เที่ยวหน้าหนาว ระวัง! "ภาวะตัวเย็นเกิน" ทำไมอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต?

เที่ยวหน้าหนาว ระวัง! "ภาวะตัวเย็นเกิน" ทำไมอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต?

อย่านิ่งนอนใจ! หากไปเที่ยวในสถานที่ "หนาวจัด" มีหิมะตก ต้องเตรียมเครื่องกันหนาวให้พร้อมมากๆ ไม่เช่นนั้นอาจเกิด "ภาวะตัวเย็นเกิน" (Hypothermia) ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ต้องยอมรับว่า "หน้าหนาว" ของแต่ละปีเป็นช่วงเวลาแห่งการท่องเที่ยวของคนไทยหลายๆ คน โดยหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเป็นสถานที่ที่จะได้สัมผัสอากาศหนาวเย็น 

แต่ในบางครั้งอุบัติเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นหากไม่เตรียมตัวให้ดีพอ โดยเฉพาะหากเจอสภาพอากาศเลวร้าย หิมะตก และอากาศหนาวจัดต่อเนื่องทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านความเยือกเย็นได้ จนเกิด “ภาวะตัวเย็นเกิน” ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ภาวะตัวเย็นเกิน หรือ Hypothermia เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกินไป อันเป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความเย็นจัดเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้อวัยวะต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจและสมอง) ได้รับผลกระทบจนทำงานตามปกติไม่ได้ เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยสาเหตุการเกิดภาวะตัวเย็นเกินมีได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น

1. เกิดจากการสัมผัสกับความหนาวเย็น เช่น อากาศหนาวจัด หรือแช่อยู่ในน้ำเย็นจัด มักพบในคนอายุไม่มากที่ร่างกายแข็งแรง เกิดขึ้นเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นส่วนใหญ่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เที่ยวหน้าหนาว ระวัง! \"ภาวะตัวเย็นเกิน\" ทำไมอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต?

2. เกิดจากร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิ ทำให้ไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกายได้ มักพบในผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน (เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน เบาหวานที่มีภาวะประสาทเสื่อม ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดอาหาร เป็นต้น)

3. เกิดกับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือกินยานอนหลับ หรือยากล่อมประสาท บุคคลกลุ่มนี้เมื่อสัมผัสอากาศเย็นพอประมาณ (ไม่ถึงกับหนาวมาก) อุณหภูมิร่างกายก็จะลดลงถึงขั้นเป็นอันตรายได้

 

  • อาการแบบไหนคือภาวะ "ภาวะตัวเย็นเกิน" ที่ต้องรีบพบแพทย์

ส่วนอาการของภาวะดังกล่าวที่ต้องรู้ คือ ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน ความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้อยลง (ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่ากำลังได้รับอันตราย) ต่อมาเมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงไปอีก ผู้ป่วยจะหยุดสั่น มีอาการเพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้ตัว ในที่สุดจะหมดสติและหยุดหายใจ

โดยภาวะตัวเย็นเกินมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน และมีสาเหตุจากการถูกสัมผัสความหนาวเย็นจัด จึงค่อนข้างมีความชัดเจนที่ชวนให้สงสัยว่าน่าจะเกิดภาวะนี้ขึ้นได้แม้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง

 

  • เช็กวิธีปฐมพยาบาลให้แก่ผู้เกิดภาวะ "ภาวะตัวเย็นเกิน"

หากไปในสถานที่ที่มีความหนาวเย็นแล้วพบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายข้างต้น ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เร็วที่สุด และควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้

1. พาผู้ป่วยหลบอากาศและลมที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็น รีบพาเข้าไปอยู่ในจุดที่สามารถหลบลมแรงได้ หรือจุดที่อบอุ่นมากขึ้น

2. ถ้าเสื้อผ้าเปียกน้ำควรปลดออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้งแทน

3. ห่อหุ้มร่างกายผู้ป่วยด้วยผ้านวม ผ้าห่มหนาๆ หรือเสื้อผ้าหนาๆ ในกรณีที่อยู่ในกลางแจ้ง ควรคลุมถึงหน้าและศีรษะ และอาจนอนกอดเพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วย

เที่ยวหน้าหนาว ระวัง! \"ภาวะตัวเย็นเกิน\" ทำไมอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต?

4. จับให้ผู้ป่วยนอนหงายนิ่งๆ โดยต้องมีผ้าหนาๆ ปูรองพื้น หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น

5. ห้ามนวดหรือแตะต้องตัวผู้ป่วยแรงๆ

6. ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ ห้ามมีแอลกอฮอล์ผสม เพราะยิ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน

7. ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปาก ถ้ายังหายใจได้แม้จะแผ่วๆ ยังไม่ต้องทำการกู้ชีพ เพราะอาจกระทบกระเทือนให้หัวใจหยุดเต้นได้

 

  • ภาวะ "ภาวะตัวเย็นเกิน" แพทย์ให้การรักษาอย่างไร?

ผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกินจำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะรีบทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น เช่น ห่มผ้านวมหรือผ้าห่มหนาๆ แช่น้ำอุ่นหรือประคบด้วยน้ำอุ่น ห่มผ้าห่มไฟฟ้า ให้สารน้ำที่อุ่นเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้หายใจอากาศที่อุ่นเข้าร่างกาย หรือการสวนน้ำอุ่นทางกระเพาะอาหาร ทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ ช่องท้อง โพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

หากปล่อยไว้นานผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง รักษาไม่ทัน มักจะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น (asystole) หรือหัวใจห้องล่างเต้นระรัว (ventricular fibrillation) จนเสียชีวิตในที่สุด

อีกทั้งยังอาจพบภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง ปอดอักเสบ ไตวาย ภาวะเลือดข้น ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ตับอ่อนอักเสบ ทางเดินอาหารเป็นแผลหรือเลือดออก หลอดลมหดเกร็ง เป็นต้น หากผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกินไม่ได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก็มักจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

ดังนั้น หากรู้ตัวว่ากำลังจะต้องพบเจอกับสภาพอากาศหนาวเย็น หนาวจัด ก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดี ต้องทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะไปเจออุบัติเหตุกลางหิมะแล้วภาวะเกิด Hypothermia จนอาจส่งผลร้ายแรงจนแก้ไขไม่ได้

----------------------------------------

อ้างอิง : หมอชาวบ้านPobpad