเป็นมุกตลกขำๆ ของชาวออฟฟิศที่กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลอยู่ช่วงหนึ่ง หรือจะด้วยความเชื่อที่ว่ามันช่วยดีท็อกซ์ร่างกายก็ตาม

แต่ไม่ว่าจะทางไหน.. การดื่มน้ำเยอะเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น เพราะหากร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่เกินพอดี อาจทำให้เกิดภาวะ “Hyponatremia” หรือภาวะเซลล์ในร่างกายบวมน้ำ โซเดียมในเลือดเสียสมดุล ส่งผลให้ป่วยแบบคาดไม่ถึง! 

\"วัยทำงาน\" ควร \"ดื่มน้ำ\" เยอะแค่ไหน? ดื่มมากไประวังภาวะ \"สมองบวมน้ำ\"

มีข้อมูลจาก WebMed ที่อธิบายเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวในบทความวิชาการไว้ว่า เซลล์ทั้งหมดในร่างกายของคนเราต้องการ “น้ำ” ในปริมาณมากเพื่อให้ระบบต่างๆ ทำงานได้ดี โดยร่างกายของผู้หญิงและผู้ชายต้องการน้ำในแต่ละวันแตกต่างกันเล็กน้อย คือ

  • ผู้หญิงวัยทำงาน ควรดื่มน้ำประมาณ 2.7 ลิตรต่อวัน
  • ผู้ชายวัยทำงาน ควรดื่มน้ำประมาณ 3.7 ลิตรต่อวัน 

*หมายเหตุ : ในกรณีที่เป็นนักกีฬา ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ร่างกายจะต้องการน้ำที่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยนี้

จริงๆ แล้ว มันไม่มีสูตรตายตัวในการกำหนดปริมาณน้ำที่คุณควรดื่มต่อวัน คำแนะนำยอดนิยมของนักโภชนาการที่เราเคยได้ยินกันว่า “ควรดื่มน้ำวันละ 7-8 แก้วต่อวัน” ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะดื่มน้ำให้เพียงพอโดยที่จะไม่ก่อให้เกิด “ภาวะขาดนำ้” และคุณสามารถปรับปริมาณการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสภาพแวดล้อม ระบบการออกกำลังกาย และสุขภาพโดยรวม

แต่ถ้าหากหนุ่มสาววัยทำงาน "ดื่มน้ำมากเกินพอดี" อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างไม่คาดคิด โดยขั้นแรกร่างกายจะเกิดภาวะ Over-hydration ส่งผลให้เกิดความเป็นพิษ (water poisoning), มึนเมา (intoxication) และการทำงานของสมองหยุดชะงัก สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อมีน้ำมากเกินไปในเซลล์ของร่างกาย รวมถึงในเซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์สมองบวมน้ำจนเกิดแรงดันสูงในสมอง ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวจะมีอาการ สับสน ง่วงนอน เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้าลง หายใจลำบาก เป็นต้น

\"วัยทำงาน\" ควร \"ดื่มน้ำ\" เยอะแค่ไหน? ดื่มมากไประวังภาวะ \"สมองบวมน้ำ\"

นอกจากนี้ หากภาวะ Over-hydration รุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะ Hyponatremia ซึ่งเป็นผลกระทบจากสารโซเดียมในเลือดเสียสมดุล เมื่อน้ำเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ไตของคุณจะไม่สามารถกำจัดน้ำส่วนเกินได้ โซเดียมในเลือดจะเจือจางลง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เซลล์บวมน้ำ เสี่ยงต่ออาการชัก อาการโคม่า หรือแม้แต่เสียชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะส่วนใหญ่ภาวะอันตรายข้างต้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก ข้อมูลจาก mayoclinic.org ยืนยันว่า การดื่มน้ำมากเกินไปมักไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนผู้ที่เป็นนักกีฬาอาจดื่มน้ำมากเกินไปในบางครั้งเพื่อป้องกันการขาดน้ำ

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าวันนี้เราดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือมากเกินไป?

หนึ่งในวิธีที่ชัดเจนที่สุดคือ การสังเกตสีของ “ปัสสาวะ” โดยปกติจะมีตั้งแต่ “สีเหลืองซีด” ไปจนถึง “สีชา” โดยสีของปัสสาวะเกิดจากจากเม็ดสีของเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมตัวและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งปะปนมากับของเสียอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับน้ำในร่างกายของคุณได้

  • หากปัสสาวะมีสีใส และเข้าห้องน้ำบ่อยๆ มากกว่า 8-10 ครั้งขึ้นไปต่อวัน แสดงว่าคุณดื่มน้ำมากเกินไปในช่วงเวลาสั้นๆ
  • หากปัสสาวะสีเหลืองอ่อน เข้าห้องน้ำไม่เกิน 6-8 ครั้งต่อวัน แสดงว่าร่างกายปกติ ระดับน้ำเหมาะสม
  • หากปัสสาวะสีเข้ม เข้าห้องน้ำไม่บ่อย ปากแห้ง อาจหมายถึงร่างกายขาดน้ำ และต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นระหว่างวัน

----------------------------------------

อ้างอิง : Webmed, Mayoclinic.org