9 พฤติกรรมเสี่ยงทำ “สมองตาย” ไม่เว้นแม้แต่การใส่หูฟังนานๆ ก็ใช่ด้วย
หาก "สมอง" ถูกใช้งานอย่างไม่มีระบบระเบียบ มันก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และที่อันตรายยิ่งไปกว่านั้นคือ อาจเสี่ยงต่อภาวะ “สมองตาย” ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราเอง
Key Points:
- รู้หรือไม่? อาการสมองเสื่อมและสมองตาย เกิดจากพฤติกรรมเชิงลบในชีวิตประจำวันของคนเรา ที่เผลอทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย และส่งผลทำร้ายสมองโดยไม่รู้ตัว
- โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินที่ผิดเวลา กินข้าวไม่เป็นเวลา และกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพสมอง มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและสมองตายได้
- นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมติดดื่มเหล้า ติดบุหรี่ ติดคาเฟอีน รวมไปถึงพฤติกรรมเนือยนิ่ง คิดลบ ชอบเก็บตัวไม่เข้าสังคม และพฤติกรรมการทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน (Multi-tasking) ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและสมองตายได้เช่นกัน
เคยสังเกตไหมว่า พฤติกรรมที่เราทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นความคุ้นเคย จะกลายมาเป็นนิสัยที่ติดตัว แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้ง พฤติกรรมเหล่านั้นอาจส่งผลต่อเสียต่อ “สมอง” ของเรา ถึงขั้นที่ว่า “สมองตาย” ได้เลยทีเดียว
โดยพฤติกรรมที่กลายเป็นนิสัยส่วนตัวนั้น นับตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ไปจนถึงเรื่องของจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมของคนเราย่อมแตกต่างกันออกไป ตามรูปแบบการใช้ชีวิต และข้อจำกัดต่างๆ หากไม่อยากเผลอทำร้ายสมอง ต้องมาลองเช็กพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำร้ายสมอง ว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่เข้าข่าย และเราจะรับมือกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ยังไง
กรุงเทพธุรกิจชวนส่อง 9 พฤติกรรมเสี่ยงทำให้ "สมองตาย" โดยมีข้อมูลจาก ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง บุญเปลื้อง อาจารย์สาขากิจกรรมบำบัดจิตสังคม คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ที่ได้ให้ข้อมูลผ่าน Mahidol Channel ไว้ดังนี้
1. กินข้าวผิดเวลา กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
โดยปกติแล้วสมองของเราจะตื่นตัว และต้องการพลังงานตั้งแต่ ตี 5 - 9 โมงเช้า ในช่วงเวลาดังกล่าวสมองจึงต้องการอาหารที่มีน้ำตาลน้อยๆ จำพวกผักผลไม้ อาหารประเภทนี้จะทำให้สมองมีพลังงานและตื่นตัว ไม่ควรกินอาหารพวกแป้ง ของทอด น้ำอัดลม อาหารรสเค็ม เพราะสมองยังไม่ต้องการนำมาใช้งานในช่วงเช้า
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการตั้งเวลาในสมอง ที่เรียกกันว่า “นาฬิกาชีวภาพ” เมื่อสมองถูกใช้งานในช่วง 7 - 9 โมงเช้า เมื่อเริ่มเข้า 10 โมง สมองจะอยากพักผ่อน ทำอะไรที่มันเบาๆ ดังนั้นช่วง 10 โมงเป็นต้นไป สมองจึงไม่ต้องการพลังงานจากน้ำตาล หากเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปโดยที่ไม่ถูกนำมาใช้งาน จะเกิดการสะสมในสมอง ส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบ, เริ่มง่วงทั้งที่ไม่ควรง่วง, จำอะไรไม่ค่อยได้, เสี่ยงต่อสมองทำงานผิดปกติ เป็นต้น
ดังนั้น วิธีกินอาหารให้เหมาะสมตามนาฬิกาชีวิตและเป็นประโยชน์ต่อสมอง ก็ต้องกินมื้อเช้าในช่วง 7-9 โมงเช้า เเละเน้นไปที่อาหารจำพวกไฟเบอร์และน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้ ถัดมาในช่วงบ่ายสามารถเติมพลังให้สมองได้ด้วยอาหารโปรตีนสูง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วต่างๆ และเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน แต่ทั้งนี้ไม่ควรกินโปรตีนเกิน 2 ทุ่ม เพราะเวลานั้นสมองจะเริ่มหลั่งสาร "เมลาโทนิน" (ฮอร์โมนแห่งการพักผ่อน) หากกินมื้อหนักๆ ในช่วงนั้น สารเมลาโทนินจะไม่หลั่ง ทำให้นอนไม่หลับ
2. มีพฤติกรรม "เนือยนิ่ง" นานเกิน 30 นาที
หากเราอยู่นิ่งๆ โดยไม่ขยับร่างกายเลยเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 30 นาที ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” คืออาการที่เกิดจากหัวใจของเรารู้สึกเหนื่อย เพราะขาดการขยับร่างกาย ทำให้ปอดไม่ได้รับออกซิเจน นอกจากจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อหัวใจและหลอดเลือด แล้ว ยังส่งผลเสียต่อสมองอีกด้วย
วิธีการแก้ไขง่ายๆ คือการขยับร่างกาย เพื่อเปลี่ยนท่าทาง ขยับร่างกาย บิดขี้เกียจ หรือลุกขึ้นยืน อย่างน้อยเปลี่ยนอิริยาบถ สัก 2 นาทีก็เพียงพอที่จะช่วยให้สมองของเราก็ตื่นตัวเเล้ว เเละการขยับร่างกายบ่อยๆ สมองจะจำได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นขนาดที่ว่าตั้งมานั่งจับเวลา 30 นาทีเลย
3. สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และคาเฟอีนมากเกินไป
ทั้งบุหรี่ แอลกอฮอลล์ และคาเฟอีน เป็นสิ่งอันตรายที่ทำร้ายสมองมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อสมองโดยตรง ทำให้เกิดอาการ “สมองมึน” คือการที่แอลกอฮอลล์เข้าไปแทนที่ของเหลวอื่นๆ และจะเริ่มแย่งออกซิเจน แย่งน้ำในสมอง ทำให้สมองเกิดอาการมึนงง ตาพร่ามัว เดินเซ เเละเริ่มรู้สึกหงุดหงิด โมโห ก้าวร้าว ในที่สุดก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ เเละยิ่งไปกว่านั้นแอลกอฮอลล์มีส่วนทำให้เซลล์สมองตายได้ด้วย หากเราดื่มมากกว่า 2 แก้ว ใน 1 ชั่วโมง
ขณะที่การสูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่อสมองได้มากกว่าแอลกอฮอลล์เสียอีก เพราะนิโคตินและคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในควันบุหรี่ จะไปกีดกันไม่ให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ออกซิเจนก็จะลดลง ทำให้สมองสามารถขาดเลือด อาจรุนแรงถึงขั้นสมองเป็นอัมพาตได้ ส่วน "คาเฟอีน" (ชา กาแฟ) หากดื่มมากๆ เสี่ยงทำให้สมองอักเสบได้มากขึ้น เพราะมีผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองลดน้อยลง ทำให้สมองเหนื่อยล้าและหมดแรงในที่สุด
4. ใช้คอมพิวเตอร์โดยใส่หูฟังเป็นระยะเวลานาน
รู้หรือไม่ว่า สมองของเราชอบการฟังมากกว่าการมอง เมื่อเราใส่หูฟัง สมองของเราจะชอบมากเป็นพิเศษ และจะส่งผลให้สมองของเราใช้งานหนักเกินไป วิธีการเเก้ง่ายๆ ก็คือ การถอดหูฟังออก เมื่อเราถอดหูฟังออก ตาก็จะเบิกกว้าง เป็นประกาย มองอะไรก็คิด และสมองจะจดจำได้แม่นยำมากขึ้น เช่น เวลานั่งประชุม เราไม่ได้ใส่หูฟัง ก็จะได้สบตา ยิ้ม เเละทักทายกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อสมอง
แต่ถ้าหากใส่หูฟังนานๆ ขณะทำงานหน้าจอคอมพ์ เราก็จะโฟกัสกับเสียงเป็นหลัก และยังต้องแบ่งมาโฟกัสกับการพูดคุยหรือการทำงานอื่นๆ ด้วย ก็จะยิ่งทำให้สมองทำงานหนักขึ้น
5. แปรงฟันโดยไม่ใช้ไหมขัดฟัน
การใช้ไหมขัดฟัน สามารถช่วยกำจัดแบคทีเรียในเหงือกและฟันได้เป็นอย่างดี โดยสามารถกำจัดได้ลึกถึงร่องเหงือกและรากฟัน แต่หากเราทำความสะอาดเหงือกและฟันไม่ดีพอ จะทำให้แบคทีเรียสะสม หากสะสมมากๆ เข้า ก็มีผลทำให้เส้นประสาทในโพรงสมองติดเชื้อและอักเสบได้
แต่ถ้าหากทำความสะอาดช่องปากได้ดี มีแบคทีเรียน้อยลง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของเส้นประสาทและโพรงสมอง เมื่อโพรงสมองไม่อักเสบ ไม่ติดเชื้อ สุขภาพสมองก็จะดีขึ้นตามมา เพราะเป็นการลดอาการอักเสบในช่องปาก เเละโพรงสมองของเรานั่นเอง
6. มีความคิดลบ ส่งผลให้นอนไม่หลับ
อาการของคนคิดลบ คือการคิดเข้าข้างตัวเอง บิดเบียนจากความเป็นจริง เเละมักจะมีบุคลิกภาพ เช่น ชอบตำหนิ ชอบสั่งการ และชอบเก็บมาคิดน้อยใจ ทำให้เรานอนไม่หลับ และโดยปกติสมองของคนเราจะไม่ชอบคิดกังวลไปนาน เพราะจะทำให้สมองทำงานไม่มีประสิทธิภาพ สังเกตจากอาการขี้หลงขี้ลืม เป็นต้น
7. การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multi-tasking)
จริงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานแบบ Multi-tasking แต่จริงๆ เเล้ว เมื่อเราทำมากขึ้นๆ ก็ทำได้ไม่ดี ถ้าให้นับจริงๆ เราสามารถทำได้ 20 อย่างพร้อมกัน เเต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถทำได้ขนาดนั้น เพราะสมองจะเกิดอาการเหนื่อยล้า ดังนั้นการทำเเค่ 2 อย่างก็ถือว่าเต็มที่เเล้ว เปลี่ยนเป็นการโฟกัสทีละอย่าง จะทำให้เราทำงานได้เร็วกว่าเดิมอีกด้วย
8. เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
เรื่องนี้จะเป็นความตึงเครียดมากๆ สำหรับคนที่ชอบเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม การปลีกตัวไปอยู่คนเดียว ในทางการแพทย์แล้วจะทำได้เเค่ใน 20 นาทีเเรกเท่านั้น เเต่หลังจาก 20 นาทีไปแล้ว ความคิดลบจะเริ่มก่อตัวขึ้นและเข้ามาแทรกเเซงความคิดของเรา นำไปสู่ความเครียด อาการล้าของสมอง เเละอาจนำไปสู่อาการ "สมองเสื่อม" ตามมาได้ในที่สุด และหากปล่อยไว้นานๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการ "สมองตาย" ได้เช่นกัน
9. อาการเสพติดความเครียด
อาการเสพติดความเครียด คือการที่สมองจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ได้พัก เช่น การออกกำลังกายที่มากเกินไป จะทำให้ร่างกายเราเสพติด เเละส่งผลให้สมองเราตื่นตัวอยู่เสมอ หรือพฤติกรรมการทำงานในช่วงเดดไลน์ ไม่ว่าจะงานไหนๆ ก็จะรอให้ถึงเดดไลน์ก่อนจึงค่อยทำ อาการเเบบนี้ก็คือการเสพติดความเครียดเช่นเดียวกัน
มีการศึกษาพบว่าการทำงานช่วงก่อนเดดไลน์บ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองตายได้ เพราะเราต้องทำหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะนอน หรือต้องทำงานให้เสร็จทันเวลา ทำให้เกิดความคิดลบ ความเครียด เเละนำไปสู่การนอนน้อยในวันนั้นๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้
แต่ทั้งนี้ก็มีวิธีแก้ไขเบื้องต้นได้ นั่นคือ การงีบนอนสัก 15 นาที - 1 ชั่วโมง หลังเที่ยง ก็พอจะช่วยได้ เเต่ทางที่ดีที่สุด คือควรเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม เเละนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สมองสดชื่นแจ่มใส หรือลองฝึกลมหายใจด้วยทฤษฎี 4x4 นั่นคือการวาดนิ้วเป็นรูปสี่เหลี่ยม พร้อมนับ 1-4 ทำทั้งหมด 4 รอบ จะทำให้เราจดจ่อไปที่การนับ ช่วยให้หายใจได้เต็มปอดเพื่อเพิ่มออกซิเจนในสมอง อีกทั้งช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลได้มากขึ้นด้วย
--------------------------------------------
อ้างอิง : Mahidol Channel