ด้านสว่างของโควิด-19 การเกิด Long COVID ที่รักษาได้ง่ายอย่างเหลือเชื่อ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" ยก 10 ข้อด้านสว่างของโควิด เกี่ยวกับการแพร่ระบาดในปัจจุบัน และได้พูดถึงการเกิด Long COVID ด้วย
(30 พ.ย.2565) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" ยก 10 ข้อด้านสว่างของโควิด เกี่ยวกับการแพร่ระบาดในปัจจุบัน
1.การแพร่อย่างหนาแน่นรวดเร็วกว่าเดิมจะทำให้คลื่นระลอกนี้จบสิ้นไปไว
2.โควิดที่มีอาการชัดเจนกลับเป็นประโยชน์ให้คนนั้น โดยจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติดีกว่าคนไม่มีอาการ สำหรับต่อสู้คลื่นโควิดในอนาคต
3.การที่มีภูมิตามธรรมชาติร่วมกับวัคซีน จะลดอาการหนักได้ดีกว่าวัคซีนเฉยๆ (ไม่ได้ยุให้ติดนะครับ)
4.โควิดที่เกิดอาการหนักมากส่วนสำคัญ ยังอยู่ที่ต้นทุนสุขภาพของแต่ละคน และขาดการออกกำลัง และตามใจปาก
5.และเหล่านี้จะทำให้คนไทยตระหนักถึงการใส่ใจตนเองไม่ปล่อยตัว
6.อาการหนักน่าจะมีแนวโน้มว่า ควรจะเบากว่าที่ผ่านมา จากความดีสะสมของการเคยติดเชื้อและวัคซีน
7.สายพันธุ์ของโควิด ตลอดจนความรุนแรงในขณะที่ติดเชื้อและวัคซีน อาจจะไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดผลกระทบรวมทั้งความรุนแรงของลองโควิด (รายงานจากคิงส์ คอลเลจ)
8.การเกิดลองโควิด (Long COVID) กลับรักษาได้ง่ายอย่างเหลือเชื่อ จากการเริ่มออกกำลังกาย ออกแดด ปรับอาหารเข้าใกล้มังสวิรัติ ผัก ผลไม้เป็นหลัก ลดแป้ง งดเนื้อสัตว์ กินปลาได้ และผอม ท้องต้องไม่ผูก
9.การมีไวรัสอื่นเข้ามาปะปนโดยเฉพาะโคโรนาประจำถิ่นกลับจะเพิ่มภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโควิดด้วย
10.และในที่สุดโควิดจะกลายเป็นโรคธรรมดาเฉยๆ ถ้าคนไทยเริ่มสะสมต้นทุน สุขภาพ ทั้งประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.ปรับแนวทางการรักษาโควิด-19 ใหม่ เพิ่ม LAAB ให้กลุ่มเสี่ยง
- ฉีดวัคซีนโควิดฟรี ทุกเข็ม 1-5 อัปเดตล่าสุด Walk in - จองล่วงหน้า 11 จุดทั่ว กทม.
โดย สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 20-26 พ.ย.2565 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 4,914 ราย (เฉลี่ยวันละ 702 ราย) โดยมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 74 ราย ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 คน และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 319 คน
ซึ่งยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 2,483,809 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 11,482 ราย