"Burnout" กับ 5 สัญญาณเตือนอาการ "เหนื่อยล้า" จากงานจนเข้าสู่ "ภาวะหมดไฟ"
คิดงานต่อไปไม่ไหวแล้ว! เช็ก 5 สัญญาณเตือนอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน จนเสี่ยงต่อ "ภาวะหมดไฟ" ขั้นสูงในระยะที่เรียกว่า Full Scale of Burnout
Key Points:
- รู้หรือไม่? ก่อนจะเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) มักมีสัญญาณเตือนก่อน โดยเป็นอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักมากเกินไป จนแสดงออกมาให้เห็นทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
- สัญญาณเบื้องต้นที่แสดงถึงอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน, ปลีกตัวเองออกจากสังคมที่ทำงาน, สมาธิสั้น, ผิดหวังในตัวเอง, เจ็บป่วยทางร่างกาย (ปวดหัว ปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง)
- หากปล่อยให้อาการเหนื่อยล้าจากงานเกิดสะสมไปนานๆ ก็จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟในขั้นสูงที่เรียกว่า Full Scale of Burnout นำมาซึ่งภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง ตัดขาดสังคม ซึมเศร้า
“Burnout” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เชื่อว่ามนุษย์ออฟฟิศหลายคนเคยประสบกับภาวะหมดไฟในการทำงานกันมาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอาการเริ่มต้นอย่าง “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เหนื่อยหน่าย อ่อนล้า และคิดงานไม่ออก บางคนมีอาการเหล่านี้อยู่เพียงชั่วครู่ และกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน แต่บางคนก็จมอยู่กับอาการเหล่านี้เป็นเวลานาน จนมีอาการ Burnout Syndrome ในระยะที่เรียกว่า Full Scale of Burnout
จริงๆ แล้ว ก่อนจะเข้าสู่ภาวะBurnout มักจะมีอาการอื่นๆ นำมาก่อน โดยเป็นอาการที่เกิดจากการทำงานหนักจนร่างกายเหนื่อยล้า และมีการส่งสัญญาณเตือนออกมา กรุงเทพธุรกิจรวบรวม 5 สัญญาณเตือนที่มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเหนื่อยล้ามากในระดับที่หากปล่อยไว้ก็อาจทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้ในเร็ววัน ดังนี้
1. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
หากเริ่มมีอาการอารมณ์แปรปรวนมากผิดปกติ หงุดหงิดง่าย โกรธง่ายโมโหเร็ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หรือใครพูดอะไรผิดหูนิดหน่อยก็หงุดหงิด ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน เหล่านี้เป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังเหนื่อยจากงานมากเกินไปแล้ว
2. ปลีกตัวออกจากสังคม ไม่อยากสุงสิงกับใคร
จากเดิมที่เคยอารมณ์ดี เฮฮากับเพื่อนร่วมงาน แต่หลังทำงานหนักติดต่อกันนานๆ แล้วเริ่มอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากคุยกับใคร อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากทำอะไร ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายเหนื่อยล้าเต็มทีแล้ว
3. สมาธิสั้นลง ทำงานไม่เสร็จตามกำหนด
จากเดิมเคยเป็นคนที่ทำงานขยันขันแข็ง มีสมาธิจดจ่อกับงาน และทำงานได้เสร็จตรงตามกำหนดเวลาเสมอ แต่พักหลังๆ เริ่มไม่มีสมาธิทำงาน เช่น ทำงานได้เดี๋ยวเดียว (งานยังไม่เสร็จ) ก็มักจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วกลับมาทำงานต่อ แล้วก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นอีก ทำให้งานเสร็จช้ากว่ากำหนด พฤติกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ชี้ว่าคุณมีภาระงานเยอะจนสับสน ทั้งยังเพิ่มความเหนื่อยล้าแบบไม่รู้ตัว
4. รู้สึกผิดหวังกับงานที่ไม่สำเร็จ
เมื่องานที่รับผิดชอบนั้นเริ่มไม่เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งๆ ที่ทุ่มเทอย่างจริงจัง และหากเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะทำให้รู้สึกท้อใจ เหนื่อยใจ แลรู้สึกว่าทำไมผลงานของตนเองมันแย่ลงทั้งๆ ที่พยายามทำงานอย่างหนัก หากมีอาการแบบนี้ก็แปลว่าร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้าจากงานแบบสุดๆ
5. มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายง่ายขึ้น
คนที่ทำงานเหนื่อยจนเกินไปมักจะพักผ่อนน้อย กินน้อย หรือบางคนแทบไม่ได้กินข้าวเลย เช่น ไม่มีเวลากินอาหารมื้อเช้า เนื่องจากทำงานเหนื่อยสะสมจากเมื่อวานจนนอนตื่นสาย หรือทำงานดึกจนไม่มีเวลากินมื้อเย็น เป็นต้น ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร สุดท้ายร่างกายก็อ่อนแอจนป่วยในที่สุด เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดตัว ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ฯลฯ
หากมีอาการต่างๆ ข้างต้นเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้เหนื่อยล้าทางจิตใจและเข้าสู่ “ภาวะหมดไฟ” ได้ในที่สุด โดยอาการที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังป่วยด้วย Burnout Syndrome นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้อาการหลักๆ ไว้ 3 อาการ คือ
- รู้สึกสูญเสียพลังงาน มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง อ่อนล้าทางอารมณ์
- มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ ขาดความรู้สึกในความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ
- รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงานหรือลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน
โดยส่วนใหญ่ภาวะหมดไฟมักเป็นผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก ไม่สามารถทำงานได้ดีเหมือนเดิม ยิ่งนานเข้าก็จะเสียแรงจูงใจในการทำงาน กระทั่งรู้สึกว่า ทำอะไรก็ไม่ได้ดีไปเสียทุกอย่าง
นอกจากนี้หากมองในทางทฤษฎีของ Miller & Smith ณ ปี 1993 จะพบว่า “Burnout Syndrome” มีวงจรการเกิดภาวะหมดไฟที่มักจับสัญญาณได้ หากสังเกตดีๆ ดังนี้
1. ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) : เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร
2. ระยะรู้สึกตัว (the awakening) : เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตน ทั้งในแง่การตอบแทนและการเป็นที่ยอมรับ รู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจและเหนื่อยล้า
3. ระยะไฟตก (Brownout) : คนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน (ซึ่งตรงกับสัญญาณทั้ง 5 ที่กล่าวไปข้างต้น) โดยในระยะนี้อาจเกิดพฤติกรรมในด้านลบเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน
4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) : หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่
5. ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) : หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย
อย่างไรก็ตาม หากจับสัญญาณได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และรู้ตัวว่าตนเองกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงานอย่างมาก ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะ Full scale of Burnout ให้รีบปรับเปลี่ยนโหมดชีวิตด่วนๆ โดยมีข้อมูลจาก “ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” ให้คำแนะนำไว้ว่า วัยทำงานควรหาเวลาพักผ่อน ปรับความคิดและพฤติกรรมให้ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ควรเจรจาต่อรองกับหัวหน้างาน เพื่อลดภาระงาน และยืนหยัดเพื่อรักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง อีกทั้งควรแสวงหาความช่วยเหลือ และอาจหาที่ปรึกษาหรือพบนักจิตบำบัด เป็นต้น
----------------------------------------
อ้างอิง : คณะแพทย์ศิริราชฯ, JobsDB, Signs-of-Exhaustion