เช็กก่อนเสี่ยง อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’ น้ำหนักเกิน
คนไทยอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป เกือบครึ่งน้ำหนักเกิน กว่า 1 ใน 3 เป็น 'โรคอ้วน' คนที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมีอัตราการตายสูง ขณะที่ ทั่วโลกประชากรจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากการที่มี 'ภาวะน้ำหนักเกิน' และโรคอ้วน
- ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ส่งผลให้อัตราการตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ ทั่วโลกประชากรจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
- ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คนไทยอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป เกือบครึ่งน้ำหนักเกิน กว่า 1 ใน 3 เป็นโรคอ้วน
- อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงของโรคอ้วน สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และตรวจสอบน้ำหนักตัวสม่ำเสมอ เป็นต้น
วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น 'วันอ้วนโลก' ในปี 2566 สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Changing perspectives: Let’s talk about obesity: ปรับเปลี่ยนมุมมอง โรคอ้วนคุยกันได้” มุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักรู้และการสื่อสารเกี่ยวกับโรคอ้วนให้กับประชาชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอ้วน การป้องกันและการจัดการโรคอ้วนในสังคมไทย
ภาวะน้ำหนักเกิน และ อ้วน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลก ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เผยว่า การที่มาภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน มีอัตราการตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ ทั่วโลกประชากรจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "โรคอ้วน" กระทบเศรษฐกิจ 13.2% ของงบประมาณสาธารณสุขทั่วโลก
- ส่องความเสี่ยง “โรคอ้วน” ปัญหาสุขภาพที่น่าห่วง
- คนกรุงฯ มีภาวะอ้วนมากสุด แนะ "โรคอ้วน" ป้องกันได้ อย่ารอโรคแทรก
เด็ก ผู้ใหญ่ มีภาวะน้ำหนักเกินสูงขึ้น
ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 8.8 ในปี 2561 เพิ่มเป็น ร้อยละ 9.2 ในปี 2562
ส่วนเด็กอายุ 6-14 ปี จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เพิ่มเป็น ร้อยละ 12.4 ในปี 2564
ส่วนวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เป็นโรคอ้วนหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 มากถึง ร้อยละ 45.6 ในปี 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 46.2 ในปี 2564 และร้อยละ 46.6 ในปี 2565 ซึ่งเป้าหมายของประเทศไทย มุ่งลดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในเด็กไม่ควรเกินร้อยละ 10 และควบคุมผู้ใหญ่อ้วนไม่ให้เกิน 1 ใน 3
อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของโลกและประเทศไทย โรคอ้วนในทางการแพทย์เรียกว่า Obesity หมายถึง ความผิดปกติของไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเกณฑ์ของ 'โรคอ้วน' ในคนไทยสำหรับผู้ใหญ่ อายุ 20 ปีขึ้นไป จะพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI (Body mass index)
"คิดได้จาก น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง โดยค่า BMI 23 - 24.90 แสดงถึงน้ำหนักเกิน และ ค่า BMI 25 ขึ้นไปแสดงถึงโรคอ้วน"
สำหรับเด็กจะพิจารณาจากกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตเด็กซึ่งจะแตกต่างตามอายุของ 0-5 ปี และ 6-19 ปี โดยโรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเอนซีดีในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ การตายก่อนวัยอันควรและภาวะทุพพลภาพ
โรคอ้วน มีสาเหตุจากอะไร
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า โรคอ้วน เกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และมะเร็ง โรคที่ซับซ้อนนี้อาจเป็นผลมาจากปัจจัยที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหาร ปัจจัยส่วนบุคคล ตลอดจนการเลือกออกกำลังกาย
การลดน้ำหนักสามารถช่วยรักษาและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ โดยอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง รวมถึงการเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่คนไข้ เช่น การให้ยา หรือขั้นตอนทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการลดน้ำหนัก
ปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วน
อิทธิพลทางพันธุกรรม
- ปริมาณไขมันในร่างกายมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม นอกเหนือจากไขมันส่วนเกินในร่างกายแล้ว พันธุกรรมอาจมีส่วนในการเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน การเผาผลาญแคลอรี่ รวมไปถึงการควบคุมความอยากอาหาร
ทางเลือกของไลฟ์สไตล์
การเลือกวิถีชีวิตมีส่วนสำคัญในการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน อาจรวมถึง
- การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
- เครื่องดื่มแคลลอรี่สูง
- การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
โรคและยาอื่น ๆ
- โรคอ้วน อาจเป็นผลมาจากปัญหาทางการแพทย์บางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง และกลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการชัก ยาเบาหวาน ยาต้านอาการซึมเศร้า สเตียรอย ด์และเบต้าบล็คเกอร์
ประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ
- พบว่าโรคอ้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ ผู้คนที่คุณอยู่ใกล้ชิด อาจมีอิทธิพลต่อน้ำหนักของคุณเนื่องจากอาจรับประทานอาหารและทำกิจกรรม รวมถึงอาจมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน
อายุ
- แม้ว่าโรคอ้วนจะเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่ระบบบางอย่าง เช่น ฮอร์โมน การเผาผลาญและปริมาณของกล้ามเนื้อ จะเปลี่ยนไปและส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัว
ปัจจัยอื่น ๆ
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นและนำไปสู่โรคอ้วนอาจรวมถึง:
- การตั้งครรภ์
- การเลิกสูบบุหรี่
- การขาดการนอนหลับ
- ความเครียด
- ไมโครไบโอม
- ความพยายามในการลดน้ำหนักอย่างไม่ถูกต้องก่อนหน้า
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้มากขึ้น
- โรคหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคเบาหวาน
- มะเร็งบางชนิด
- ปัญหาทางเดินอาหาร
- ปัญหาทางนรีเวชและทางเพศ
- อาการหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคข้อเข่าเสื่อม
การป้องกัน
- ลดความเสี่ยงของโรคอ้วนได้โดย
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้คุณต้องทาน
- ตรวจสอบน้ำหนักตัวเป็นประจำ
- คงพฤติกรรมที่สม่ำเสมอ
อ้างอิง : กรมควบคุมโรค , โรงพยาบาลเมดพาร์ค