ลดน้ำหนักแบบ IF ต้องระวัง! เสี่ยงพฤติกรรมกินผิดปกติไม่รู้ตัว
ปัจจุบันมีวิธีการลดน้ำหนักเกิดขึ้นหลายรูปแบบเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย วิธีการกินแบบ IF ก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยการจำกัดเวลาการกิน แต่ถ้าไม่ระวังก็เสี่ยงมีพฤติกรรมการกินผิดปกติได้
หากพูดถึงการลดน้ำหนักในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายวิธี เพื่อให้รองรับกับพฤติกรรมและความต้องการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และสำหรับคนที่อาจจะไม่มีเวลามากพอในการออกกำลังหรือไม่สะดวกทำอาหารคลีนกินเองเพื่อควบคุมน้ำหนัก ก็มีวิธีลดน้ำหนักแบบ IF หรือ Intermittent Fasting มาจากคำว่า Intermittent แปลว่า ทำอะไรเป็นช่วงเวลา และ Fasting คือ การอดอาหาร มีความหมายรวมกันว่า "การอดอาหารในช่วงเวลาแต่ละวัน" ซึ่งแต่ละวันจะมีการแบ่งเป็นช่วงเวลาของการอด คือ Fasting และช่วงเวลาที่กินได้ คือ Feeding
รูปแบบของIF ที่หลายคนนิยม คือ อดอาหาร 16 ชั่วโมงต่อวัน หรือนับเป็นสัปดาห์ละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งการอดอาหารลักษณะนี้อาจทำให้หิวมากในระยะแรกที่ร่างกายต้องปรับตัวกับการไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน แต่ในช่วงการอดอาหารนั้น สามารถดื่มน้ำเปล่า ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ได้
ตัวอย่าง สูตรการลดน้ำหนักแบบIF ที่ได้รับความนิยม คือ อดอาหารแบบ 16/8 ต้องอดอาหารนานต่อเนื่อง 16 ชั่วโมง และกินได้ 8 ชั่วโมง โดยต้องงดอาหารเช้า และอาจกินมื้อแรกตอนเที่ยง และอาหารมื้อสุดท้ายเวลา 2 ทุ่ม เป็นต้น
แม้ว่าการลดน้ำหนักหรือ การคุมอาหารแบบ IF จะได้รับความนิยมในวงการ เพราะหลายคนมองว่าสะดวก ไม่ต้องออกกำลังกาย แต่ล่าสุดงานวิจัยจากประเทศแคนาดาเปิดเผยว่าการทำ IF นั้น อาจส่งผลให้เกิด “พฤติกรรมการกินผิดปกติ” (Eating disorder)
- เมื่อการทำ IF สัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินผิดปกติ
ในเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือ Eating disorder คือ การกินอาหารที่ผิดปกติ มีความสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะมีความกังวลกับอาหารที่กิน กังวลต่อน้ำหนักตัว กังวลต่อรูปร่าง หรืออื่นๆ อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยกว่าปกติ และยังส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคเกี่ยวกับฮอร์โมน โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น หากมีความรุนแรงมากและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้
หนึ่งในงานวิจัยจากประเทศแคนาดาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Eating Behaviors เปิดเผยว่าแท้จริงแล้วการลดน้ำหนักด้วยวิธีควบคุมการกินแบบ IF นั้น แม้จะเป็นวิธีที่ได้ผลแต่ในบางคนอาจทำให้มีพฤติกรรมการกินผิดปกติได้ โดยผลวิจัยระบุว่าจากกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นชาวแคนาดาทั้งหมด 2,762 คน เป็นผู้หญิงร้อยละ 53.5 อายุเฉลี่ย 23 ปี ผู้ชายร้อยละ 38.4 อายุเฉลี่ย 22.8 ปี และเพศทางเลือกหรือไม่ประสงค์ระบุเพศร้อยละ 8.1 อายุเฉลี่ย 21.8 ปี ประมาณ 48% รู้สึกพอใจกับน้ำหนักในปัจจุบันของตัวเอง และที่เหลืออันดับถัดมามองว่าน้ำหนักเยอะเกินไปเล็กน้อย
นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้วัยรุ่นกลุ่มนี้จะพอใจกับน้ำหนักตัวเอง แต่ยังมีผู้หญิงร้อยละ 57.2 เพศทางเลือกหรือไม่ประสงค์ระบุเพศร้อยละ 47.5 ยังคงหาทางลดน้ำหนักอยู่ ในทางกลับกันกลุ่มผู้ชายที่คิดว่าน้ำหนักตัวปกติแล้วยังมีร้อยละ 44.3 พยายามหาทางเพิ่มน้ำหนักตัวอยู่ และในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ล้มเลิกการทำ IF ไปมากพอสมควร ในช่วงแรกมีผู้หญิงร้อยละ 47.7 ผู้ชายร้อยละ 38.4 และเพศทางเลือกหรือไม่ประสงค์ระบุเพศร้อยละ 52 ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ ผู้หญิงร้อยละ 24.6 ผู้ชายร้อยละ 17.8 และ เพศทางเลือกหรือไม่ประสงค์ระบุเพศร้อยละ 24.1 เท่านั้น
สำหรับเหตุผลที่ทำให้วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้บางส่วนล้มเลิกการลดน้ำหนักมาจาก ทำแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรือใช้วิธีจำกัดอาหารจนรู้สึกว่าไม่เหมาะสมกับร่างกาย เพราะกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้เวลาอดอาหารอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน และที่สำคัญหลายคนมี “พฤติกรรมการกินผิดปกติ” โดยมีผู้หญิงมากถึงร้อยละ 63 ที่ควบคุมการกินของตัวเองไม่ได้ทำให้กินมากเกินไป และในกลุ่มเพศทางเลือกหรือไม่ประสงค์ระบุเพศส่วนใหญ่มักทำให้ตัวเองอาเจียนหรือกินยาถ่ายหลังมื้ออาหารเพื่อไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้นถึงเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อร่างกายทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน
แม้ว่าผลการวิจัยครั้งนี้จะสำรวจเฉพาะวัยรุ่นในแคนาดาเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ เพราะมีหลายคนที่ทำ IF แล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักหรือคุมอาหารด้วย IF ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อน เพราะหากทำอย่างถูกต้องก็จะทำให้ลดน้ำหนักสำเร็จได้
- ข้อดีและข้อเสียของการลดน้ำหนักแบบ IF
แม้ว่าการทำ IF ที่ผิดวิธีหรือเลือกรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับตัวเองอาจทำให้มีความเสี่ยงเรื่องพฤติกรรมการกินผิดปกติได้ แต่ถ้าทำถูกต้องหรือมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วยก็มีข้อดีที่มากกว่าน้ำหนักตัวที่ลดลง
1. เปลี่ยนการทำงานของเซลล์ ยีนส์ และฮอร์โมนให้ดีขึ้น
เนื่องจากระหว่างอดอาหาร ร่างกายจะมีการปรับระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อที่ร่างกายจะได้เข้าถึงเซลล์ไขมันได้ง่ายขึ้น รวมถึงสภาวะของร่างกายระหว่างอดอาหาร มีความเหมาะสมกับกระบวนการซ่อมแซมตัวเองของเซลล์
2. ลดน้ำหนักและ “ลดพุง”
ระหว่างอดอาหาร “ฮอร์โมนอินซูลิน” จะอยู่ในระดับต่ำ แต่โกรทฮอร์โมนและนอร์อะดรีนาลีน จะมีระดับสูงขึ้น ทำให้เผาผลาญไขมันในร่างกายมาเป็นพลังงานได้มากขึ้น
3. ช่วยลดการดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
เมื่อร่างกายไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อกินอาหารเข้าไปก็จะถูกดึงไปใช้เป็นพลังงาน ไปสะสมเป็นไขมันน้อยลง และความเสี่ยงโรคเบาหวานจะน้อยลงตามไปด้วย
4. ลดอัตราเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
การทำ IF ที่เหมาะสมจะช่วยแก้ปัญหาความดันโลหิตสูง เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลดี (HDL) ลดไขมันในเลือด และปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ด้วย
5. ช่วยซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย
ในช่วงที่อดอาหารร่างกายจะมีกระบวนการทำความสะอาดตัวเองเรียกว่า “Waste Removal” หรือ “Autophagy” เป็นการกำจัดเซลล์เก่าและของเสียออกไป ทำให้เซลล์ภายในร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และอัลไซเมอร์
นอกจากความเสี่ยงมีพฤติกรรมการกินผิดปกติแล้ว การทำ IF ยังส่งผลข้างเคียงในด้านอื่นด้วย ได้แก่
- เวียนหัว ทรงตัวได้ไม่ดี หรือเป็นลมเนื่องจากระดับน้ำตาลต่ำ
- อารมณ์ไม่คงที่ มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ไม่มีสมาธิ
- อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้วทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ต้องกินยาเป็นประจำ
- ไม่เหมาะกับวัยรุ่นที่อายุไม่ถึง 19 ปี ซึ่งประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากยังอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการสารอาหารเพื่อมาพัฒนาร่างกาย แต่ในกลุ่มตัวอย่างงานวิจัยของแคนาดาข้างต้นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดกลับมีอายุเพียง 16 ปี เท่านั้น
ดังนั้นอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าการลดน้ำหนักแบบ IF ทำให้มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ แต่เป็นแค่เพียงความเสี่ยงจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเท่านั้น แต่ก็อย่าเพิ่งไว้วางใจ หากใครสนใจการลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้ก็สามารถทำได้ เพราะข้อดีของ IF นั้นมีค่อนข้างมาก แต่การหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจก็เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้การกินอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับการออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้
อ้างอิงข้อมูล : Science Direct, Fitterminal, พบแพทย์, รพ.เทพธารินทร์ และ Fitterminal (2)