คุณแม่ต้องรู้ ทำไม "กรดโฟลิก" จำเป็นสำหรับการ "ตั้งครรภ์" ?

คุณแม่ต้องรู้ ทำไม "กรดโฟลิก" จำเป็นสำหรับการ "ตั้งครรภ์" ?

รู้จัก “โฟลิก” และ “โฟเลต” วิตามินสำคัญตลอดช่วงระยะเวลา "ตั้งครรภ์" หนึ่งในแนวทางส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง

การตั้งครรภ์คือประสบการณ์ที่คุณแม่มือใหม่สัมผัสด้วยความตื่นเต้น และภายหลังจากฝากครรภ์เข้าตรวจกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกๆ ที่คุณแม่ทุกคนจะได้รับติดมือกลับบ้านไปในวันนั้นคือ “กรดโฟลิก

 

  • โฟลิก” กับ “โฟเลต” เหมือนกันหรือไม่?

เราอาจได้ยินทั้งคำว่า “โฟลิก” และ “โฟเลต”  ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่า สารอาหารทั้ง 2 ชื่อแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร

คำตอบในเรื่องนี้คือ กรดโฟลิก (folic acid) และโฟเลต (Folate) เป็นวิตามินตัวเดียวกัน นั่นคือ “วิตามินบี 9” ที่สามารถละลายน้ำได้ แต่ที่เแตกต่างกัน คือ “กรดโฟลิก” เป็นชื่อเรียกของวิตามินบี 9 ที่ได้มาจากการสังเคราะห์ขึ้น ส่วน “โฟเลต” เป็นชื่อเรียกของวิตามินบี 9 ที่ได้รับจากอาหารตามธรรมชาติ

สารอาหารที่ชื่อ โฟเลตนั้น สามารถพบได้ใน  ผักสดใบเขียว ไม่ว่าจะเป็น

  • คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
  • ผักปวยเล้ง บล็อกโคลี่ ถั่วลันเตา หน่อไม้ฝรั่ง
  • ยีสต์ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วลิสง ส้ม มะนาว มะเขือเทศ อะโวคาโด
  • เมล็ดทานตะวัน
  • ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย แต่ในเนื้อสัตว์จะมีสารโฟเลตต่ำ
  • ทำไม กรด “โฟลิก” และ “โฟเลต” สำคัญกับหญิงตั้งครรภ์

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนการประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยที่หนึ่งในนั้นมีการส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์บริโภค กรดโฟลิก (Folic Acid) นั่นเพราะ โฟลิกจะสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อการเจริญของลูกในครรภ์และเตรียมสำรองเลือดเผื่อไว้ตอนคลอด

ที่สำคัญที่สุดคือ “โฟลิก”จะช่วยการสร้างเนื้อเยื่อของลูกในครรภ์ สร้างเซลล์ประสาทสมอง ช่วยลดความพิการแต่กำเนิด และยังช่วยในการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอดบุตร นี่จึงเป็นสารอาหารที่จำเป็นมีบทบาทหน้าที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเซลล์ ในร่างกาย

สตรีทุกคนที่จะตั้งครรภ์ควรได้รับการเสริมกรดโฟลิค (folic acid/ vitamin B9) วันละ 400 ไมโครกรัม เป็นอย่างน้อย 1-3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์และให้ต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ซึ่งจะลดอัตราการเกิดความผิดปกติของท่อประสาทได้ 50-70% และยังช่วยลดอัตราการเกิดภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ รวมถึงความผิดปกติของหัวใจบางชนิดในลูกและป้องกันภาวะซีดจากการขาดกรดโฟลิคในแม่อีกด้วย

ถึงเช่นนั้นก็ “โฟเลต” กับความจำเป็นในชีวิตวัยต่างๆ ได้แก่

  • หญิงสาว โฟลิกจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยทดแทนการสูญเสียเลือดในแต่ละเดือน ช่วยบำรุงผิวพรรณและสุขภาพช่วยชะลอให้ผมขาวช้าลงเมื่อรับประทานร่วมกับ พาบา และ วิตามินบี  และยังพบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสตรีอีกด้วย
  • โฟเลตในเด็กทารก ช่วยสร้างความเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง เป็นตัวการสำคัญในการสร้างกรดนิวคลิอิก ซึ่งจำเป็นสำหรับขั้นตอนในการเจริญเติบโตของร่างกาย และสร้างเซลล์ทั้งหลายให้กับร่างกายอย่างถูกต้อง และเหมาะสม สร้างภูมิต้านทานโรคในต่อมไธมัสให้แก่ทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก
  • ในทุกเพศทุกวัย  โฟเลตจะช่วยการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายใช้น้ำตาล และกรดอะมิโนผ่านทางขบวนการระดับเซลล์ป้องกันเบาหวาน

  โฟเลตจึงเป็นวิตามินซึ่งเป็นที่ต้องการของร่างกายทุกวัย เริ่มตั้งแต่ก่อนเกิด จนถึงทุกช่วงวัย

  • คำแนะนำเกี่ยวกับ “โฟเลต”

นอกจากนี้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังแนะนำผู้ตั้งครรภ์เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีโฟเลต ประกอบไปด้วย

1. กินอาหารที่อุดมด้วยโฟเลท ซึ่งมีมากในผักและผลไม้ เช่น ผักคะน้า แขนง กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ผักโขม ผักกาดหางหงส์ บรอคโคลี ผักกาดหอม ขึ้นฉ่าย ตำลึง มะเขือเทศ ดอกและใบกุยช่าย แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ผลไม้พวกส้ม องุ่นเขียว สตรอเบอรี สับปะรด ฝรั่ง มะละกอสุก ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วแดงหลวง ถั่วเหลือง และโฟเลทยังมีมากในตับไก่ ตับวัว ตับหมู 

2. ควรกินผักวันละ 6 ทัพพี และกินผลไม้วันละ 3-5 ส่วน

3. ควรกินผักและผลไม้สดเพราะโฟเลทสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน เช่น การหุงต้มอาหารด้วยความร้อนนานๆ หรือ การอุ่นอาหารซ้ำ

4. การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานานๆ อาจมีผลทำให้ระดับโฟเลตในร่างกายได้ เช่น ยารักษา โรคลมชัก ยารักษาโรคมาลาเรีย และยาเม็ดคุมกำเนิด 5. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เพราะแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อการดูดซึม

ที่มา : สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

"กรดโฟลิก…ทำไมจึงจำเป็นกับคุณแม่ตั้งครรภ์" รพ.พญาไท

แผนการประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569)