ทำความรู้จัก"โรคหลอดเลือดสมอง" ตีบ ตัน แตก และโป่งพอง

ทำความรู้จัก"โรคหลอดเลือดสมอง"  ตีบ ตัน แตก และโป่งพอง

“โรคหลอดเลือดสมอง”เป็นอีกโรคที่มีสถิติการเสียชีวิตติดอันดับรองจากมะเร็งและหัวใจ มีทั้งกรณีตีบ ตัน แตกและโป่งพอง หากเดินทางไปโรงพยาบาลไม่ทันเวลา อาจเสียชีวิตหรืออาจเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ 

หลอดเลือดสมอง มีทั้งเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอย หากเส้นเลือดเหล่านั้นตีบ ตัน หรือแตก ก็จะส่งผลต่อร่างกายทันที เนื่องจากเนื้อสมองที่อยู่รอบหลอดเลือดอ่อนนุ่มกว่าเนื้อส่วนอื่นๆ ทำให้หลอดเลือดแตกง่าย และเมื่อแตกเลือดจะออกไปกดเนื้อสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จึงเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย เหตุปัจจัยความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่บางคนแทบไม่รู้เลยว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพ และถ้าเกิด Stroke ต้องได้รับการรักษาให้ทันเวลาภายใน 3-4.5 ชั่วโมง

  • ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

- ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

1.คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากอายุมากขึ้นหลอดเลือดจะมีการแข็งตัวมากขึ้น และมีไขมันเกาะหนาตัว ทำให้เลือดไหลผ่านได้ลำบากมากขึ้น

2.เพศชาย มีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง

3.มีประวัติครอบครัว เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะในขณะที่มีอายุยังน้อย

 

- ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่เปลี่ยนแปลงได้

เรื่องการปรับพฤติกรรมมีส่วนช่วยได้ ปัจจัยเสี่ยงมีทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียดและความอ้วน

 

 

ทำความรู้จัก\"โรคหลอดเลือดสมอง\"  ตีบ ตัน แตก และโป่งพอง

  • ชนิดหลอดเลือดสมอง

ความผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกได้ดังนี้

1. หลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke)

เป็นชนิดของหลอดเลือดสมองที่พบได้กว่า 80% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากอุดตันของหลอดเลือด จนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไปเพียงพอ ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง โรคหลอดเลือดสมองชนิดนี้ยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่

• ขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Stroke)

เป็นผลมาจากหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้

• ขาดเลือดจากการอุดตัน (Embolic Stroke)

เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด จนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปที่สมองได้อย่างเพียงพอ

2. หลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke)

เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือ ฉีกขาด ทำให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง พบได้น้อยกว่าชนิดแรก คือประมาณ 20% สามารถแบ่งได้อีก 2 ชนิดย่อย ๆ ดังนี้

• หลอดเลือดสมองผิดปกติ (Arteriovenous Malformation)

เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมองตั้งแต่กำเนิด

• หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm)

เกิดจากความอ่อนแอของหลอดเลือด คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการบางลงของผนังหลอดเลือดสมอง ทำให้ผนังเส้นเลือดสมองโป่งพองออกคล้ายบอลลูนและแตกออกง่าย 

โรคนี้มักเกิดขึ้นกับเส้นเลือดบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ประวัติโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองในครอบครัว 

นอกจากนี้ประเภทของเส้นเลือดสมองโป่งพอง ยังมีทั้งกรณี

-เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก

อาการส่วนมากไม่มีอาการ ยกเว้นกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดใหญ่ อาจเกิดการกดทับเส้นประสาทข้างเคียง เช่น มีอาการปวดร้าวบริเวณใบหน้าหนังตาตก หรือมองเห็นภาพซ้อน หลอดเลือดสมองโป่งพองที่มีขนาดใหญ่ อาจทำให้เลือดไหลวนอยู่กายใน เกิดลิ่มเลือดขึ้นและหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองส่วนปลาย ส่งผลให้เกิดอาการสมองขาดเลือด

-เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้วมีอาการ

ทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง และความดันในกะโหลกสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณต้นคอ ก้มคอไม่ได้ ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นใส้ อาเจียน บางรายอาจชักหมดสติไม่รู้สึกตัว หรือเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องรับการรักษาโดยเร็ว

ทำความรู้จัก\"โรคหลอดเลือดสมอง\"  ตีบ ตัน แตก และโป่งพอง อาการโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน

  • ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน มีอาการชาครึ่งซีก อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว
  • แขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ เวียนศีรษะ
  • การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง) และบางกรณีก็หมดสติ

 

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด

ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดสามารถให้การรักษาได้โดยความรวดเร็วในการรักษาถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะยิ่งปล่อยไว้จะทำ ให้สมองเกิดความเสียหายมากขึ้น 

- ยาละลายลิ่มเลือด

ใช้เพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ เพื่อทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น ยิ่งได้รับเร็วประสิทธิภาพในการรักษาก็จะยิ่งดีขึ้น

- ยาต้านเกล็ดเลือด

เป็นยาที่ช่วยป้องกันการก่อตัวของเกล็ดเลือด ทำให้การอุดตันลดลง ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้ได้แก่ยาแอสไพริน ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระยะเวลาที่เกิน 4.5 ชั่วโมง และให้เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดในระยะยาว

-ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ใช้ในผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติเพื่อป้องกันการเกิดการกลับเป็นซ้ำในระยะยาว หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาการของผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และอาจกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 6 เดือน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเสียหายของสมอง

-การรักษาทางการผ่าตัด

เส้นเลือดในสมองแตก พบเลือดออกในสมอง ต้องรักษา ต้องผ่าตัดช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดที่เรียกว่า Key Hole Surgery หรือการเจาะรูเล็กๆ คล้ายรูกุญแจที่ศีรษะเพื่อดูดเลือดออกจากสมอง 

 

วิธีป้องกันโรคหลอดเลือด

ทำได้โดยหลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังนี้ 

-ลดอาหารเค็ม หรือเกลือมาก จะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดแข็งได้

-รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเป็นประจำ เช่น ผัก ผลไม้

-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น มันหมู มันไก่ ไข่แดง และกะทิมะพร้าว รวมทั้งอาหารที่หวานจัดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ระดับไขมันไนเลือดสูงได้

-งดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งสารนี้จะทำให้หัวใจเต้นเร็วหลอดเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วจะทำให้เกิดอันตรายได้

-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะช่วยคลายเครียด ลดไขมัน และลดความดันโลหิตนอกจากนี้ยังทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

 

ปัจจัยเสี่ยงแต่ละโรคในการเป็นหลอดเลือดสมอง

-ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงในการเป็น Stroke มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 4 เท่า แต่ถ้าควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถลดความเสี่ยงได้

-เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจวาย โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ โดยเฉพาะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

-ถ้าเป็นเบาหวาน ก็เพิ่มโอกาสเป็น Stroke ประมาณ 1.8-2.2 เท่า ถ้าควบคุมเบาหวานได้ดี โอกาสจะลดลง

-กลุ่มคนที่ไขมันในเลือดสูง ทำให้ผนังเส้นเลือดแดงไม่ยืดหยุ่น เกิดการตีบตันง่าย เลือดจึงไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อย ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะทำให้สมองขาดเลือดและเป็นอัมพาตได้

-อายุเกิน 55 ปี ทุก 10 ปีจะเพิ่มโอกาสเป็น Stroke เป็น 2 เท่า

 -สูบบุหรี่เพิ่มโอกาสเป็น Stroke ประมาณ 2 เท่า 

-การดื่มสุรา จะทำให้หลอดเลือดเปราะ หรือเลือดออกง่าย 

-ดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเลือดออกในสมอง

-อ้วนมากไป เสี่ยงต่อการเป็น Stroke

- เคยมีเส้นเลือดสมองตีบ ก็มีโอกาสเป็นได้อีก

ฯลฯ

 

..................

อ้างอิง :  โรงพยาบาลวัฒนา, แพทย์หญิงพรรณวลัย ผดุงวณิชย์กุล อายุรศาสตร์สาขาประสาทวิทยา  มหาวิทยาลัยนเรศวร,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล