เช็กวิธีดูแล "กลุ่มเสี่ยง" รับมืออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
กรมการแพทย์เตือนเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารร้อน ดื่มน้ำอุ่น และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้มีอากาศเปลี่ยนแปลงในบางพื้นที่ อากาศเย็นลงแต่ยังมีฝน ซึ่งครั้งอาจเกิดขึ้นแบบฉับพลัน หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ง่าย อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมีความเข้าใจและรู้จักการดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆ ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
4 กลุ่มโรคต้องรู้ "หน้าฝน" ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัย ปลอดโรค
"สิวเห่อ" 1 ใน 6 โรคผิวหนังยอดฮิต ที่มากับหน้าฝน
ฝนตกไม่หยุด! ต้องมี 5 แอปฯ "พยากรณ์อากาศ" แม่นๆ ติดมือถือไว้อุ่นใจกว่า
"น้ำกัดเท้า" ซ้ำเติมผู้ประสบภัย "น้ำท่วม 2565" เช็กวิธีป้องกันและรักษาโรค
- วิธีดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
ข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลในครอบครัวช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
- กลุ่มเด็กเล็ก ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- ผู้สูงอายุ ควรรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความหนาเพียงพอ ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น
- เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ
- รับประทานอาหารร้อนๆ และหลากหลายให้ครบ 5 หมู่
- ดื่มน้ำอุ่นวันละ 6 - 8 แก้ว
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ป้องกันปัญหาผิวหนังในกลุ่มผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังในผู้สูงอายุ เช่น ผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบและคัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันทำงานลดลง ทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้
วิธีป้องกัน คือไม่ควรอาบน้ำบ่อยและอุ่นจัดเกินไป ทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ ระวังโรคระบบไหลเวียนโลหิตหรือโรคประจำตัวกำเริบ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่น ไม่รับประทานอาหารที่มีรสจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานยาโรคประจำตัวให้ครบตามแพทย์สั่ง
สำหรับ ผู้ที่มีปัญหาปวดข้อเรื้อรังอุณหภูมิที่ลดลงอาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เช่น โรคเก๊าต์ ควรทำให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ ถ้ามีอาการไข้หวัดควรสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค หมั่นล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนแออัด