"ฟันปลอม-ฟันเทียม" สวัสดิการที่คนไทยเข้าไม่ถึง

"ฟันปลอม-ฟันเทียม" สวัสดิการที่คนไทยเข้าไม่ถึง

"ฟัน" นับเป็นสิ่งจำเป็นต่อคุณภาพชีวิต การสูญเสียฟัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จึงมักนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ขณะเดียวกัน ฟันปลอม หรือ ฟันเทียม มีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่วัยทำงานเข้าถึงการทำฟันเทียมเพียง 5.2 % และ ผู้สูงอายุอายุเข้าถึงเพียง 28 %

การสูญเสียฟัน ใน ผู้สูงอายุ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ใส่ฟันเทียมอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพของร่างกาย เช่น อาการฟันล้ม ปัญหาการเคี้ยวอาหาร ปัญหาการพูดไม่ชัด ภาวะทุพโภชนาการ

 

ไปจนถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจ อาทิ สูญเสียความพึงพอใจในตนเอง เบื่ออาหาร หรือแม้แต่ส่งผลให้มีกิจกรรมทางสังคมที่ลดลง ผลกระทบจากภาวะการสูญเสียฟัน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เช่น กลุ่มผู้สูงอายุก็มักขาดโอกาสในการเข้าถึง ฟันเทียม 

 

มีประชากรไทยที่สูญเสียฟันเข้าถึงบริการน้อย โดยวัยทำงานเข้าถึงการทำฟันปลอมหรือฟันเทียมราว 5.2 % ผู้สูงอายุอายุระหว่าง 60 – 74 ปี และ 80 – 85 ปี ในประเทศไทยเข้าถึงชุดฟันเทียมเพียง 28 %

 

ภาพรวมคนไทยที่สูญเสียฟันเข้าถึงบริการฟันเทียมราว 18 % ที่เหลืออีก 70-80 % เข้าไม่ถึงบริการ โดยเฉพาะในส่วนของผู้สูงอายุนั้น พบอุปสรรคในส่วนของการเดินทางเข้ารับบริการ ที่จะต้องมีบุคคลพามาโรงพยาบาลและในการทำฟันปลอมนั้น ไม่ได้มารพ.แค่ครั้งเดียว รวมถึง เรื่องของการค่าใช้จ่ายในการทำฟันเทียม ซึ่งในภาครัฐอยู่ที่ซี่ละราว 1,500-2,000 บาท

 

ข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากยังเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยพบว่า

  • เด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุ
  • ส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี ร้อยละ 52.0 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ
  • ขณะที่ กลุ่มวัยทำงานอายุ 35-44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย ร้อยละ 51.0
  • และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 43.3
  • สำหรับผู้สูงอายุ พบว่า มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียงร้อยละ 56.1 เท่านั้น

 

ขณะที่ “สุขภาพช่องปาก” ได้รับการบรรจุในปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสหประชาชาติ (UN Political Declaration on Universal Health Coverage) ซึ่งมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการโดยบรรดาผู้นำโลก ภายในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่นครนิวยอร์ก

 

ประเทศไทยมีการบรรจุนโยบายสุขภาพช่องปาก เป็นนโยบายแห่งชาติ เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการกินอาหารน้ำตาลสูง ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ ใช้ไหมขัดฟัน ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และแปรงฟันอย่างถูกวิธี การให้ความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอยู่ และในระดับนโยบายเน้นย้ำการตระหนัก ความสำคัญของการมีสุขภาพช่องปากที่ดี และการหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้ดีขึ้น

 

ผู้ประกันตนทำฟันปลอม

 

สำหรับการให้สิทธิประโยชน์เรื่องของทำฟันปลอมหรือฟันเทียม ในส่วนของภาครัฐนั้นสำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 กรณีใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วนจำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาทจำนวนมากกว่า 5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน1,500 บาท

 

กรณีใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท (ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม)ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท (ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม)

 

“บัตรทอง”ทำฟันปลอมฟรี

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)กล่าวว่า สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพทางด้านทันตกรรมมีตั้งแต่ขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน อุดฟัน ฯลฯ และที่สำคัญยังมีบริการฟื้นฟูด้วยการใส่ฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันซึ่งสามารถเข้ารับบริการใส่ฟันเทียมได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศอย่างไรก็ดี การใส่ฟันเทียมทั้งปากนั้นเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีฟันมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากสันกระดูกขากรรไกรส่วนล่างจะแบน

 

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่โดยการฝังรากฟันเทียมบริเวณเขี้ยว 2 ข้าง เพื่อเป็นหลักยึดให้กับฟันเทียมทั้งปาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งปกติแล้วรากฟันเทียมมีราคาสูง แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยบอร์ด สปสช. ก็ได้เห็นถึงความสำคัญของผู้ที่ไม่มีฟัน และไม่สามารถใส่ฟันเทียมในกรณีปกติได้ จึงเกิดเป็นสิทธิประโยชน์ต่อประชาชนที่ไม่มีฟันทั้งปากอย่างแท้จริง

 

“จะฝังรากฟันเทียมในกรณีที่สันกระดูกด้านล่างที่จะรองรับฟันไม่มี หรือมีน้อยมาก ทำให้การยึดแน่นไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องฝังรากฟันเทียมเพื่อเป็นหลักยึด ทำให้แน่นมากพอที่จะเคี้ยวอาหารได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ฝังรากฟันเทียมจะเป็นผู้ป่วยใหม่ที่ไม่เคยใส่ฟันเทียมเลยก็ได้ หรือผู้ป่วยเก่าที่ฟันเทียมแล้วมีปัญหาก็ได้ คาดว่าเดือนกรกฎาคมน่าจะทำพร้อมกันได้ทั่วประเทศ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการจัดหารากฟันเทียม และการชี้แนวทาง หลักเกณฑ์ให้แก่หมอฟันทั่วประเทศ” ทพ.อรรถพร ระบุ

 

สมุนไพรยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ

 

ล่าสุด ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษาวิจัย "สารสกัดจากเปลือกมังคุด และใบเทียนบ้าน" พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากเปลือกมังคุดและใบเทียนบ้าน มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ และยับยั้งเชื้อรา

 

ศ.ทพญ.ดร. วิภาวี นิตยานันทะทันตแพทย์ และนักวิจัยให้ข้อมูลถึงปัญหาฟันผุ และปัญหาช่องปากในคนไทยว่า กลุ่มที่มีปัญหาฟันผุจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรม โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงอายุ เกือบ 50 % มีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ปัญหาฟันผุมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกายทำให้เกิดอาการไม่สบายในช่องปาก ความสามารถในการทำงานลดลง มีผลทางลบต่อชีวิตประจำวัน กระทบคุณภาพชีวิต และเกิดปัญหาด้านจิตใจ อาทิ อาการปวดฟันจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งค่อนข้างทรมานและส่งผลต่อสุขภาพจิต

 

นอกจากนี้ การมีฟันผุแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร หรือการที่มีหินปูนเกาะฟันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดฟันโยก เคี้ยวลำบาก ส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เป็นผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม อีกทั้ง ปัญหาการติดเชื้อเละการอักเสบเรื้อรังในช่องปาก มีการวิจัยระบุว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางระบบต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ เเละ โรคมะเร็งได้อีกด้วย

 

“โรคช่องปาก" ที่พบบ่อย เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ เชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหงือกอักเสบ และเชื้อราที่มักเป็นปัญหาโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ที่ใส่ฟันปลอม การเกิดไบโอฟิล์มเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคช่องปากต่าง ๆ เหล่านี้

 

ที่ผ่านมาจึงมุ่งศึกษาวิจัย "สารสกัดจากเปลือกมังคุด และใบเทียนบ้าน" เพื่อพัฒนาในรูปแบบฟิล์มสเปรย์ช่องปาก โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากเปลือกมังคุดและใบเทียนบ้าน มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ และยับยั้งเชื้อรา

 

รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการอักเสบ เเละยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์ม โดยไม่เป็นพิษต่อเซลล์เนื้อเยื่อช่องปาก ดังนั้นฟิล์มสเปรย์ช่องปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดสองชนิดนี้ สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยในการดูเเลอนามัยช่องปาก โดยใช้ร่วมกันกับการแปรงฟัน เป็นตัวเสริมช่วยให้การป้องกันฟันเละเหงือกดียิ่งขึ้น สามารถใช้ต่อเนื่องได้ มีความปลอดภัยสูง

 

ปัจจุบันงานวิจัย "สารสกัดจากเปลือกมังคุด และใบเทียนบ้าน" ถูกนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมฟิล์มสเปรย์พ่นบนผิวฟันช่วยป้องกันปัญหาฟันและช่องปากภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ Snake Brand Herbal Film Spray

 สธ.ตั้งเป้าใส่ฟันเทียม 72,000 ราย      

     ​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งนี้ การมีสุขภาพปากและฟันไม่ดีจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก การจัดทำโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ตั้งเป้าหมายปี 2565 ประชาชนได้รับบริการใส่ฟันเทียมถอดได้ทั้งปากหรือเกือบทั้งปาก จำนวน 72,000 ราย และประชาชนที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการฝังรากฟันเทียม จำนวน 7,200 ราย 

    "ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจช่องปากและวางแผนการรักษา ซึ่งการให้บริการฝังรากฟันเทียม ต้องพบทันตแพทย์เพื่อประเมินความจำเป็น และเข้ารับบริการประมาณ 2 – 3 ครั้ง ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพช่องปาก หลังจากนั้น จะมีการนัดหมายเพื่อตรวจสภาพรากฟันเทียมและเหงือกเป็นระยะเพื่อให้สามารถใช้งานอย่างมีคุณภาพยาวนานที่สุด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว