เช็กวิธีดูแล "ผิวหนังผู้สูงอายุ" ปัญหาใกล้ตัวที่พบได้บ่อย
แนะวิธีดูแลผิวในผู้สูงอายุจากปัญหาโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้ง ผื่นคันจากอาการแพ้ ผมร่วงและคันศีรษะจนถึงมะเร็งผิวหนัง หากมีตุ่ม ก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง หรือพบว่าไฝมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน มีเลือดออก ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังทันที
ในช่วงวันที่ 13 – 17 ม.ค.2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศว่า อากาศจะเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ซึ่งด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมา ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก
“โรคผิวหนัง” เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดในกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมาก เพราะผู้สูงอายุกมักมีอาการคันได้ง่ายกว่าหนุ่มสาวเนื่องจากต่อมไขมันและต่อมเหงื่อทำงานลดลง ผิวหนังจึงแห้ง ขาดน้ำ ทำให้เกิดขุยและอาการคัน พบมากในบริเวณขา แต่อาจพบที่มือหรือลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดเป็นภาวะผิวหนังแห้งและอักเสบ เกิดการแดง ลอก และคันมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเกาจนทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
โรคผิวหนังผู้สูงอายุ ที่พบบ่อย เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น อาการคันจากผิวแห้ง (Xeroderma) ผื่นคันจากการแพ้ (Atopic dermatitis) กระเนื้อ (Seborrhoeic keratoses) เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรครำคาญใจ แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีดูแลสุขภาพผิว
แนะวิธีดูแล “อาการแพ้เหงื่อตัวเอง” จากภูมิแพ้ผิวหนัง
“เกษียณมาร์เก็ต” ตลาดนัดวัยเก๋า สร้างสุข -อาชีพชุมชนเพื่อนสูงวัย
ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังผู้สูงวัย
ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน
โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีสุขภาพแข็งแรง ยังทำงานได้เหมือนหนุ่มสาว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิม แต่ร่างกายมีการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะผิวหนังจะพบมีการเหี่ยวย่น ตกกระ มีจุดด่างดำและจุดขาว ดังนั้นการดูแลผิวที่ถูกวิธีจึงจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากโรคผิวหนังส่วนใหญ่มีอาการเรื้อรังทำให้ต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ
ผิวหนังของผู้สูงวัยจะมี่การเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- ผิวซีดลงเนื่องจากเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) ทำงานลดลง แต่จะมีการสะสมเป็นจุด ๆ โดยเฉพาะส่วนที่ถูกแสงแดดมาก ทำให้เกิดเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายตามผิวหนังได้
- เกิดเนื้องอกซึ่งเรียกว่า “กระเนื้อ” เพิ่มขึ้น
- ต่อมไขมันและต่อมเหงื่อทำงานลดลง ทำให้รูขุมขนกว้าง ผิวแห้ง เป็นขุย บางครั้งเกิดอาการคัน แพ้สิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย
- ผิวหนังบางลง คอลลาเจนและอีลาสตินลดลง ทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นลดลง เกิดริ้วรอย ร่องแก้ม ร่องใต้ตา ผิวเปราะแตก ฉีกขาดเป็นแผลได้ง่าย
- เมื่อเกิดแผลจะหายได้ช้ากว่าในวัยหนุ่มสาว
- หลอดเลือดเปราะ ฟกช้ำ หรือมีเลือดคั่งใต้ผิวหนังได้ง่าย
- เล็บแข็งและหนา สีเข้มขึ้น แต่เปราะ ผุ หักง่าย
- การรับความรู้สึกที่ผิวหนังลดลง ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ
โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดโรคผิวหนังหรือภาวะบางชนิดได้ง่ายขึ้น โดย โรคหรืออาการทางผิวหนังที่มักพบในผู้สูงอายุ
1. ผิวหนังเหี่ยวย่น
เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ เกิดจากการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินบริเวณผิวหนังลดลง และมีปัจจัยกระตุ้นคือการใช้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าในการแสดงอารมณ์ การถูใบหน้าแรง ๆ เป็นประจำ การสัมผัสแสงแดด
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงแสงแดดหรือใช้ครีมกันแดดที่มี SPF ที่เพียงพอเมื่อจำเป็นต้องออกแดด
- หลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์หรือลักษณะนิสัยที่ทำให้เกิดรอยย่น เช่น การขมวดคิ้ว การสูบบุหรี่ รวมถึงการถูบริเวณใบหน้าเป็นประจำ
- การใช้ครีมเพื่อป้องกันริ้วรอย หรือการฉีดสารประเภทโบทูลินัม ทอกซิน (โบท็อกซ์) เพื่อป้องกันริ้วรอย
วิธีรักษา
- การใช้ครีมหรือโลชั่นอาจช่วยได้แต่เป็นส่วนน้อย อาจมีการฉีดสารเพื่อเติมเต็มร่องและริ้วรอยบริเวณใบหน้า การใช้แสงเลเซอร์ หรือการทำศัลยกรรมใบหน้า
2. อาการคันจากผิวแห้ง (Xeroderma)
เกิดจากต่อมไขมันและต่อมเหงื่อทำงานลดลง ผิวหนังจึงแห้ง ขาดน้ำ ทำให้เกิดขุยและอาการคัน พบมากในบริเวณขา แต่อาจพบที่มือหรือลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดเป็นภาวะผิวหนังแห้งและอักเสบ (Xerotic eczema) เกิดการแดง ลอก และคันมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเกาจนทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
วิธีป้องกัน
- ไม่อาบน้ำนานเกินไป ใช้น้ำอุ่นแต่ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่อาบน้ำบ่อย และไม่ขัดถูผิวหนังแรง ๆ
- ใช้สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับผิวแห้ง
- ทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว หรือครีมที่มีส่วนผสมของยูเรีย (Urea cream)
- หากอากาศแห้งควรใช้เครื่องเพิ่มความชื้น
- หลีกเลี่ยงการเกาเนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลและติดเชื้อได้
วิธีรักษา
- โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นหากผิวหนังได้รับความชุ่มชื้นอย่างเพียงพอ แต่หากอาการคันยังมีอย่างต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคอื่น ๆ เช่น พร่องฮอร์โมนไทรอยด์ การแพ้หรือผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้
3. ผื่นคันจากการแพ้ (Atopic dermatitis)
พบได้มากในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ผื่นคันจากการแพ้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี อาหารทะเล สัตว์เลี้ยง อุณหภูมิ หรือยาที่ใช้ประจำ ผื่นคันมักเป็นบริเวณข้อพับ เป็นผื่นแดง นูน และก่อให้เกิดอาการคันมาก
วิธีป้องกัน
- สังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดการแพ้ หากไม่พบสาเหตุหรือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำการทดสอบและรักษา โดยการค่อย ๆ ปรับเพิ่มการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการแพ้ (desensitization)
วิธีรักษา
- หากเป็นในบริเวณไม่มาก สามารถรักษาด้วยการทายาสเตียรอยด์ได้ แต่หากเป็นในบริเวณกว้างการทายาสเตียรอยด์อาจไม่ครอบคลุม อาจพิจารณาใช้ยากลุ่มยาแก้แพ้แต่ต้องระวังผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่น ง่วงซึม การใช้ยาสเตียรอยด์แบบรับประทานควรใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการใช้เท่านั้น
4. ผิวหนังเปลี่ยนสี จุดด่างดำในผู้สูงอายุ (Senile lentigo หรือ Age spots)
เกิดจากการรวมตัวของเม็ดสีผิดปกติในผิวหนัง มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงเข้ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยทั่วไปจะเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร โดยจะพบมากในผู้มีประวัติครอบครัวมีผิวหนังเปลี่ยนสีมาก่อน และจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุโดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น คอ หน้า และหลังมือ
เป็นผื่นราบสีน้ำตาลขนาดเล็กขอบเรียบรูปร่างกลมซึ่งปรากฎที่หน้า คอ หรือ หลังมือในคนแก่จำนวนมาก สาเหตุเกิดจากมีเม็ดสีในผิวหนังมากขึ้นที่ผิวหนังบริเวณนั้น ผื่นเหล่านี้ไม่มีอันตรายแต่อย่าง ใด แม้ว่าผื่นเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการมีอายุมากขึ้น แต่สาเหตุหลักของผื่นชนิดนี้ไม่ใช่อายุแต่เป็นการสัมผัสแสงแดดและลมมาเป็นเวลาหลายปี
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมและแสงแดดเนื่องจากเป็นตัวกระตุ้นโดยตรงของภาวะนี้
วิธีรักษา
- โดยทั่วไปมักไม่มีอันตรายจึงไม่ต้องรักษา เว้นแต่เพื่อความสวยงาม แต่หากเส้นผ่านศูนย์กลางมีขนาดใหญ่มาก มีการนูนผิดปกติ หรือมีความไม่สม่ำเสมอของสี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งผิวหนัง
5. สิวในผู้สูงอายุ (Senile comedone)
เป็นลักษณะสิวอุดตันหัวปิด เห็นเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ รวมตัวกัน หรือเป็นสิวหัวเปิดสีขาว โดยไม่ค่อยมีลักษณะการอักเสบ มักพบบริเวณตาและโหนกแก้มที่ถูกแสงแดดมาก พบในคนสูงอายุ ที่โดนแสงแดดมาก และ นานๆ เช่น ชาวนา ชาวสวน
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ใช้ครีมกันแดดโดยเฉพาะชนิดที่ไม่มีน้ำมันเมื่อจำเป็นต้องออกแดด
วิธีรักษา
- ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนวันละสองครั้ง อาจพบแพทย์เพื่อพิจารณาสั่งยาทาประเภท Retinoid อาจใช้การรักษาโดยการจี้แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
6. กระเนื้อ (Seborrhoeic keratoses)
มีลักษณะนูน กลมหรือรี สีเข้ม มักพบบริเวณใบหน้า อก คอ หลัง อาจมีอาการคันได้เล็กน้อย นอกจากนั้นบางคนยังพบลักษณะเป็นรอยนูนคล้ำขนาดเล็ก ลักษณะเป็นเนื้องอกซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า คอ และลำตัว กระเนื้อ พวกนี้ไม่มีอันตรายนอกจากไม่น่าดู ถ้ารู้สึกว่ารำคาญลูกนัยน์ตาก็ควรจะปรึกษา แพทย์เพื่อเอาออก
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเนื้องอกขึ้นอย่างผิดปกติบริเวณผิวหนัง หรือเมื่อเกิด ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังในผู้สูงอายุ เช่น ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง หรือการแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย และการเป็นผู้สูงอายุการตอบสนองต่อการรักษาจะไม่สู้ดีนัก แผลมักจะหายช้า ดังนั้นการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด
วิธีรักษา
- โดยทั่วไปมักไม่มีอันตรายจึงไม่ต้องรักษา เว้นแต่เพื่อความสวยงาม โดยแพทย์จะรักษาด้วยเลเซอร์ CO2 หรือความเย็นจี้ อย่างไรก็ตาม กระเนื้ออาจมีขนาดใหญ่และแยกออกยากจากมะเร็งผิวหนัง จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและแยกโรค
7. แผลและการติดเชื้อ
เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีผิวหนังที่บางและเปราะ ฉีกขาดง่าย จึงเกิดแผลได้ง่าย และเมื่อมีแผลก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง
การป้องกัน
- ระวังกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดแผล หลีกเลี่ยงการจับ ถู กระแทกผิวหนังแรง ๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่นุ่มปกคลุมผิวหนังเพื่อป้องกันการเกิดแผล
การรักษา
- หากมีแผลควรทำความสะอาดแผลให้สะอาด ป้องกันการติดเชื้อ อาจไปพบแพทย์เพื่อรักษาและพิจารณาสั่งยาฆ่าเชื้อ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารอย่างเพียงพอเพื่อช่วยในการหายของแผล
8. มะเร็งผิวหนัง
พบได้หลายชนิด สัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และการถูกแสงแดด
10 วิธีดูแลผิวหนังสำหรับผู้สูงวัย
1.เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในการดูแลผิว โดยเลือกชนิดที่อ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม และมีความชุ่มชื้น เช่น ครีม Sixtysense
2.การเลือก moisturizer ในผู้สูงอายุ ผิวของผู้สูงอายุมักจะแห้ง ควรเลือก moisturizer ดังนี้
- ประเภทเคลือบผิวหนังปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน (occlusive) ออกฤทธิ์ปิดกั้นการซึมผ่านของน้ำในผิวหนังออกสู่ภายนอก เมื่อทาบนผิวหนังจะคลุมผิวหนัง ทำหน้าที่คล้ายเกราะอ่อนๆ ป้องกันสารเคมีไม่ให้ระคายผิวหนั/สังเกตสารที่ระบุข้างขวด สารประเภทนี้ ได้แก่ lanolin, petroleum และ mineral oil
- ประเภทดูดน้ำให้ผิวหนัง (humectant)จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง โดยการจับน้ำจากบรรยากาศ และรักษาน้ำบนผิวหนังไว้ไม่ให้ระเหยไป สารกลุ่มนี้ได้แก่ lactic acid, urea, glycerol และ polyol
- ประเภทป้องกันแสงแดด (sun block) มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีสารกันแดดผสมอยู่ จะช่วยป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตเอ และบี (UVA, UVB) ที่มาทำลายผิวหนังที่มีมอยส์เจอร์ไรเซอร์ตามธรรมชาติ สารประเภทนี้ได้แก่ Titanium dioxide, Ocyl Methoxycinnamate, Ethylhexyl p-Methoxycinnamate เป็นต้น
3.อาบน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นพอดี เว้นการขัดถูอย่างรุนแรงที่บริเวณผิวหนัง
4.เช็ดตัวแค่พอหมาดก่อนใช้มอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิว
5.ใช้เครื่องสร้างความชื้น (humidifier) เมื่ออากาศแห้ง
6.ใส่ถุงมือ หมวก เสื้อแขนยาว โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ปกคลุมผิวและทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 เป็นอย่างน้อย เมื่อจำเป็นต้องออกแดดหรือตากแดดนาน ๆ ควรหาที่ร่มและไม่ออกแดดในเวลาแดดจัด เช่น 10.00-14.00 น.
7.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
8.หมั่นตรวจสอบผิวหนังของตนเองสม่ำเสมอ หากมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์
9.พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด รับประทานอาหารครบห้าหมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
10.หากมีความกังวลเกี่ยวกับผิวหนัง ริ้วรอย จุดหรือรอยดำ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การยกกระชับ การทำเลเซอร์เพื่อความกระจ่างใสและลดรอยดำ ลดริ้วรอยต่าง ๆ ได้
อ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , โรงพยาบาลสมิติเวช