คุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่นอย่างไร? ให้เข้าใจ ลดโอกาสพลาด ท้องไม่พร้อม
จากกรณีของ “น้องนิ่ม หญิงสาวอายุ 17 ปี แม่วัยใสของน้องต่อ” ที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในวัยเรียน วัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ท้องไม่พร้อม ปัญหาครอบครัว โอกาสทางการศึกษา และปัญหาสังคมอีกมากมาย
Keypoint:
- คุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ อย่าปฎิเสธ อย่าตำหนิเมื่อลูกถามเรื่องเพศ พ่อแม่ควรเปิดรับทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับเพศ
- สสส.จัดแคมเปณเรื่องเพศคุยกันได้ ยิ่งพูด ยิ่งเข้าใจ โอกาสทอง ลดโอกาสพลาด คลิ๊กเว็บไซต์ คุยเรื่องเพศ.com
- 6 ทักษะคุยเรื่องเพศที่พ่อแม่ควรรู้ ได้แก่ รับฟังไม่ตัดสิน ตั้งคำถามชวนคิด ชื่นชมความคิด เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก และเป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา
- คุยเรื่องเพศ ไม่มีอายุที่น้อยเกินไป พ่อแม่ ครูต้องคุยให้เหมาะสมกับบริบทเด็ก
“ท้องไม่พร้อม การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร”ล้วนนำมาสู่ปัญหาใหญ่ต่อเด็กคนหนึ่ง เพราะนอกจากทำให้ขาดโอกาสแล้ว ยังนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ยาเสพติด หรือต้องทำอาชีพที่ไม่ได้เลือก เป็นต้น
ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ที่ทาง “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ได้จัดกิจกรรมสื่อสารประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศ และเริ่มรณรงค์เรื่องสุขภาวะทางเพศอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถคุยเรื่องเพศกับลูกได้อย่างเปิดอก ลดปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมา ทั้งท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
งานเสวนา “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” ณ ห้องประชุม Thaihealth อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ซึ่งจัดขึ้น โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มี่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"รักปลอดภัยอยู่รอบตัว" ใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ
เปิดหลากมุมมอง หากผู้หญิงพก "ถุงยางอนามัย"
ท้องไม่พร้อม..จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย แนะรู้สิทธิ ก่อนยุติตั้งครรภ์
ชวนพ่อแม่ เปิดรับทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับเพศ
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนาตอนหนึ่ง ว่าตลอดเดือนก.พ.ถือเป็นเดือนแห่งความปรารถนาดีต่อกัน เป็นเดือนพิเศษที่หลายคนโฟกัสเรื่องความปิติรื่นรมย์เป็นพิเศษ ภาคีที่เกี่ยวข้อง และโซเซียลมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งพยายามทำความเข้าใจ และทำเรื่องการพูดคุยเรื่องเพศ ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไป
“อดีตเราถูกปลูกฝังมาว่าเรื่องเพศคุยไม่ได้ ทำให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกปกปิด และการแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ตรงจุด หลายครั้งที่มีการพูดคุยเรื่องเพศแต่กลับบอกให้ไปเตะบอล ไปนั่งสมาธิ ซึ่งการแก้ปัญหาทางเพศ จะต้องเริ่มจากการสื่อสารเรื่องเพศอย่างเข้าใจ ทำอย่างไรให้พ่อแม่ผู้ปกครอง มองย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่น และเปิดอกพูดคุยเรื่องเพศกับลูกได้”นายชาติวุฒิ กล่าว
จากการสำรวจล่าสุด พบว่า แนวโน้มวัยรุ่นไทยเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองในในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ซึ่งผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสการติดเชื้อ HIV มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยถึง 5-9 เท่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ปี 64 จำนวนราว 520,00 คน และคาดว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 6,500 คนต่อประชากรทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน อายุ 15 – 24 ปี
นายชาติวุฒิ กล่าวต่อว่าการเสวนาครั้งนี้ เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ถึงการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาลูกหลานมาถามเรื่องเพศแล้วพ่อแม่ไม่ได้คำตอบ หรือได้คำตอบที่ไม่ดีจนลูกไม่กล้าถามพ่อแม่ วิ่งหนีจากพ่อแม่ไป โดยจะมีการให้ความรู้ผ่านสื่อการสอน ทั้งคลิป สื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจมากขึ้น และอยากให้ทุกคนเปิดรับทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับเพศ
6 ทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่น
ด้าน นายเกียรติคุณ ศิริเวชมงคลชัย นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมชำนาญการพิเศษ สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่าการคุยเรื่องเพศต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เขินอายคุยไม่ได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ สสส.พยายามทำแคมเปณเรื่องเพศคุยกันได้ เรื่องเพศ ยิ่งพูด ยิ่งเข้าใจ ที่ทุกคนสามารถคุยเรื่องเพศกันได้ทุกคน เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นโอกาสทอง แต่ปิดโอกาสพลาด
“ปฎิกิริยาพ่อแม่สำคัญอย่างมาก เมื่อลูกมาคุยเรื่องเพศครั้งแรก พ่อแม่ต้องไม่ปฎิเสธลูก เพราะขณะนี้มีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากมาย ทั้งข้อมูลดีและไม่ดี พ่อแม่ต้องศึกษาข้อมูลและมาตอบคำถามแก่ลูก คุยกับลูก ซึ่งทางสสส.เองได้จัดทำเว็บไซต์ คุยเรื่องเพศ.com เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล ตอบคำถาม เป็นเครื่องมือให้แก่ทั้งเด็กและผู้ปกครองพูดคุยเรื่องเพศในทุกเรื่อง ตอบโจทย์ลดท้องไม่พร้อม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุกคนจะได้มีทักษะก่อนการคุยเรื่องเพศ”นายเกียรติคุณ กล่าว
สำหรับ 6 ทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูกที่พ่อแม่ควรรู้ มีดังนี้
1 รับฟังไม่ตัดสิน พ่อแม่ต้องฟังอย่างเข้าใจ ไม่รีบตัดสินว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นผิดหรือถูก
2. ตั้งคำถามชวนคิด การตั้งคำถามจะทำให้เด็กได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
3.ชื่นชมความคิด ทุกครั้งที่ลูกมีความคิดที่ดี ควรชมเชยให้ลูกได้รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
4. เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์
5. เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก
6. เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา
โดยทุกคนสามารถติดตามใน Mini Series 6 ตอนซึ่งเป็นสปอตรณรงค์ๆ และมี Mini Series tiktiok อีก20 ตอน หรือดูรายละเอียดในเว็บไซต์ที่พ่อแม่สามารถทำแบบทดสอบพร้อมเทคนิคการคุยกับลูกเรื่องเพศ
สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนไทยในปี2565
น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าปี 2565 พบว่ามีเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี เพียง 13,023,268 คน และเยาวชนอายุ 18-25 ปี 6,805,099 คน รวมเด็กและเยาวชนอายุ 0-25 ปี มีประมาณ 19 ล้านคน หรือ 30% ของประเทศเท่านั้น ขณะที่รูปแบบครอบครัวพบว่า ครอบครัวแบบพ่อ แม่ ลูกลดลง แต่ครอบครัวข้ามรุ่น/ครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวคนเดียว และครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน พบว่า ร้อยละ 10.1 ของเด็กไทยอาศัยอยู่ในครอบครัวที่ต่ำกว่าเส้นยากจน(2,600 บาทต่อเดือน) ,เด็กกำพร้าจากโควิดเพิ่มขึ้น 487 คน , เด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรง เฉลี่ย 52 คนต่อวัน ,เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศปี 2565 มี 245 คน มาเข้าใช้บริการที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ,เด็กตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอายุ 10-14 ปี อัตรา 0.9 ต่อพัน และอายุ 15-19 ปี มีอัตรา 24.4 ต่อพัน ,เด็กอายุ 12-17 ปี ประมาณ 400,000 คน ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ ,เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ร้อยละ2 จากเด็กทั้งหมด และเด็ก-เยาวชนกระทำความผิด ปี 2565 มี 12,192 คดี เป็นฐานความผิดยาเสพติด มากที่สุด 4,885 คดี หรือ 40.07%”น.ส.อรพินท์ กล่าว
ส่วนมิติสุขภาวะทางเพศ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ซึ่งทาง ดย.พยายาม เสริมสร้างครอบครัวให้มีความสามารถในการดูแลเด็ก และสนับสนุนเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ให้เป็นแกนนำเข้าไปคุยเรื่องสิทธิทางเพศแก่วัยรุ่น จัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อระวัง ป้องกัน และช่วยเหลือ นอกจากนั้น มีกลุ่มพ่อแม่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ จึงจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลลูกทั้ง 77 จังหวัด และหากมีปัญหาสามารถโทร.สายด่วน 1300ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง
คุยเรื่องเพศกับลูก ไม่มีอายุที่น้อยเกินไป
นายสกล โสภิตอาชาศักดิ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าไม่มีอายุที่น้อยเกินไปที่จะคุยเรื่องเพศกับลูก เพราะเด็กเห็นความแตกต่างของร่างกาย เขาก็อาจจะถาม พ่อแม่ต้องคุยให้เหมาะสมกับบริบทเด็ก และการคุยเรื่องเพศสามารถคุยได้หลายมุม ต้องคุยถึงเพศในใจของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศ พ่อแม่มักจะรับไม่ได้ และเสียใจผิดหวังต่อลูก ซึ่งหากพ่อแม่ไม่ยอมรับจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกทั้งชีวิต และทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องอื่นๆ ดังนั้น อยากให้พ่อแม่สังเกตทั้งเพศกำเนิด เพศวิธี และรสนิยมทางเพศของลูก และต้องมีสติในการคุยกับลูก
ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษา ซึ่งมีการเรียนสุขศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหา คือ ครูผู้สอน เพราะต่อให้แบบเรียนดี แต่ครูไม่สอน และตีตราเด็ก ทั้งที่การสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ต้องสอนในเชิงบวก และ โรงเรียนต้องไม่จัดกิจกรรมการจัดแบ่งแยกเพศ
ต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ ปลอดภัยให้เด็กเข้าถึงสอบถามเรื่องเพศ
นายซาหดัม แวยูโซ๊ะ เยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง กล่าวว่า เยาวชนเวลาคุยเรื่องเพศมักจะคุยกับคนสนิทอย่างเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะรู้สึกปลอดภัย สบายใจ ไม่กดดัน ไม่ถูกตำหนิ และถ้าดูวงจรชีวิตเยาวชน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกับเพื่อน เวลามีปัญหาอะไรจะปรึกษากับเพื่อนเป็นหลัก โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เยาวชนไม่สามารถพูดคุยเรื่องเพศได้ เพราะถือเป็นเรื่องบาปผิดหลักศาสนา และคนในพื้นที่จะไม่คุยเรื่องนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
“การคุยเรื่องเพศกับเด็ก ทุกภาคส่วนต้องมาเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โรงเรียน ชุมชน และที่สำคัญสุด คือผู้ปกครอง ควรให้เป็นโอกาสที่ดีในการสนทนา และขอให้ใจเย็น อย่ากดดัน ตำหนิ หรืออย่าพยายามให้ลูกตอบคำถาม เพราะบางครั้งการสื่อของเด็กอาจเป็นประโยคบอกเล่า อีกทั้งควรมีสถานบริการที่เป็นมิตร ต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่แสดงตัวตน ปลอดภัยให้เด็กเข้าถึงได้” นายซาหดัม กล่าว
แนะเคล็ดลับคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไร? ให้เข้าใจ
ขณะที่ นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวและมีลูกกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น กล่าวว่ามีลูกชาย 2 คน คนหนึ่งเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 11 ปี และอีกคนอายุ 8 ปี ซึ่งตอนนี้ลูกชายคนโตจะไม่ค่อยมาเล่าเรื่องราวในโรงเรียนเหมือนในอดีต เขาค่อนข้างเงียบ เปลี่ยนไปตามวัย และจะเขินอายเวลาเราคุยเรื่องเพศ โดยจุดเริ่มต้นในการคุยเรื่องเพศกับลูก จะเป็นบนสนทนาที่เริ่มจากการเล่าเรื่องของเราตอนเป็นวัยรุ่น เราเรียน เราใช้ชีวิตอย่างไร เราชอบผู้หญิงลักษณะไหน ความรักเราเป็นอย่างไร และค่อยสอบถามเขา ซึ่งการคุยต้องเป็นบรรยากาศสบายๆ บอกเล่าเรื่องราว ไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด
“เวลาเราคุยกับลูกและเราไม่สามารถตอบลูกได้ เราจะไม่ปฎิเสธ แต่จะบอกลูกว่าเราจะมาตอบและเราก็ไปค้นหาคำตอบให้แก่ลูก เพื่อสื่อสารกับลูก โดยเทคนิคที่สำคัญในการคุยเรื่องเพศ พ่อแม่ต้องใจกว้าง เปิดรับพวกเขา สร้างความไว้วางใจ ต้องไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิเขา ซึ่งนอกจากพ่อแม่แล้ว ครูในโรงเรียนก็สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะครูบางคนเป็นไอดอลของเด็ก อยากให้ครูนึกไปถึงตอนตัวเองเป็นวัยรุ่น และจะได้สื่อสารกับเด็กได้” นายศิริพงษ์ กล่าว
ตบท้ายด้วย นายดิเรก ตาเตียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่าจากการทำงานลงพื้นที่ในโรงเรียนมักจะเจอปัญหาระหว่างพ่อแม่กับเด็กวัยรุ่น และเมื่อให้มาเลือกภาพว่าสำหรับพ่อแม่มองตัวเองเป็นรูปอะไร และลูกมองพ่อแม่เป็นรูปอะไร พบว่า ส่วนใหญ่พ่อแม่มองตัวเองเป็นตู้เอทีเอ็ม ขณะที่ลูกมองพ่อแม่เหมือนระเบิด
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดการคุยเรื่องเพศ พ่อแม่ต้องฝึกทักษะการสื่อสารเชิงบวก ต้องมีสติ ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้คำถามปลายเปิด อย่าตัดสิน อย่าพึ่งดุด่า และพ่อแม่ควรจะอยู่กับลูก เล่นกับลูกให้มากที่สุด เพราะของเล่นที่ดีที่สุดของลูก คือ พ่อแม่