"dBreast" แอปพลิเคชั่นผู้ช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วย-ทำงานวิจัยมะเร็งเต้านม

"dBreast" แอปพลิเคชั่นผู้ช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วย-ทำงานวิจัยมะเร็งเต้านม

จุฬาฯ ลงนามบริษัทเอกชน เปิดตัวdBreast แอปพลิเคชั่น สำหรับแพทย์ในการดูแลรักษา-ทำงานวิจัยมะเร็งเต้านม ตั้งเป้าพร้อมใช้งานในปีหน้า ระบุไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนมาก ขณะที่งานวิจัยอาจมีจำกัด

มะเร็งเต้านม” เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 1 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตต้นๆ ในหญิงไทย ซึ่งปัจจุบันอัตราการพบมะเร็งเต้านมมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้หญิง มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้น จึงมีการตื่นตัวในการตรวจหา และรักษาปัญหาก้อนที่เต้านมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยมะเร็งของเต้านมในระยะแรก และรีบรักษาก่อนที่จะมีการแพร่กระจายของโรคออกไป

ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ อายุ พบว่า มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบได้มากในวัยกลางคน ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป มีเพียงประมาณร้อยละ 10 ที่พบได้ในอายุตํ่ากว่า40 ปี

รวมถึง ฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ประวัติโรคมะเร็ง ประวัติครอบครัว พันธุกรรม และพฤติกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

"มะเร็งเต้านม" ตรวจพบเร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายขาดสูง

"มะเร็งเต้านม" อันดับ 1 ในหญิงไทย คัดกรอง รู้เร็ว รักษาทัน

ไอรีล ไตรสารศรี หัวใจผู้ป่วย "มะเร็ง" ระยะ 4 ไม่หยุดสานต่องาน Art for Cancer

บริการ "เทเลเมดิซีน" ฟรี เพื่อผู้ป่วย "มะเร็งเต้านม" คัดกรองเบื้องต้นที่ HER WILL

 

dBreast แอปพลิเคชั่นสำหรับ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.นพ.โสภาคย์  มนัสนยกรณ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการ dBreast แอปพลิเคชั่นสำหรับ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม  ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทางบริษัท แลนซิ่ง บิสสิเนส ซิสเต็มส์ จำกัด ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.นพ.โสภาคย์ กล่าวว่ามีความสนใจในเรื่องฐานข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิตแพทย์ รวมถึงเมื่อได้มาทำงาน มีประสบการณ์จากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาเป็นเวลานาน จึงตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ที่จะนำมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย และช่วยให้แพทย์ได้ทำงานวิจัยได้ง่ายขึ้น 

"ปัจจุบันการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยในรพ.แต่ละแห่ง จะมีการปรับมาใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อจะนำข้อมูลมาใช้ทั้งในการรักษาผู้ป่วย หรือการทำงานวิจัย จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากผู้ป่วยมีความหลากหลาย และแพทย์เจ้าของไข้มีจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยโรคตรงกับผู้ป่วย มีความแม่นยำ ประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเกิดเป็นแอปพลิเคชั่นดังกล่าวขึ้น" รศ.ดร.นพ.โสภาคย์ กล่าว

 

คาด 6 เดือนแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งาน

แอปพลิเคชั่น ดังกล่าวเบื้องต้นจะใช้สำหรับกลุ่มแพทย์มะเร็งเต้านม เพื่อนำข้อมูลมาใช้ดูแลผู้ป่วย วิเคราะห์ และทำงานวิจัย ซึ่งระบบจะช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบงานวิจัยล่วงหน้า ออกแบบข้อมูลล่วงหน้า รวมถึงสามารถศึกษาย้อนหลัง เพื่อนำมาสู่การสร้างงานวิจัย และรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น

dBreast เกิดขึ้นจากการนำฐานข้อมูลของผู้ป่วยให้แพทย์นำมาใช้ดูแลผู้ป่วย และสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ทันที ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียด หรือศึกษาหาความรู้ เช็กเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมได้

แอปพลิเคชั่น dBreast จะเป็นการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลของผู้ป่วยและประวัติการรักษาอย่างละเอียด รวมไว้ในที่เดียว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ ทุกเวลาแบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้ง การที่แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้ทุกที่แพทย์ในกรณีผู้ป่วยเกิดเหตุฉุกเฉิน" รศ.ดร.นพ.โสภาคย์ กล่าว

รวมทั้ง แพทย์จะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทันท่วงที ยังสามารถเปรียบเทียบผลการรักษาของตน อาทิ อัตราการรอดชีวิต กับมาตรฐานการรักษาจากสถาบันการแพทย์อื่นๆ เพื่อนำมาพัฒนาการรักษาของตนให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน แอปพลิเคชั่น dBreast  ได้รับความร่วมมือกับบริษัท แลนซิ่ง บิสสิเนส ซิสเต็มส์ จำกัด ในการผลักดันให้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว เป็นฐานข้อมูลที่ละเอียดมีความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย และการวางแผนด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยคาดว่าแอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน