เตรียมพร้อมปาร์ตี้ปีใหม่ ไม่แฮงค์ ไม่เสียสุขภาพ หุ่นไม่พัง

เตรียมพร้อมปาร์ตี้ปีใหม่ ไม่แฮงค์ ไม่เสียสุขภาพ หุ่นไม่พัง

"ปีใหม่" เป็นเทศกาลที่ทุกคนจะได้เฉลิมฉลอง เพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง ช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกสนานและการสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและครอบครัว ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ หากรู้จักเตรียมตัวให้พร้อม ปาร์ตี้แบบไม่เสียสุขภาพ

หลายคนนิยมขับรถออกต่างจังหวัดกลับบ้านหรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกันในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่  และด้วยจำนวนรถปริมาณมาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สภาพอากาศ และปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังเรื่องอุบัติเหตุอย่างใกล้ชิด 

 

5 ทริค เตรียมร่างกายพร้อมก่อนออกเดินทางช่วงปีใหม่

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ 

เพราะหากพักผ่อนน้อยอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการหลับใน ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตกับผู้ขับขี่ และผู้ใช้ถนนคนอื่นก็เป็นได้

 

  1. ศึกษาเส้นทางก่อนออกเดินทาง 

ว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านใดบ้าง เพราะในแต่ละพื้นที่จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

 

  1. หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเดินทาง

และควรเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ก็จะสามารถรักษาได้อย่างตรงวิธี

 

  1. ออกกำลังกายก่อนออกเดินทาง 

เพื่อให้ร่างกายรู้สึกไม่อ่อนเพลียเมื่อต้องขับรถหรือนั่งรถเป็นเวลานาน

 

  1. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงระหว่างการเดินทาง

เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่อันตรายถึงชีวิตตามมา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนงานปาร์ตี้ปีใหม่

ก่อนจะเริ่มงานปาร์ตี้อย่างสุดเหวี่ยง งานเลี้ยงสุดฟิน  อย่าลืมเตรียมพร้อมร่างกายให้รับมือกับความสนุกสนานเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็น 

  • การไม่อดอาหารก่อนไปงานปาร์ตี้  

เพราะนอกจากจะทำให้หิวจัดจนลืมตัวรับประทานอาหารมากเกินไป  ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือหน้ามืดเป็นลมได้ ถ้าในงานเสิร์ฟอาหารช้า ก็ควรรับประทานอาหารรองท้องเล็กน้อยก่อนไปงาน ปาร์ตี้ โดยเลือกรับประทานผลไม้ไม่หวานจัด เช่น แอปเปิล หรือ ฝรั่ง  1 ผล เพื่อป้องกันไม่ให้หิวจัดเมื่อไปถึงงาน โดยเฉพาะเมื่อเห็นหน้าตาและกลิ่นหอมของอาหาร  (สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานการรับประทานอาหารล่วงหน้าไปบ้างจะช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป)

 

  • ดื่มน้ำเปล่า น้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาล ก่อนไปปาร์ตี้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง  

เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ จนต้องมองหาเครื่องดื่มในงานเลี้ยงที่มักเป็นน้ำหวานและแอลกอฮอล์

 

  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่คับแน่นจนหายใจไม่ออก หรือหลวมจนคิดว่าตัวเองผอม

นอกจากนี้การใส่ชุดพอดีตัวยังจะช่วยประเมินว่าคุณรับประทานอาหารในงานมากเกินไปหรือไม่

 

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

เพื่อสร้างความแข็งแรงก่อนต้องไป ปาร์ตี้ ดึกดื่นที่ติดต่อกันหลายวันในช่วงเทศกาล

 

  • ผู้ป่วยที่โรคประจำตัว 

ควรเตรียมยาหลังอาหารหรือยาอื่นๆ ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย

 

  • ตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความแข็งแรงของร่างกาย 

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ก็ควรพกยาติดตัวไปด้วย ส่วนผู้ป่วยเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์เพื่อควบคุมโรคให้คงที่และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

อย่าลืม!ควบคุมตัวเองระหว่าง ปาร์ตี้ปีใหม่

  • ขอให้ทุกคนจำไว้เสมอว่า ไม่จำเป็นต้องลองอาหารทุกอย่างในงาน เพราะแม้จะบอกตัวเองว่ารับประทานอย่างละนิดละหน่อย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารเพียงคำสองคำเมื่อรวมกันแล้วอาจมากกว่าการรับประทานอาหารจานหลัก 1 จานเสียอีก
  • เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น สลัดน้ำใส ถั่วคั่วไม่ใส่เกลือ แทนอาหารไขมันเยิ้มอย่าง ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย พิซซ่า
  • ดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำสมุนไพรปราศจากน้ำตาล แทนน้ำอัดลม และน้ำหวาน
  • ตักอาหารให้พอดี ไม่ต้องเผื่อใคร เนื่องจากพอต่างคนต่างเผื่อ เมื่อตักอาหารมาแล้วก็ต้องรับประทานให้หมด ซึ่งอาจทำให้ต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป
  • เคี้ยวอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้อาหารย่อยง่ายขึ้น
  • ถามตัวเองทุกครั้งก่อนตักอาหารเพิ่มว่าอิ่มหรือยัง เพราะปกติสมองจะสั่งการว่าอิ่มแล้วหลังจากรับประทานอาหารไปประมาณ 20 นาที
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป ในช่วงเทศกาลแบบนี้ พี่หมอแนะนำว่าสำหรับผู้หญิงไม่ควรดื่มมากกว่า 1 ดริงค์ต่อวัน และ 2 ดริงค์ต่อวันสำหรับผู้ชาย ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด

สำหรับผู้ป่วยโรคประจำตัว อย่าอายที่จะปฏิเสธหรือบอกถึงข้อจำกัดของโรค เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด จนหมดสนุกหากไม่สามารถรับประทานอาหารบางชนิดหรือร่วมกิจกรรมบางประเภทได้

เช่น ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทมากเกินไป ผู้มีความดันโลหิตสูงและโรคไตควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเค็ม ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด ผู้ป่วยไส้เลื่อนอาจไม่สามารถเต้นรำในจังหวะที่สนุกสนานมากนัก

 

หลังปาร์ตี้ผ่านพ้นไป ดูแลสุขภาพอย่างไร? ไม่ให้ลงพุง

หลังงาน ปาร์ตี้ปีใหม่ ควรรอให้อาหารย่อยอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อหลีกเลี่ยงกรดไหลย้อน และไขมันสะสมบริเวณท้อง

ธัญวรินทร์ ตั้งเสริมวงศ์ นักวิชาการโภชนาการ หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เทศกาลปีใหม่นิยมกินเลี้ยงสังสรรค์เพื่อฉลองกับพุทธศักราชใหม่ ถือเป็นเทศกาลแห่งความสุขกายสบายใจ แต่ในบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกันหากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นการรับประทานมากเกินไปที่ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา

  • ในงานเลี้ยงมักมีอาหารหลากหลายและจำนวนมาก
  • อาหารเหล่านั้นมีทั้งประโยชน์และโทษต่อรูปร่างและสุขภาพ
  • ไม่ควรทานอาหารทุกอย่างที่มีอยู่ในงานเลี้ยง
  • ควรเลือกทานเฉพาะอาหารที่ส่งผลต่อน้ำหนักให้น้อยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากและอาหารรสหวานจัด
  • ควรทานอาหารในปริมาณที่พอดีหลีกเลี่ยงการทานปริมาณมากเกินไป

 

เช็กวิธีการแก้แฮงค์ ที่นักดื่มไม่ควรพลาด

สำหรับ วิธีแก้แฮงค์ นั้น จากงานวิจัยมากมาย ระบุว่า ไม่มียาลดการเมาใดๆ หรือยาสูตรสำเร็จแก้อาการเมาค้างได้ผล 100% ดีที่สุดคือดื่มแต่น้อย ส่วนวิธีที่มักนิยมใช้แก้อาการ เมาค้าง เช่น

  • ดื่มน้ำเปล่าครั้งละ 1-2 แก้ว บ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปวดปัสสาวะ และน้ำจะพาสารตกค้างจากแอลกอฮอล์ออกมากับปัสสาวะ บางคนอาจดื่มชาร่วมด้วย เพราะชามีฤทธิ์ขับปัสสาวะอ่อนๆ
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก อาจพอช่วยลดอาการเมาค้างได้บ้าง
  • ดื่มน้ำผักและผลไม้ปั่น รสออกเปรี้ยวหวาน อาจช่วยได้ เนื่องจากเราจะสูญเสียวิตามินแร่ธาตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ จนทำให้มีอาการอ่อนเพลียได้ หรืออาจใช้วิตามินชนิดเม็ดฟู่ละลายน้ำดื่มก็สามารถทำได้ไม่มีข้อห้าม
  • สำหรับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน การดื่มน้ำขิง ชามินต์ อาจช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
  • วิตามินอาหารเสริม ที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี แมกนีเซียม และกรดอะมิโนแอล-ซีสเทอีน (L-Cysteine)
  • หากมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ร่วมด้วย สามารถทานยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟ่น หรือยาตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนซื้อยา เพื่อซักถามประวัติการแพ้ยาอย่างละเอียดก่อนที่จะทาน
  • สำหรับกาแฟนั้น อาจไม่ได้ช่วยทำให้อาการแฮงค์ดีขึ้น แต่อาจทำให้เราตื่นตัว แต่ถ้าร่างกายยังพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนน้อย เมื่อหมดฤทธิ์กาแฟ จะทำเพลียหนักมากกว่าเดิมถ้ายังฝืนทำงานต่อ

 

ที่มา: โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลเปาโล