“ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม” กับโลกใบเดียว “การทำงาน และ ชีวิต”
Work life balance กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด หรือ ฉมา ที่ตั้งใจปลูกผักออร์แกนิค เพื่อให้คนในครอบครัวได้ทาน สู่การพัฒนาอาหาร ยา เครื่องสำอาง จากผลิตภัณฑ์ผักและสมุนไพรออร์แกนิค
จากจุดเริ่มต้นของ “ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม” ปลูกผักเมื่อ 10 ปีก่อนจากที่ดิน 1 แปลง 50 ไร่ ที่พุทธมณฑลสาย 3 เพื่อให้คุณแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและคนในครอบครัวได้ทานผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารพิษ สู่การกำเนิดฟาร์มธรรมชาติ "ฉมา" ในปี 2555 ปลูกผักออร์แกนิคที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด จนปัจจุบัน ฉมา มีฟาร์มสำหรับผักผลไม้ออร์แกนิค และสมุนไพรรวมกว่า 100 ไร่
ปัจจุบัน “ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม” ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด ผู้ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยออร์แกนิค และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน)” กลุ่มผู้ผลิตสินค้าวุ้นเส้น ถั่วเขียว สินค้ากึ่งสำเร็จรูป ทั้งวุ้นเส้นคัพ โจ๊กคัพ ในชื่อ “ตราเกษตร”
เธอ เล่าว่า 10 ปีก่อน ที่เริ่มปลูกผัก นอกจากต้องการให้คุณแม่และคนในครอบครัวได้ทานผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารพิษแล้ว ยังแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆ ได้ทาน โดยเฉพาะผักของเมืองไทยที่มีวิจัยว่า สารต้านอนุมูลอิสระสูง แต่มีรสขมมาก จึงปลูกผลไม้ ที่มีวิตามินซี เช่น มะนาว ส้มจี้ด ฯลฯ เพื่อนำมาปั่นผสมให้มีรสชาติที่ดีขึ้น และพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ผงผักแห้ง ผักอัดเม็ด และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย
ทำเรื่องสมุนไพรต้องใจรัก
ปรินดา กล่าวต่อไปว่า การทำเรื่องสมุนไพรต้องใจรัก เพราะผลตอบแทนต่ำ และหนึ่งเหตุผลที่ทำฟาร์มเพราะอยากให้ลูกๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เด็กๆ ต้องอยู่ใกล้ธรรมชาติมากที่สุด หากถามว่าตอนนี้ “ฉมา” ประสบความสำเร็จหรือยัง ต้องบอกว่า ยังอีกไกล แต่หากถามว่าเรามีความสุขไหม เรามีความสุขดี ชีวิตต้องเดินไปเรื่อยๆ มีปัญหาก็แก้ ทำเท่าที่ทำได้
สิ่งที่สำคัญของการปลูกผักผลไม้ออร์แกนิค คือ ต้องเข้าใจกระบวนการที่จะทำให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน พนักงานใน “ฉมา” ก็ต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน พร้อมกับส่งต่อสุขภาพดีให้กับพนักงานไม่ว่าจะดูแลในช่วงโควิด-19 รวมถึงการทานผักแคปซูลและใช้สมุนไพรรักษาได้ ปัจจุบัน ฉมา มีพื้นที่ในการปลูกพืชผักและสมุนไพรกว่า 100 ไร่ ที่พุทธมณฑลสาย 3 พุทธมณฑลสาย 5 และ จ.ระยอง
“สิ่งที่อยากจะทำในอนาคต คือ อยากจะให้ความรู้เรื่องสมุนไพร เป็น “ทางเลือก” ที่เกิดประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด เพราะตอนนี้ความสนใจยังถือว่ายังน้อยอยู่ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมต้องพร้อมทั้งหมด เช่น ฟาร์มสมุนไพรที่ดี มีมาตรฐาน แพทย์แผนไทย โรงงาน แพทย์ทางคลินิก ต้องประกอบกันทุกภาคส่วน แพทย์แผนไทยไม่ได้รักษาโรคอย่างเดียวต้องรักษาใจด้วย ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เพราะฉะนั้น ต้องให้ความสำคัญเรื่องคน เราต้องดูแลแพทย์ของเราให้ดี และแพทย์จะสามารถส่งต่อสิ่งนี้ให้กับลูกค้าได้”
ในปี 2559 ฟาร์ม ฉมา ได้รับรางวัลฟาร์มตามระบบมาตรฐาน สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท. และจากการมองเห็นโอกาสในตลาดสมุนไพร ได้มีการ จัดตั้ง ฉมา เฮิร์บ ผลิตเครื่องสำอางสมุนไพร ในปี 2560 โดยสินค้าชิ้นแรก คือ เซรั่มมะรุมออร์แกนิค
รวมถึง มีคลินิกแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน โดยใช้องค์ความรู้สมุนไพรเป็นแกนหลัก ล่าสุด ในปี 2562 ฉมา ฟาร์ม ออร์แกนิค ได้รับตราเกษรอินทรีย์ แคนาดา และ ตราเกษตรอินทรีย์ สหรัฐอเมริกา พร้อมกับจัดตั้งสถานผลิตยาแผนโบราณออร์แกนิคด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย
ใช้ชีวิตเดียวให้ดีที่สุด
สำหรับการแบ่งเวลาและการใช้ชีวิต ปรินดา เล่าว่า สมัยก่อนหลังจากเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา มีแนวคิดว่าจะต้องแบ่งโลกการทำงาน โลกครอบครัว โลกสังคม แยกอย่างเด็ดขาด งานก็ทำเต็มที่ เวลาส่วนตัวเราก็ไม่ยุ่งกับงานเลย แต่พอผ่านมาถึงช่วงอายุเยอะขึ้น กลับรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน
ปรินดา เล่าว่า เมื่อก่อนจะรู้สึกผิดตลอดเวลาว่าต้องทำงาน เพราะลูกน้องเยอะ แต่พอทำงานเยอะ ก็รู้สึกผิดกับลูก สุดท้ายก็ใช้ชีวิตรู้สึกผิดตลอดเวลา ก็เลยรู้สึกว่าไม่ใช่วิธีนี้แน่ๆ และไม่มีใครมาตอบเราได้ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร เราผ่านการใช้ชีวิตหลายอย่าง และรู้สึกว่า สิ่งสำคัญ ที่สุด คือ การใช้ชีวิตเดียว ให้มันดีที่สุดและพยายามให้เป็นโลกเดียวกัน ทั้งเรื่องการทำงาน ครอบครัว การคบเพื่อน รวมถึงการพูดจา ดูแลสุขภาพ เลือกงานที่สามารถใกล้ชิดกับครอบครัวเราได้
“พอเป็นโลกเดียวไม่แบ่งแยกกัน ก็มีความสุข ไม่ว่าจะคุยกับลูกค้าหรือเพื่อนก็คุยเหมือนกัน เป็นโลกเดียวหมดทุกอย่าง รวมถึงการทำงานและการดูแลสุขภาพ อยู่บ้านก็มีความสุข มาออฟฟิศก็มีความสุข เมื่อรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น บอกกับพนักงานเหมือนกับบอกคนที่บ้านการทำงานมีปัญหาทุกวัน แต่มีความสุข ไปในทิศทางเดียวกัน หากมีข้อขัดแย้ง ก็ขอเวลาคิดให้ชัดเจน ไตร่ตรองให้แน่นอน และใช้ชีวิตตามแนวทางนี้” ปรินดา กล่าวทิ้งท้าย
สมุนไพร พืชเศรษฐกิจใหม่
ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงแนวโน้มอนาคตของผู้บริโภคทั่วโลก พบว่า ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกในด้านการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และพบว่ากว่าร้อยละ 70 ต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางเลือกที่สามารถปรับสมดุลในร่างกาย โดยเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคในปัจจุบันเปิดรับผลผลิตที่มาจากธรรมชาติเพื่อใช้เป็นหนึ่งตัวเลือกสำหรับป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งยังพบ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่คาดการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 59,500 ล้านบาท ภายในปี 2569 จากข้อมูลที่กล่าวมานับเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะสามารถขยายตลาดออกไปรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานในภูมิภาค ยกระดับการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สมุนไพร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นอีกหนึ่งหนทางในการผลักดันสมุนไพรให้เป็น “พืชเศรษฐกิจใหม่” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน