เปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR)
แพทย์จุฬาฯ ผนึก ทรู ดิจิทัล ดึงเทคโนโลยี AR เสริมประสิทธิภาพด้านการแพทย์ เปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR)
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด แถลงข่าว Augmented Reality Hololens for CPR การเปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน โดยมีศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด , ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.นพ.ตุลชัย อินทรัมพรรย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง โดยภายในงานมีกิจกรรมการฝึกสอนการกู้ชีพพื้นฐานกับหุ่นจำลองให้แก่ประชาชนทั่วไป
ศ.พญ.บุรณี กล่าวว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์คุณธรรมที่มีการพัฒนาต่อยอดในการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการ การรักษา จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด และบ่อยครั้งที่การพัฒนาทางการแพทย์ต่างๆ เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รพ.ไทยนครินทร์ เดินหน้านวัตกรรม รับ 5 เทรนด์ "Healthcare" แห่งอนาคต
ชะลอวัยแบบย้อนกลับ ทางเลือกใหม่คนไม่อยาก“แก่”
พัฒนาโซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กลุ่มทรู ได้ส่งมอบแพลตฟอร์มระบบคัดกรองเบื้องต้น ประเมินความเสี่ยงติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยอุปกรณ์ เทคโนโลยี และระบบสื่อสารเพื่อการแพทย์ เพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ในการให้บริการด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบ VDO Conference เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้สื่อสารและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน รวมทั้งใช้ในการเรียนการสอนทางไกลแก่นิสิตแพทย์จุฬาฯ พร้อมกับติดตั้งโครงข่ายทรู 5G เพิ่มประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ติดต่อสื่อสารให้บริการผู้ป่วยในช่วงภาวะวิกฤตอีกด้วย โดยในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรได้มีความร่วมมือกับกลุ่มทรู อีกครั้ง
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มุ่งมั่นนำระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรู พร้อมความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ผสานความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
โดยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ทรู ดิจิทัล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาโซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะในวิกฤตฉุกเฉิน ด้วยการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ระดับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเสริมภาพจำลองบนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ AR (Augmented Reality) เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์ให้สมจริงยิ่งขึ้น
ทรู ดิจิทัล ยกระดับมาตรฐานการฝึกกู้ชีพ
โซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR สามารถตรวจวัดความแรงและความถี่ของการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR) ผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ทั้งยังมีการจัดเก็บข้อมูลการฝึก นำไปวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อเพิ่มพูนทักษะของผู้ฝึก พร้อมกันนี้ แว่น AR ยังมีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ พร้อมบททดสอบภาคปฏิบัติ ที่ช่วยให้ผู้ฝึกพัฒนาการเรียนรู้และคุ้นเคยกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยลดความตื่นตระหนกและตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น
โดยทรู ดิจิทัล พร้อมเดินหน้าต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชันให้มีฟังก์ชันเพิ่มขึ้น และขยายการใช้งานโซลูชันในวงกว้างมากขึ้นต่อไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับและมาตรฐานการฝึกกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่มีความสําคัญยิ่งต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นให้มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
ผศ.นพ.สุชัย เผยว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นยังคงเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิต ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ในสหรัฐอเมริกามีอัตราอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 356,000 คน ต่อปี ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสถานที่พักของผู้ป่วย มีเพียง 9% ที่สามารถรอดชีวิตและสามารถกลับบ้านได้ และมีแค่ 7% เท่านั้นที่สามารถที่กลับบ้านได้โดยที่มีการใช้ชีวิตได้ตามปกติ (good functional status)
เนื่องจากพบว่าผู้ที่เริ่มทําการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกเป็นผู้ที่ยังขาดประสบการณ์ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานถึง 40% และมีผู้ที่ใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเป็น เพียง 9% เท่านั้น
"สำหรับประเทศไทยแม้ไม่มีการศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นแน่ชัด แต่เคยมีการศึกษาในปี 2013 พบว่า 145 คน ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีเพียง 7.6% เท่านั้นที่สามารถกลับบ้านได้ ดังนั้น การฝึกให้มีทักษะในการช่วยชีวิตพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงมีความสําคัญยิ่งต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ปัจจุบันแม้จะมีการฝึกการกู้ชีพพื้นฐานมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงมีหุ่นจําลองที่เป็นมาตรฐานในการฝึกฝนทักษะการกดหน้าอกแต่ยังขาดความสมจริงหลายประการ" ผศ.นพ.สุชัย กล่าว
ความสามารถในการช่วยชีวิตของผู้ประสบเหตุ และอัตราการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจเองนั้นยังถือว่าน้อยมาก โดยอาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ อาจจะเป็นผลมาจากการไม่มีความรู้ที่เพียงพอ ขาดทักษะ ขาดความมั่นใจ หรือกลัวการถูกฟ้องร้อง
เช็กการทำงานเบื้องต้นของ CPR
สำหรับการใช้งานเบื้องต้นของ Augmented Reality Hololens ผศ.นพ.ตุลชัย อินทรัมพรรย์ ได้อธิบายตามขั้นตอนดังนี้
- สวมแว่นครอบศีรษะ ให้แว่นอยู่ในระดับสายตา ปรับอุปกรณ์ให้กระชับโดยหมุนบริเวณปุ่มด้านหลังศีรษะ
- เข้าสู่หน้า Home เลือก Application CPR
- สแกน QR code เพื่อตั้งค่าตำแหน่งอ้างอิงของภาพสามมิติคนไข้หมดสติ จะปรากฏการ์ตูน 2 มิติเบื้องหน้าผู้ใช้งาน แสดงสถานการณ์สมมติก่อนเกิดเหตุผู้ป่วยหมดสติขึ้น
- ฝึกกดหน้าอกกู้ชีพ โดยจะมี UI แสดงภาพนาฬิกาจับเวลา 2 นาที, แถบวัดความลึกในการกดหน้าอก และอัตราเร็วในการกด ซึ่งเป็นข้อมูลป้อนกลับทันที
- เมื่อฝึกครบ 2 นาที หน้าจอจะปรากฎสรุปการฝึกกดหน้าอกกู้ชีพ โดยแสดงผล % ที่สามารถกดหน้าอกได้เหมาะสม แยกเป็นด้านความลึก, อัตราเร็ว และการขัดจังหวะน้อยกว่า 10 วินาที โดยจะผ่านเมื่อทำได้เหมาะสมทั้ง 3 ปัจจัย โดยเกณฑ์การผ่านคือ ทำได้เหมาะสมมากกว่า 75% สำหรับความลึก และอัตราเร็ว
- ก่อนสิ้นสุดการฝึกจะปรากฏคำถามเพื่อวัดความรู้พื้นฐานหลังเรียน
ประโยชน์จากเทคโนโลยีเสริมภาพจำลองบนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ AR (Augmented Reality) ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้สึกร่วมเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ช่วยให้การฝึกฝนมีความสมจริงมากขึ้น จุดเด่นเหนือการฝึกแบบดั้งเดิมนี้อาจช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจ รวมถึงมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการตัดสินใจช่วยเหลือ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ในอนาคต
ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวผ่านการทดลองใช้ในคณะผู้พัฒนาโครงการ พบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจไม่ด้อยกว่าการฝึกแบบดั้งเดิม พร้อมที่จะส่งมอบชิ้นงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน และพร้อมยื่นจดสิทธิบัตรต่อไปในอนาคต
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการใช้ Augmented Reality Hololens for CPR ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองใช้ และพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการใช้งานต่อไป ผู้ที่สนใจฝึกการกดหน้าอกกู้ชีพ (CPR) สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง CHAMPS Center 02 256 4000 ต่อ 81105 หรือ line OA : @481hrgo