ทางเลือก'การดูแลแบบประคับประคอง' ผู้ป่วยมะเร็งและวาระสุดท้าย

ทางเลือก'การดูแลแบบประคับประคอง' ผู้ป่วยมะเร็งและวาระสุดท้าย

เมื่อป่วยแล้วรักษาไม่หาย คงไม่มีใครอยากถูกพันธนาการด้วยเครื่องมือทางการแพทย์มากเกินเหตุ การดูแลแบบประคับประคอง จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ต้องทำความเข้าใจ

การดูแลแบบประคับประคอง เป็นอีกเรื่องที่คนไทยควรทำความเข้าใจมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ว่ากรณีการป่วยด้วยโรคร้าย หรือวาระสุดท้ายที่ยากจะเยียวยารักษาแล้ว

เรื่องเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บางโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หาย การยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือแพทย์ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย ไม่ว่ากรณีการยื้อที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือการรักษาที่ต้องใช้เงินมหาศาลโดยไม่จำเป็น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในวงการแพทย์จึงพยายามสร้างทางเลือกที่เรียกว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง แนวทางการดูแลที่ให้ความสำคัญกับการรักษาตามอาการเท่าที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด รวมทั้งดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติให้เผชิญหน้ากับวินาทีสุดท้ายอย่างเข้าใจ

 

ประคับประคองรักษาตามอาการ

หากญาติพี่น้องไม่เคยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีรายละเอียดเยอะ อาจรู้สึกหนักใจ เหนื่อย และยังส่งผลถึงผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ

“การดูแลแบบประคับประคอง ก็คือการรักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคระยะท้ายอย่างเดียว มี 2ใน 3 โรคที่รักษาให้หายไม่ได้เมื่อป่วยเป็นโรครื้อรัง ดังนั้นเมื่อคนไข้ที่ได้รับความทุกข์ทั้งทางกายและใจ เราจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ของคนไข้ได้อย่างไร เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย”

อ.พญ.จินตนา อาศนะเสน ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ Palliative Care ในผู้ป่วยมะเร็ง กิจกรรมเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลแบบประคับประคอง คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ทางเลือก\'การดูแลแบบประคับประคอง\' ผู้ป่วยมะเร็งและวาระสุดท้าย ดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติให้เผชิญหน้ากับวินาทีสุดท้ายอย่างเข้าใจ

ประคับประคองทั้งกายและใจ

การดูแลแบบประคับประคอง นอกจากให้คำปรึกษาญาติในการดูแลผู้ป่วย ยังแนะนำเทคนิคการดูแลร่างกาย ไม่ว่าการดูดเสมหะ การดูแลเรื่องสุขอนามัย

เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างมีคุณภาพ การดูแลแบบประคับประคองสามารถทำควบคู่ไปกับการรักษาตามอาการป่วย ยกตัวอย่าง หากผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ยังต้องรักษาด้วยคีโมบำบัด ให้ยา ก็สามารถดูแลไปพร้อมๆกับการดูแลแบบประคับประคอง โดยมีสามกลุ่มด้วยกันคือ

  1. กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโรคอื่นๆ แทรกเพิ่ม แต่การช่วยเหลือตัวเองลดลงเป็นแนวดิ่ง
  2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาอวัยวะล้มเหลว โรคปอด ไต หัวใจ จะมีอาการขึ้นๆ ลงๆ
  3. กลุ่มผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อย มีปัญหาสมองเสื่อม จะมีชีวิตอยู่ระยะท้ายเป็นเวลานาน

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็ง คุณหมอจินตนา บอกว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเห็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงวินิจฉัยโรค อาการที่เปลี่ยนแปลง และช่วงที่ต้องการความช่วยเหลือ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงระยะท้าย ส่วนสองกลุ่มหลังจะค่อยเป็นค่อยไป จะได้รับการดูแลแบบประคับประคองตอนท้ายของชีวิตมากกว่า

ผู้ป่วยในกลุ่มมะเร็ง พว.ศิริพร เสมสาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลแบบประคับประคอง โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำแนะนำว่า ถ้ามีประวัติที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว สามารถมาขอคำปรึกษา แจ้งคุณหมอเจ้าของไข้ให้ส่งปรึกษาทีมดูแลแบบประคับประคองได้เลย

“กลุ่มคนป่วยมะเร็ง ถ้ารับคำปรึกษาตั้งแต่แรกจะเป็นเรื่องที่ดีในการวางแผนดูแลแต่ละแนวทาง เพราะการดูแลแบบนี้ไม่ใช่การดูแลท้ายสุดของชีวิต

ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีมีทีมประคับประคองให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง แนะนำและสอนญาติให้รู้วิธีการดูแลคนไข้ และเข้าใจอาการที่เกิดขึ้น ในทีมดูแลประคับประคอง มีทั้งแพทย์ พยาบาล นักดนตรีบำบัด ฯลฯ เมื่อประเมินประเด็นปัญหาแล้ว ถ้าผู้ป่วยต้องดูแลที่บ้านจะมีการประสานเครือข่าย เพื่อทำให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง”

ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง คนไข้ระยะสุดท้ายที่เป็นมะเร็งลุกลาม เมื่อให้เคมีบำบัดต่อไม่ก่อประโยชน์แล้ว พว.ศิริพร บอกว่า บางคนอยากกลับไปอยู่กับครอบครัวในต่างจังหวัด เราก็ส่งต่อเครือข่ายโรงพยาบาล บางคนก็ส่งต่อศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ มีหลายศูนย์ที่ทำงานร่วมกันมานาน และดูแลจนถึงวาระสุดท้าย

“ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาคุ้มอาการระยะท้าย ทีมจะประสานให้คำแนะนำ เพื่อให้ครอบครัวสามารถดูแลที่บ้านได้ เมื่อก่อนคนคิดว่า เป็นมะเร็งระยะท้ายจะต้องอยู่โรงพยาบาล ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว สามารถเลือกดูแลที่บ้านได้ ถ้าครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ก็สามารถดูแลที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐาน หรือรพ.บางกรณี ทีมประคับประคองจะประสานงานให้”

บางคนอาจไม่รู้ว่า แม้กระทั่งอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โรงพยาบาลรัฐบาลก็มีบริการให้ยืม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดให้ผู้ป่วย 

อาการผู้ป่วยช่วงท้ายของชีวิต

ช่วง 2-3 สัปดาห์ท้าย

  • สภาพร่างกายเปลี่ยน การสูบฉีดเลือดน้อยลง มือเท้าเย็น ผิวหนังเปลี่ยนสี สีคล้ำเป็นจ้ำ
  • หายใจเริ่มผิดปกติ หายใจขาดเป็นห้วงๆ มีเสมหะเยอะ
  • กล้ามเนื้อหย่อนยานควบคุมไม่ได้ การรับรู้แย่ลง

ช่วงวันท้ายๆ ของชีวิต

  • รับประทานและดื่มน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย ง่วง ซึม กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาอะไร ปล่อยให้พักผ่อนเต็มที่ หากผู้ป่วยมีเสมหะ เลือกวิธีดูแลที่รบกวนผู้ป่วยน้อยที่สุด
  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการปากและตาแห้ง ให้หยอดน้ำลงในปาก หรือทาลิปมัน หยอดน้ำตาเทียม หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่สะดวก ควรจัดท่านอนให้ศรีษะสูง นอนตะแคง และเปลี่ยนท่านอน
  • เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ควรเหนี่ยวรั้ง ยื้อชีวิตด้วยการรักษาต่างๆ ที่จะไปกระตุ้นความเจ็บปวด ทรมาน