'ภูฟ้า' บริการเลิก 'ยาเสพติด' คืนคนรัก..กลับสู่ครอบครัว

'ภูฟ้า' บริการเลิก 'ยาเสพติด' คืนคนรัก..กลับสู่ครอบครัว

ในปี 2565 ไทยมีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดมากกว่าแสนคน โดยยาบ้า และ ยาไอซ์ นับเป็นยาเสพติดอันดับต้นๆ กระบวนการบำบัด ฟื้นฟู ผ่านกิจกรรมต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้

  • ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปี 2565 พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด กว่า 125,667 คน โดย 5 อันดับ ยาเสพติดที่ใช้ คือ ยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน กัญชา และฝิ่น ตามลำดับ 
  • สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 18-24 ปี ที่มีสถิติเข้ารับการรักษาสูงถึง 23,222 คน เป็นอันดับสองรองจากกลุ่มอายุ 39 ปีขึ้นไป
  • ภูฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการบำบัด ฟื้นฟู จากยาเสพติด ด้วยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาผู้ป่วยที่เป็นผู้เสพ จนสามารถนำส่งกลับคืนแก่ครอบครัว ภายใต้ความมุ่งมั่น 'คืนคนรัก..กลับสู่ครอบครัว'

 

สถิติของผู้ป่วยสารเสพติดในไทย รายงานผลการดำเนินงาน ตามแบบบำบัดรักษา ปี 2565 พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดกว่า 125,667 คน เป็นชาย 110,898 คน และหญิง 14,769 คน โดย 5 อันดับ ยาเสพติดหลักที่ใช้ ได้แก่ ยาบ้า 100,511 คน ยาไอซ์ 7,218 คน เฮโรอีน 6,486 คน กัญชา 4,739 คน และ ฝิ่น 2,869 คน

 

จากรายงานข้างต้นพบว่า ช่วงอายุที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 39 ปี 34,590 คน แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงสำหรับการเฝ้าระวังยาเสพติด คือ เยาวชน อายุระหว่าง 18-24 ปี ที่มีสถิติเข้ารับการรักษาสูงถึง 23,222 คน นอกจากนี้ ยังพบว่า 'ยาบ้า' ยังคงขึ้นแท่นเป็นยาเสพติดยอดฮิตในหมู่ประชาชนไทย ตามมาด้วย 'ยาไอซ์'

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้ติด (สีแดง) – รักษาตามระบบผู้ป่วยในที่สถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ หรือสถานฟื้นฟูระยะยาว

2.กลุ่มผู้เสพ (สีเหลือง) – รักษาแบบระบบผู้ป่วยนอก (OPD) ที่โรงพยาบาลชุมชน หรือผู้ป่วยในระยะสั้นที่สถานพยาบาลทั่วไป

3.กลุ่มผู้ใช้ (สีเขียว) – รักษาด้วยระบบบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน Community Based Treatment and Rehabilitation (CBTx)

 

ภูฟ้า บริการเลิกยาเสพติด

 

จากการเล็งเห็นปัญหาของยาเสพติดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เป็นแรงบันดาลใจให้กับ 'ก้องหล้า ภูวดลอานนท์' หรือ 'ก้องหล้า ลูกไทย' อดีตนักจัดรายการวิทยุและผู้บริหารรายการลูกทุ่งเวทีไท พร้อม ดร.ญดา ถาวร อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ (ภรรยา) ร่วมก่อตั้ง บริษัท ภูฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ให้บริการ 'เลิกยาเสพติดอย่างปลอดภัย' เพื่อเป็นเฟืองจักรหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคมไทย มุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาผู้ป่วยที่เป็นผู้เสพ จนสามารถนำส่งกลับคืนแก่ครอบครัว ภายใต้ความมุ่งมั่น 'คืนคนรัก..กลับสู่ครอบครัว'

 

ก้องหล้า ภูวดลอานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ภูฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจว่า ตลอด 42 ปี ของการทำงานในฐานะสื่อมวลชน การจัดรายการวิทยุ และทำงานด้านการรณรงค์และป้องกันไม่ให้คนไทยติดยาเสพติดมาโดยตลอด ซึ่งวันหนึ่งมีแฟนคลับโทรเข้ามาปรึกษาในรายการวิทยุเรื่องลูกติดยาจะทำอย่างไรดี จึงตัดสินใจใช้ที่ทำงานและสตูดิโอผลิตรายการเป็นสถานที่ของการเลิกยาเสพติด

 

โดยปรึกษาเพื่อนของภรรยาที่เป็นแพทย์ในการช่วยดูแล และใช้พนักงานทั้งเจ้าหน้าที่แสง เจ้าหน้าที่เสียง ช่างตัดต่อ โปรดิวเซอร์ เจ้าหน้าที่สตูดิโอ ไม่เว้นแม้แต่แม่บ้านทำความสะอาด และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยในการเลิกยา

 

 

 

“ตอนนั้นฟังแล้วจุก ด้วยความที่เราเป็นพ่อคน จึงสอบถามอาการ และให้พามาที่สตูดิโอ เราเริ่มจากคำว่าจิตวิญญาณ ความรับผิดชอบของนักจัดรายการ และ สัญชาตญาณความเป็นพ่อ เพราะเราก็มีลูกชายและลูกสาว ในวัยไล่เลี่ยกัน จึงรู้สึกว่าถ้าเป็นลูกของเราจะทำอย่างไร ก็ต้องทำ เมื่อมีคนเข้ามาให้ช่วยเลิกยาเพิ่มขึ้น”

 

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ภูฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ” โดยแห่งแรก คือ ศูนย์บำบัดยาเสพติด กรุงเทพฯ – ภูฟ้าเรสท์โฮม ในปี 2550 จำนวน 18 ห้อง ให้บริการเลิกยาเสพติดอย่างปลอดภัย โดยเป็นศูนย์บําบัดยาเสพติดที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากกระทรวงสาธารณสุข พร้อมใบอนุญาต โดยมีทีมแพทย์ ทีมบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเลิกยาเสพติดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บำบัดยาเสพติด หัวหิน - สวรรค์-อินเตอร์เนชั่นแนล 30 ห้อง และ ศูนย์บำบัดยาเสพติด เชียงราย – ภูตะวันเรสท์โฮม อีกทั้ง เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ฯ ที่จังหวัดขอนแก่นอีกหนึ่งแห่งในปีนี้

 

คืนคนดีกลับสู่สังคม

 

สำหรับการบำบัดรักษาของ ภูฟ้าเรสท์โฮม มีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ 

“กิจกรรม (ACTIVITIES)” เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เบื่อกับกระบวนการซ้ำประจำวัน กิจกรรมต่างๆ ทั้ง เกม กีฬา ดนตรี หรือความบันเทิง จะทำให้ผู้ป่วยได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และทำให้ได้เรียนรู้หลากหลายอย่างจากประสบการณ์ในการทำกิจกรรม เน้นเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยที่เข้ารับการพักฟื้นให้ไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ยังมีการทำสมาธิ สวดมนต์ ตักบาตร และกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ อีกด้วย

 

“เปลี่ยนทัศนคติ (PROCEDURE)” วิธีเลิกยาเสพติดอย่างยั่งยืนเกิดได้ด้วยทัศนคติที่ดี ด้วยความเชื่อว่าทุกคนสามารถกลับตัวเป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคมได้เสมอ จึงให้บริการทางด้านจิตวิทยาเพื่อขัดเกลาทัศนคติมุมมองของผู้ป่วยที่หลงผิดไปใช้ยาเสพติด ให้กลับมาเป็นที่รักได้อีกครั้ง

 

“การรักษา (THERAPY)” วิธีการปรับนิสัย ที่ไม่ใช่วิธีการดัดนิสัยคนติดยาด้วยกระบวนการแบบ Cognitive Behavioural Therapy (CBT) กระบวนการทางจิตวิทยาที่เน้นผลลัพธ์ในระยะสั้น และมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน ช่วยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความคิดหรือรูปแบบพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ในขณะเดียวกันมันจะช่วยในการเปลี่ยนความรู้สึกเกี่ยวกับการเผชิญปัญหาในชีวิตอีกด้วย

 

โดยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการบำบัดยาเสพติดใช้ระยะเวลาบำบัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดยา ชนิดของยาที่เสพ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ตั้งแต่ประมาณ 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 20 สัปดาห์

 

“พ่อแม่บางคนมีอีโก้ มีฐิติ เลี้ยงลูกแบบอยากได้แบบที่ตัวเองต้องการหรือบังคับ ลูกโตมาท่ามกลางความกดดัน ไม่ได้แสดงความรัก ถึงเวลาลูกก็หันไปพึ่งเพื่อน พึ่งยาเสพติด ดังนั้น จึงไม่ใช่เลิกยาอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องคุยกับพ่อแม่ เพื่อคืนกลับสู่สังคมและครอบครัว”

 

ท้ายนี้ ก้องหล้า กล่าวถึงความมุ่งหวังว่า อยากให้ลูกหลานในสังคมไทย อยู่ห่างไกลยาเสพติด เมื่อห่างไกลได้ ก็น่าจะมีอะไรเชิงบวกให้กับประเทศและแผ่นดิน รู้สึกดีใจเมื่อเห็นว่าคนที่มารักษาแล้วหายกลับออกไป ภูมิใจที่ได้คืนคนรักกลับครอบครัว หรือคืนคนดีกลับสู่สังคม

 

สถิติคดียาเสพติดทั่วประเทศ

 

รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ สำรวจโดย กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 พบว่า มีผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งสิ้น 206,361 คน หรือเทียบเท่าร้อยละ 78.67 ของผู้ต้องขังทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าคดียาเสพติดนับว่าเป็นคดีที่พบผู้ต้องหามากที่สุดเมื่อเทียบกับคดีอื่น ๆ ในประเทศไทย

 

สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ ยาเสพติดแบบแยกตามประเภทของตัวยา 3 อันดับที่พบมากที่สุด ได้แก่

1. เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) จำนวน 129,686 คน

2. ยาไอซ์ จำนวน 17,762 คน

3. กัญชา จำนวน 1,051 คน

 

สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ ยาเสพติดแบบแยกตามประเภทคดี 3 อันดับที่พบมากที่สุด ได้แก่

1. รวมประเภทยาเสพติดเพื่อจำหน่าย จำนวน 149,214 คน

2. ครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 119,464 คน

3. รวมประเภทเสพ จำนวน 22,364 คน