ออกกำลังกาย กินคลีน ไม่สูบบุหรี่..แล้วทำไมเป็น "มะเร็งปอด"
"มะเร็งปอด" ถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย ล่าสุดกรณีของหมอหนุ่ม วัย 28 ปี ได้โพสต์เรื่องราวการต่อสู้กับโรคมะเร็งปอด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ร่างกายแข็งแรงปกติดีทุกอย่าง และไม่มีสัญญาณเตือน หรือความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น
“มะเร็งปอด” เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
"มะเร็งปอด" มีกี่ชนิด ทำไมเป็นง่าย
มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาดเซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เคสหมอหนุ่มเจอมะเร็งปอดระยะลุกลาม เพราะฝุ่นพิษ pm 2.5?
แห่ให้กำลังใจหมอวัย 28 ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ร่างกายแข็งแรงปกติ
หมอเผยอาการมะเร็งปอดล่าสุด ปวดหัว อ่อนเพลีย ผมร่วง โพสต์ขอบคุณทุกกำลังใจ
PM 2.5 ระลอกแรกมาแล้ว! สาเหตุอุบัติการณ์ "มะเร็งปอด" ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
เฝ้าระวัง "ปัจจัยเสี่ยง" ป้องกันมะเร็งปอด
มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ เป็นต้น
ฝุ่นPM 2.5 คือ สสารที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจาก ควันรถ การเผาไหม้ การก่อสร้าง ฝุ่นข้ามแดน เป็นต้น สารเหล่านี้เมื่อเข้าไปในหลอดลมของสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ตามด้วยการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ส่งผลกระทบต่อคนที่มีโรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคมะเร็งปอดได้
ดังนั้น กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงเวลาที่มี ฝุ่น PM 2.5 มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือหากจำเป็นต้องออกนอกอาคารควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองควัน
บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic cigarettes, E-cigarettes) มีส่วนประกอบหลักคือ นิโคติน และผสมด้วยตัวทำละลาย (Propylene Glycol) กลิ่น และ รสต่าง ๆ มีจุดประสงค์คือลดการใช้บุหรี่ที่มีส่วนผสมของสารพิษ คือ สารหนู (Arsenic) ตะกั่ว (lead) และอื่น ๆ
การศึกษาพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการอักเสบกับทางเดินหายใจได้ อย่างไรก็ตามมีความกังวลสำหรับการที่มีผลเสียน้อยกว่าบุหรี่ของบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ประชากรวัยรุ่นตัดสินใจลองใช้ได้ง่ายขึ้นและนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นในอนาคต
มะเร็งปอดระยะแรก มักไม่มีอาการ
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย
โดยทั่วไป มะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน มีดังนี้
อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน
ไอมีเสมหะปนเลือด
เสียงแหบ
หายใจลำบาก มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น
หายใจมีเสียงหวีด
เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ
เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย
ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เช่น ปอดบวม
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
เช็กคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้น
หากมีอาการที่เข้าข่ายของโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด หากพบความผิดปกติ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)
การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration) แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยทั่วไปมักทำพร้อมกับการเอกซเรย์หรือการทำ computed tomography (CT) scan เพื่อหาตำแหน่งที่ถูกต้องของเนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจสอบ
การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy) แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กที่มีไฟผ่านทางจมูกหรือปากเข้าไปสู่ปอด โดยท่อนี้สามารถดูดของเหลวหรือตัดชิ้นเนื้อเยื่อที่สงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด
การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (thoracentesis) แพทย์จะใช้เข็มเจาะที่ช่องอกบริเวณระหว่างปอดและผนังของช่องอก เพื่อทำการเก็บของเหลวบริเวณดังกล่าวมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง
การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (mediastinoscopy) แพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณส่วนบนของกระดูกอก จากนั้นสอดกล้องเข้าไปภายในช่องทรวงอก และนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองออกมาตรวจ
การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (thorocoscopy) แพทย์จะใช้กล้องใส่เข้าทางผนังทรวงอกเพื่อตัดก้อนเนื้อจากปอดไปตรวจ
การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan หรือ CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
การตรวจด้วยเครื่อง positron emission tomography (PET) scan เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง
การตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อ/เลือด หากมียีนกลายพันธุ์ที่สามารถรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบเฉพาะเจาะจงยีนจะทำให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ตรงจุด
ปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้
แนะผู้ที่มีอายุน้อย ตรวจสุขภาพประจำปี
ผู้ที่มีอายุน้อย มักตรวจพบมะเร็งที่อยู่ในระยะรุนแรงแล้ว เนื่องจากผู้ที่มีอายุน้อยมีต้นทุนทางร่างกายที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นพ.สถานต์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคมะเร็ง การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น การบริหารอารมณ์ การพักผ่อน รวมถึงการกินอาหารให้ครบทุกหมู่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จำเป็น และที่สำคัญต้องอย่าซ้ำเติมเรื่องมลภาวะ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อภูมิคุ้มกันของเรา
ป้องกันมะเร็งปอดทำได้อย่างไร?
ความเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ ได้แก่
1. อายุ
2. การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
ความเสี่ยงที่ป้องกันได้ ได้แก่
1.การสูบบุหรี่
2.บุหรี่มือสอง
3.การสัมผัสสารก่อมะเร็งหรือสารพิษ ฝุ่นควัน หรือแร่จากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แร่เรดอน
การป้องกันมะเร็งปอด เริ่มจากการปรับพฤติกรรมในแต่ละวัน
1. เลิกสูบบุหรี่ ลดอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
2. ไม่เริ่มสูบบุหรี่
3. หลีกเลี่ยงที่ๆมีควันบุหรี่
4. หลีกเลี่ยง หรือใส่เครื่องมือป้องกันเมื่อจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีมลพิษหรือฝุ่นควัน
5. ตรวจเช็คสัญญาณอันตรายที่ควรต้องไปพบแพทย์
6. ตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกรังสีต่ำ ปีละครั้ง หากมีความเสี่ยงคือ มีประวัติเป็นผู้สูบบุหรี่หนัก และยังสูบบุหรี่อยู่หรือเลิกมาไม่ถึงสิบห้าปีและอายุระหว่าง 55-80 ปี
อ้างอิง: โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง