“ทำหมัน” ผู้ชาย VS ผู้หญิง ต่างกันอย่างไร? ส่องความเชื่อผิดๆ ที่ต้องคิดใหม่
สังคมไทยมักมีความเชื่อว่าผู้ชายที่ “ทำหมัน” แล้ว จะหมดสมรรถภาพทางเพศ หรือผู้หญิงที่ทำหมันก็จะอ้วนขึ้นผิดหูผิดตา ซึ่งชุดความคิดเหล่านี้ ไม่เป็นความจริง! ชวนเช็กความจริงเกี่ยวกับการทำหมันทั้ง ชาย และหญิง มีกี่วิธี? และต่างกันอย่างไร?
เกิดประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ กับหัวข้อที่ว่า ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง หาก “ทำหมัน” แล้ว เพศใดจะลำบากกว่ากัน ทั้งในเรื่องการพักฟื้น และค่าใช้จ่าย นำมาซึ่งการแห่แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการ “ทำหมัน” ในมิติต่างๆ อย่างน่าสนใจ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลายข้อสงสัย และเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิด “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงได้รวบรวม และสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการทำหมันทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง มาให้แล้ว ดังนี้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า “การทำหมัน” หรือ Sterilization คือ หนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีที่สุด เนื่องจากเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร ทำได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง มีโอกาสกลับมาตั้งครรภ์เพียง 0.15% เท่านั้น ซึ่งการทำหมันของทั้งสองเพศย่อมมีความแตกต่างกันตามสรีระของร่างกาย
- รู้จักวิธี “ทำหมันสำหรับผู้ชาย” มี 2 แบบ
- วิธีที่ 1 การทำหมันชายแบบดั้งเดิม ฉีดยาชาบริเวณหนังอัณฑะส่วนที่บางที่สุด เปิดแผลเพื่อผูก และตัดท่ออสุจิทั้งสองข้าง ตรวจดูว่ามีเลือดออกหรือไม่ จากนั้นจึงเย็บแผล
- วิธีที่ 2 การทำหมันแบบเจาะ ใช้เครื่องมือเจาะบริเวณผิวหนังเพื่อหาท่อทางเดินอสุจิ จากนั้นทำการผูก และตัดท่อทางเดินเชื้ออสุจิ วิธีนี้แผลจะมีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องเย็บ
โดยการทำหมันทั้ง 2 แบบ เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวด บวม บริเวณแผลหลังผ่าตัด แต่จะหายเองภายใน 7 วัน ขณะเดียวกันก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางจิตใจว่าอาจหมดสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งหากอาการดังกล่าวยังไม่หายไปก็จำเป็นต้องพบแพทย์ และต้องกลับไปตัดไหมเมื่อการทำหมันครบ 7 วัน
ในส่วนของราคาค่าทำหมันชายนั้น โรงพยาบาลหรือคลินิกแต่ละแห่งก็จะคิดราคาแตกต่างกันไป และในบางครั้งจะมีบริการ “ทำหมันฟรี” ให้บริการด้วย ซึ่งต้องคอยติดตามเงื่อนไขของสถานบริการต่างๆ ว่าจะมีบริการฟรีช่วงเวลาใดบ้าง ทั้งนี้ราคาการทำหมันชายโดยทั่วไปจะสูงสุดอยู่ที่ 5,000 บาท
- ความเข้าใจผิดของการทำหมันชาย
- เป็นการตัดลูกอัณฑะออก
- สมรรถภาพทางเพศลดลง หรือไม่มีเลย
- มีปัญหาเรื่องฮอร์โมน
- ข้อปฏิบัติหลังการทำหมันชาย
- พักผ่อนอย่างน้อย 1-2 วัน สามารถทำงานได้แต่ยังออกกำลังหนักๆ ไม่ได้
- ช่วง 7 วันแรก ต้องระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หากเปียกต้องรีบเช็ดให้แห้ง
- งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 10 วัน เพราะอาจทำให้ไหมที่ผูกปลายท่ออสุจิหลุด
- รู้จักวิธี “ทำหมันสำหรับผู้หญิง” มี 2 แบบ
- วิธีที่ 1 ทำหมันแห้ง คือ การทำหมันหลังคลอด ทำในช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด แต่ไม่ควรเกิน 7 วันหลังคลอด โดยการผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 ซม. เพื่อหาท่อนำไข่ จากนั้นผูกท่อนำไข่และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง
- วิธีที่ 2 ทำหมันเปียก คือ การทำหมันเวลาใดก็ได้ ทำโดยการผ่าตัดทางหน้าท้องเหนือกระดูกหัวหน่าวเล็กน้อย และใช้วิธีผูก และตัดท่อนำไข่ และจำเป็นต้องใช้ยาสลบ มักไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมดลูกอยู่ในอุ้งเชิงกราน จึงทำให้หาท่อนำไข่ได้ยากกว่าหลังคลอดบุตร และผ่าตัดได้ยากกว่า
การทำหมันทั้ง 2 แบบ จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1-3 วัน (สำหรับผู้ที่ทำหมันเปียกต้องพักฟื้นหลังคลอดเพิ่ม) มีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 3,000 – 15,000 บาท แตกต่างกันไปตามโรงพยาบาล และคลินิกที่เข้ารับบริการ ด้านผลข้างเคียง หลังการใช้ยาสลบเพื่อผ่าตัด อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ หรือเหนื่อย ประมาณ 2 วัน หลังจากการผ่าท้องอาจรู้สึกเจ็บแผลที่ท้อง และอวัยวะข้างเคียงภายในอาจได้รับบาดเจ็บร่วม เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ อาจใช้เวลาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ รวมถึงการมีอาการปวดท้องน้อย หากครบกำหนดแล้วยังมีอาการอยู่จำเป็นต้องพบแพทย์
- ความเข้าใจผิดของการทำหมันหญิง
- อ้วนขึ้น
- มีปัญหาด้านฮอร์โมนทำให้อารมณ์แปรปรวน ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีปัญหาเรื่องผิวพรรณ
- ข้อปฏิบัติหลังการทำหมันหญิง
- สัปดาห์แรกหลังทำหมันยังไม่ควรให้แผลโดนน้ำ และไม่ควรอาบน้ำร้อน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ หรือกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ เช่น ยกของหนัก
- งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ หรือตามแพทย์แนะนำ
- สามารถทานยาแก้ปวดได้ตามอาการ แต่หากมีอาการเยอะผิดปกติควรไปพบแพทย์
แม้ว่าการทำหมันตามวิธีข้างต้น จะยังสามารถแก้ไขได้ในภายหลังหากต้องการมีบุตร (ผ่าตัดแล้วเย็บท่อนำไข่หรือท่อนำเชื้ออสุจิให้ต่อติดกันเหมือนเดิม) แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องยาก และในบางกรณีก็ไม่สามารถแก้หมันได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการทำหมันจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน วางแผนครอบครัว และปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช และ Paremts One
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์