รวมช่องทาง "ทำฟันปลอม" ฟรี! มีทั้งของรัฐ-เอกชน
คนไทยเข้าถึงบริการทำฟันปลอมแค่ 18 % ส่วนใหญ่ติดขัดเรื่องการเดินทาง-ค่าใช้จ่าย คนไทยมีช่องทางรับฟันเทียมฟรี จากรัฐ และล่าสุดมีเอกชนร่วมจัดให้ฟรี 1,000 ฟัน ใน 3 รพ.ใหญ่
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2565 เฮลีออน ประเทศไทย (Haleon) ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพระดับโลก ประกาศเปิดตัวแคมเปญ “เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน” (Smiles Can’t Wait) ในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้สูญเสียฟันที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายจากการทำฟันเทียมให้มีโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาด้วยการลดผลกระทบทางด้านอารมณ์จากการสูญเสียฟัน อีกทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาอันเป็นผลสืบเนื่องจากการสูญเสียฟันได้
คนไทยเข้าถึงทำฟันปลอม 18 %
รศ.ทพ.ดร.นิยม ธำรงค์อนันต์สกุล ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2560 ประชากรไทยที่สูญเสียฟันเข้าถึงบริการน้อย โดยวัยทำงานเข้าถึงการ ทำฟันปลอม หรือฟันเทียมราว 5.2 % ผู้สูงอายุอายุระหว่าง 60 – 74 ปี และ 80 – 85 ปี ในประเทศไทยเข้าถึงชุดฟันเทียมเพียง 28 % ภาพรวมคนไทยที่สูญเสียฟันเข้าถึงบริการฟันเทียมราว 18 % ที่เหลืออีก70-80 % เข้าไม่ถึงบริการ
โดยเฉพาะในส่วนของผู้สูงอายุนั้น พบอุปสรรคในส่วนของการเดินทางเข้ารับบริการ ที่จะต้องมีบุคคลพามาโรงพยาบาล และในการทำฟันปลอมนั้น ไม่ได้มารพ.แค่ครั้งเดียว รวมถึง เรื่องของการค่าใช้จ่ายในการทำฟันเทียม ซึ่งในภาครัฐอยู่ที่ซี่ละราว 1,500-2,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมอนามัย เตือน! ใส่รากฟันเถื่อน เสี่ยงติดเชื้อ ย้ำต้องรักษากับทันตแพทย์เท่านั้น
ฟรี ฝัง"รากฟันเทียม"สิทธิบัตรทอง ใส่"ฟันเทียม"ทุกสิทธิรักษา
"บอร์ด สปสช." เคาะสิทธิประโยชน์ "รากฟันเทียม" กรณีมีปัญหาการใส่ฟันเทียม
ผลกระทบหากไม่ทำฟันปลอม
ทพ.วิศรุตม์ ประวัติวัชรา ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสูญเสียฟันอาจเกิดขึ้นได้เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสูญเสียฟันในผู้สูงอายุอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ใส่ฟันเทียม
อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพของร่างกาย เช่น อาการฟันล้ม ปัญหาการเคี้ยวอาหาร ปัญหาการพูดไม่ชัด ภาวะทุพโภชนาการ ไปจนถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจ อาทิ สูญเสียความพึงพอใจในตนเอง เบื่ออาหาร หรือแม้แต่ส่งผลให้มีกิจกรรมทางสังคมที่ลดลง
นางดวงใจ หทัยกาญจน์ นักแสดงและผู้มีประสบการณ์การสูญเสียฟัน และใช้ฟันเทียม แสดงความคิดเห็นสนับสนุนว่าการสูญเสียฟันสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตประจำวันของเธอ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีปัญหาด้านสุขภาพมากมายเข้ามารุมเร้า รวมถึงการสูญเสียฟัน เมื่อเริ่มสูญเสียฟัน ก็รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ ในฐานะนักแสดง ดิฉันกังวลว่าเวลายิ้ม ผู้คนจะสังเกตเห็นว่าไม่มีฟัน ทำให้ฉันเกิดความไม่มั่นใจในการที่จะเข้ามาออดิชันงานและนำไปสู่อาการเครียดกับการตกงาน
ส่งผลต่ออารมณ์อย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นมากกว่าแค่ฟันที่หายไป เพราะถ้าหากไม่มีฟันเทียมหรือทำฟันปลอม โครงสร้างใบหน้าก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ส่งผลให้รูปลักษณ์เปลี่ยนไป ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพร่างกายที่มากขึ้น ดังนั้นหวังว่าผู้สูงอายุทุกคนจะสามารถเข้าถึงฟันเทียมได้ เพื่อให้พวกเขามีอายุที่มากขึ้นอย่างมีสุขภาพดีและสวยงาม
จัดให้ฟรี ทำฟันปลอม ใน 3 รพ.
นายฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ ผู้จัดการทั่วไป เฮลีออน ประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะการสูญเสียฟัน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เช่น กลุ่มผู้สูงอายุก็มักขาดโอกาสในการเข้าถึงฟันเทียมโครงการ ‘เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน’ หรือ Smiles Can’t Wait จึงถือกำเนิดขึ้น โดยพวกเราทุกคนที่เฮลีออนมุ่งมั่นที่จะสร้างการรับรู้และให้ความช่วยเหลือเพื่อช่วยให้คนไทยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถเข้าถึงฟันเทียมได้ง่ายขึ้น เพราะเราเชื่อว่ารอยยิ้มและความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี โดยไม่จำเป็นไม่ต้องรอ
จากข้อมูลล่าสุดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีชาวไทยมากถึง 58 %ในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 60 – 74 ปี ที่กำลังประสบกับปัญหาการสูญเสียฟัน ส่งผลให้เหลือฟันตามธรรมชาติน้อยกว่า 20 ซี่ โดยสถิติดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละทศวรรษ
เฮลีออน ประเทศไทย จึงได้เข้ามาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายในการมอบอย่างน้อย 1,000 ฟันเทียมให้ผู้สูงวัยในประเทศไทยที่มีปัญหาการสูญเสียฟันและต้องการฟันเทียมให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขและรอยยิ้มที่สดใสอีกครั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน
สุวรรณา ร่วมสนิทวงศ์ ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเฮลีออน ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมร้านขายยาแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการให้ฟันเทียมกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนโดยร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน โดยที่ทันตแพทย์จะพิจารณาคัดกรองผู้ป่วยที่จะได้รับฟันเทียมฟรีจากโครงการนี้ จากผู้ป่วยที่มารับบริการใน 3 หน่วยงานดังกล่าวด้วยดุลยพินิจของทันตแพทย์
ประกันสังคมเบิกทำฟันปลอมได้
สำหรับการให้สิทธิประโยชน์เรื่องของทำฟันปลอมหรือฟันเทียมในส่วนของภาครัฐนั้น สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39
กรณีใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน
- จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
- จำนวนมากกว่า 5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน1,500 บาท
กรณีใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก
- ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท (ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม)
- ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท (ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม)
บัตรทองให้ฟรีทำฟันปลอม
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ หลักประกันสุขภาพทางด้านทันตกรรมมีตั้งแต่ขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน อุดฟัน ฯลฯ และที่สำคัญยังมีบริการฟื้นฟูด้วยการใส่ฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันซึ่งสามารถเข้ารับบริการใส่ฟันเทียมได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี การใส่ฟันเทียมทั้งปากนั้นเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีฟันมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากสันกระดูกขากรรไกรส่วนล่างจะแบน
คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่โดยการฝังรากฟันเทียมบริเวณเขี้ยว 2 ข้าง เพื่อเป็นหลักยึดให้กับฟันเทียมทั้งปาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งปกติแล้วรากฟันเทียมมีราคาสูง แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยบอร์ด สปสช. ก็ได้เห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ไม่มีฟัน และไม่สามารถใส่ฟันเทียมในกรณีปกติได้ จึงเกิดเป็นสิทธิประโยชน์ต่อประชาชนที่ไม่มีฟันทั้งปากอย่างแท้จริง
“จะฝังรากฟันเทียมในกรณีที่สันกระดูกด้านล่างที่จะรองรับฟันไม่มี หรือมีน้อยมาก ทำให้การยึดแน่นไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องฝังรากฟันเทียมเพื่อเป็นหลักยึด ทำให้แน่นมากพอที่จะเคี้ยวอาหารได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ฝังรากฟันเทียมจะเป็นผู้ป่วยใหม่ที่ไม่เคยใส่ฟันเทียมเลยก็ได้ หรือผู้ป่วยเก่าที่ฟันเทียมแล้วมีปัญหาก็ได้ คาดว่าเดือนกรกฎาคมน่าจะทำพร้อมกันได้ทั่วประเทศ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการจัดหารากฟันเทียม และการชี้แนวทาง หลักเกณฑ์ให้แก่หมอฟันทั่วประเทศ” ทพ.อรรถพร ระบุ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม
โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือ ปี 2566 -2567 โดยจะเป็นการใส่รากฟันเทียม 2 ตัวในขากรรไกรล่าง ร่วมกับฟันเทียมทั้งปากชนิดถอดได้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีฟัน หรืออาจมีฟันเทียมทั้งปากมาก่อนแล้วแต่มีปัญหาในสันเหงือกล่าง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมั่นใจในการรับประทานอาหารได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ตลอดจนช่วยในการเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามหรือการออกเสียง
โดยใส่ฟันเทียมสำหรับคนที่ไม่มีฟันทุกสิทธิการรักษา
ฝังรากฟันเทียม สำหรับผู้ที่ใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วหลวมและทันตแพทย์ประเมินวาจำเป็นต้องฝังรากเทียม เฉพาะผู้ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น
สามารถติดต่อได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา
ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 – 30 ก.ย.2566
- ติดต่อสอบถามโครงการรากฟันเทียม
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand