ภัยร้ายอาหารเสริม "วิตามินบี 6" กินเกินขนาด อาจเสี่ยงเส้นประสาทอักเสบ
กิน "วิตามิน" เยอะไปก็ไม่ดี! เมื่อคุณตาชาวออสซี่กิน "วิตามินบี 6" เกินปริมาณกำหนด 70 เท่า จนเกิดภาวะ “วิตามินเป็นพิษ” ส่งผลให้ปลายประสาทอักเสบ แต่ไม่ใช่จะเกิดกับทุกคนเพราะเป็นโรคหายาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อาหารเสริม” จำพวกวิตามินแบบเม็ดต่างๆ ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะคนเมืองที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ขาดการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ก็มักจะหาตัวช่วยอย่างวิตามินเสริมต่างๆ มากินบำรุงร่างกาย
แต่อย่าลืมว่าอะไรที่มากไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะการกินวิตามินที่เกินปริมาณกำหนด แทนที่จะช่วยบำรุงสุขภาพแต่กลับกลายเป็นพิษต่อร่างกาย
หนึ่งในเคสตัวอย่างที่น่าจะช่วยเตือนใจสายโหลดวิตามินได้ดี ก็คือเคสของคุณตาวัย 86 ปี ในประเทศออสเตรเลีย ที่เข้าพบแพทย์ด้วยอาการขาชา สูญเสียความรู้สึกที่ขา ไม่สามารถเดินได้
- เปิดโรคหายาก “วิตามินเป็นพิษ” จากการกินวิตามินบี 6 เกินขนาด
โดยเคสดังกล่าวแพทย์ในออสเตรเลียวินิจฉัยพบว่า สาเหตุมาจากการบริโภค “วิตามิน B6” สูงถึง 70 เท่าของปริมาณกำหนด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ “วิตามินเป็นพิษ” ส่งผลให้ปลายประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว และทำให้เดินไม่ได้ในที่สุด
ตามรายงานของ ABC Radio Melbourne สื่อวิทยุท้องถิ่นในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (ณ ส.ค. 2565) อ้างถึงคำบอกเล่าของ “อิลิสัน เทย์เลอร์” ลูกสาวคนป่วยรายนี้ซึ่งกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พ่อของเธอสามารถเดินได้ปกติ แต่จากการไปตรวจสุขภาพครั้งหนึ่ง แพทย์ระบุว่าพ่อของเธอขาดวิตามินบี 6 จึงสั่งอาหารเสริมวิตามิน B6 ขนาด 50 มก. ให้กลับไปกินบำรุงร่างกาย ซึ่งพ่อของเธอก็กินติดต่อกันเป็นเวลานาน
ขณะเดียวกันพ่อของเธอยังกินอาหารเสริมอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ อาหารเสริมแมกนีเซียมซึ่งมี “วิตามิน B6” รวมอยู่ในนั้น แถมยังรับประทานซีเรียลอาหารเช้าที่เสริมวิตามิน B6 ในทุกๆ วันอีกด้วย
ภายในเวลาไม่กี่เดือน ชายวัย 86 ปีคนนี้ก็เริ่มสูญเสียความรู้สึกที่ขา เคลื่อนไหวขาไม่ได้เหมือนแต่ก่อน และเดินไม่ได้ในที่สุดจนต้องเข้าพบแพทย์ ซึ่งต่อมาพบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะ “Vitamin B6 toxicity” แต่ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวพบได้ยาก ไม่ใช่ว่าทุกคนที่กินวิตามิน B6 จะมีอาการป่วยในลักษณะเดียวกัน
ยืนยันจาก “เจสสิกา ดานาเฮอร์” นักวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการและนักโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัย RMIT ประเทศออสเตรเลีย ที่ระบุว่า ความเป็นพิษของวิตามิน B6 นั้นพบได้ยาก เนื่องจากหากคนเราได้รับวิตามินมากเกินความจำเป็น วิตามินส่วนเกินเหล่านั้น ก็จะถูกขับออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ
- แค่กินอาหารครบ 5 หมู่ ก็ได้วิตามินบี 6 เพียงพอ
อย่างไรก็ตามระดับที่วิตามินจะก่อเกิดเป็นพิษนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทาน B6 จากอาหารเสริมมากเกินไปในระยะยาว ในบางกรณี หากผู้ที่กินวิตามินเป็น “ผู้สูงอายุ” ที่การทำงานของไตที่ลดลง หากได้รับวิตามินชนิดนี้มากเกินไป อาจนำไปสู่การค่อยๆ สะสมในร่างกายจนเป็นพิษได้
นักโภชนาการแนะนำเพิ่มเติมว่า คนทั่วไปได้รับวิตามิน B6 อย่างเพียงพอในแต่ละวันอยู่แล้ว โดยวิตามิน B6 มีมากในอาหารหลากหลายประเภท เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเลนทิล เมล็ดพืช ธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียว และผลไม้
ส่วนการรับประทานอาหารเสริมวิตามิน B6 ที่ถูกต้องนั้น ในข้อมูลทางการแพทย์แนะนำว่า คนทั่วไปควรรับประทานเพียง 1.7-1.9 มก.ต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่แนะนำทั้งในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา
อีกทั้งมีข้อมูลงานวิจัยจาก National Library of Medicine ระบุว่า การได้รับวิตามิน B6 จากอาหารทั่วไปจะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ ส่วนกรณีที่เกิดภาวะวิตามิน B6 เป็นพิษนั้น มาจากการกินอาหารเสริมวิตามิน B6 ที่เกินขนาด
แม้กระทั่งในกรณีที่แพทย์สั่งจ่ายวิตามิน B6 เพื่อใช้รักษาโรค ซึ่งปกติจะใช้ร่วมกันกับยาต้านแบคทีเรีย isoniazid แพทย์ก็จะจ่ายวิตามิน B6 ในขนาด 10-25 มก.ต่อวันเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่า เคสชาวออสซี่ที่กิน B6 เกินขนาด (50 มก.) เป็นเวลานานหลายเดือนดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุทำให้มีอาการป่วยดังกล่าว
ทั้งนี้ หากย้อนกลับมามองสถานการณ์การบริโภค “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ของคนไทย พบข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่ระบุว่า ในปี 2564 ประชากรไทยประมาณ 1.8 ล้านครัวเรือน มีการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภค เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 149.3% โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,036 บาทต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการให้ความสำคัญกับสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะซื้ออาหารเสริมมาบริโภค ก็ควรศึกษาข้อดี ข้อเสีย และวิธีการกินวิตามินต่างๆ ที่ถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญ ไม่ควรกินวิตามินเกินกว่าปริมาณที่กำหนด หากไม่ระวัง แทนที่จะได้ประโยชน์จากมัน แต่อาจได้โรคร้ายกลับมาแทน
----------------------------------------
อ้างอิง : Insider, National Libraly of medicine, MayoClinic.org, ABC News Australia