คลินิกสุขภาพเพศ ดูแลทุกมิติ เพื่อเพศที่หลากหลาย

คลินิกสุขภาพเพศ ดูแลทุกมิติ เพื่อเพศที่หลากหลาย

การเปิดกว้างเรื่อง 'ความหลากหลายทางเพศ' ทำให้ปัจจุบัน มีคลินิกสุขภาพเพศ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรพ.รัฐและเอกชน รวมถึง ในส่วนของ กทม. ภายในศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง และ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ 5 แห่ง เพื่อดูแลสุขภาพเพศได้ครบทุกมิติ

Key Point : 

  • คนข้ามเพศ เป็นกลุ่มที่มีความต้องการบริการด้านสุขภาพเพื่อการข้ามเพศที่เฉพาะไม่ว่าจะเป็น ความต้องการการปรึกษา การใช้ฮอร์โมนเพื่อการปรับสรีระ และ/หรือการผ่าตัดยืนยันเพศ ฯลฯ
  • ปัจจุบัน พบว่า มีการเปิดคลินิกสุขภาพเพศ เพื่อเพศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลภาครัฐ รวมถึง กทม. ภายในศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง และ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ 5 แห่ง
  • ภายในคลินิกสุขภาพเพศ ซึ่งประกอบด้วย ทีมแพทย์และสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อให้ได้บริการที่ครอบคลุม รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับครอบครัวโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น และการป้องกันโรค

 

ข้อมูลจากการ โครงการ “ส่งเสริมสุขภาวะ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบรการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย” (Transgender Health Access Thailand : T-HAT) เผยว่า คนข้ามเพศ เป็นกลุ่มที่มีความต้องการบริการด้านสุขภาพเพื่อการข้ามเพศที่เฉพาะและแตกต่าง ซึ่งการเข้าถึงบริการต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อความรู้สึกถึงการมีคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เช่น ต้องการการปรึกษา การใช้ฮอร์โมนเพื่อการปรับสรีระ และ/หรือการผ่าตัดยืนยันเพศ ฯลฯ ปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมการมีสุขภาวะของคนข้ามเพศที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

  • การเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะและตัวตนของคนข้ามเพศ
  • การมีระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตร ไม่กำหนดบริการที่รองรับเพียง 2 เพศ คือ หญิงกับชาย ที่จะทำให้คนข้ามเพศไม่รู้สึกแปลกแยก
  • การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ หากต้องการเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับสำนึกทางเพศ
  • และเข้าถึงหน่วยบริการที่มีอยู่อย่างครอบคลุมพื้นที่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

คลินิกสุขภาพเพศ เพื่อเพศที่หลากหลาย 

 

ปัจจุบัน พบว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการเปิดคลินิกสุขภาพเพศ เพื่อเพศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ คลินิกสุขภาพเพศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , Si-PRIDE คลินิกเพศหลากหลาย รพ.ศิริราช , คลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์ , คลินิกสุขภาพเพศ – คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , คลินิกสุขภาพบุคคลข้ามเพศ" (TW Clinic) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น

 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มี คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร ข้อมูลพบว่า ในอดีตกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender People) หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิดมักพบเจอกับข้อจำกัดในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ไม่ได้รับการแนะนำการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

 

ปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศ มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น สังคมไทยให้การยอมรับเรื่องเพศโดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น การติดต่อหรือเข้ารับการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศเป็นเรื่องเปิดเผยมากขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้ง ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือปัญหาฮอร์โมนเพศ และการเปลี่ยนแปลงในสตรีเมื่อถึงวัยหมดระดูเองก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ใกล้ตัวและหลายคนประสบมาโดยตลอด 

 

จุดเริ่มต้นของ คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) ก่อตั้งในปี 2561 เพื่อมุ่งเน้นการบริการแบบองค์รวมแก่บุคคลข้ามเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบทุกเพศ ทุกวัย และสตรีวัยหมดระดูที่ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศที่ลดลง และยังมุ่งเน้นงานทางวิชาการ สร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ทางเพศและสตรีวัยหมดระดู ก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาบัณฑิต การฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในทุกสาขาและการวิจัยค้นคว้าเพื่อสรรสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ของศาสตร์ทางด้านนี้

 

นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวภายในงานประชุม สุขภาวะของคนข้ามเพศ หรือ ‘ข้ามเพศมีสุข’ ว่า จากประสบการณ์ที่เคยดูแลมีหลากหลายจากเดิมที่ดูแลวัยผู้ใหญ่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพเพศ ไม่แข็งตัว ไม่มีอารมณ์ทางเพศ แต่พบว่าปัจจุบัน มีพ่อแม่จูงลูกมาให้ดูและขอคำปรึกษา ดังนั้น จึงต้องโดยต้องทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน 

 

สำหรับ คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) มีการดูแลกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender People) แบบครบวงจร ประกอบด้วยทีมแพทย์และสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสหสาขา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ฝ่ายอายุรศาสตร์ และฝ่ายกุมารเวชศาสตร์

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกสุขภาพเพศ รพ.จุฬาลงกรณ์

 

Gen V Clinic คลินิกเพศหลากหลาย

 

สำหรับ  Gen V Clinic คลินิกเพศหลากหลาย อยู่ภายใต้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้คำปรึกษาและดูแล วัยรุ่น ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศของตัวเอง พร้อมให้คำปรึกษากับผู้ปกครองที่พบว่าลูกอยู่ในกลุ่มเพศหลากหลายด้วย

 

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น Gen V Clinic คลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เรื่องเพศเป็นความรู้ที่เพิ่งเข้ามาราว 10 กว่าปี ตอนนี้เรื่องของ Transgender ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรของแพทย์เพื่อให้เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ

 

ปัญหาการใช้ฮอร์โมนในวัยรุ่นข้ามเพศที่พบ

 

  • ซื้อกินเอง ซื้อตามเพื่อน
  • กินตามสูตรทางอินเทอร์เน็ต
  • ไม่ทราบข้อบ่งชี้ หรือข้อห้ามใช้
  • ไม่มีการติดตามประเมินผลกระทบ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน
  • ไม่เข้าถึงบริการทางการแพทย์
  • ไม่มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้

 

ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งคลินิกให้บริการสุขภาพทางเพศ เป็นการให้บริการแบบองค์รวมกับวัยรุ่นที่มีเพศหลากหลายและครอบครัว ให้การดูแลวัยรุ่นที่ต้องการข้ามเพศด้วยการใช้ฮอร์โมนและการผ่าตัด และ เป็นต้นแบบของคลินิกเพศหลากหลายที่รวมบุคลากรหลากหลายสาขา และเป็นแบบ One Stop Service โดยมีทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ สูตินรีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จิตแพทย์เด็กวัยรุ่น แพทย์ผิวหนัง แพทย์หูคอจมูกผ่าตัดกล้องเสียง นักจิตวิทยา พยาบาล เป็นต้น

 

“จากการทำงานด้านนี้มา ต้องบอกว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวก กำแพงหายไปเยอะ ความรู้ของนักศึกษาแพทย์และคนรุ่นใหม่ดีขึ้นมาก โดยเรียนรู้ผ่านการสอนของสังคม ทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่าย ขณะเดียวกัน ในระยะเวลา 8 ปี หลังจากมี Gen V Clinic เกิดขึ้น พบว่า มีการเดินเข้ามารับฮอร์โมนอย่างปลอดภัยมากขึ้น และ ปัจจุบันมีคลินิกสุขภาพเพศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย”

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี

 

คลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์

 

สำหรับ คลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์ ถือเป็นคลินิกเฉพาะทางของหน่วยเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ ภาควิชาสูตินรีเวชและนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้การบริการในรูปแบบของการรักษา การบำบัด การให้คำปรึกษา และการให้ความรู้ เกี่ยวกับปัญหาทางเพศอย่างเป็นระบบ โดยแพทย์เฉพาะทางเพศวิทยาคลินิก และเวชศาสตร์ทางเพศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพเพศที่ดีและมีความเข้าใจมี่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพื่อลดปัญหาครอบครัว ปัญหาการหย่าร้าง และปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดจากเรื่องเพศ

 

รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ หน่วยเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสทางเพศ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดยมีแนวคิดทีว่า เพศสัมพันธ์ไร้โทษ ตอบโจทย์เพศวิถี สุขทวีกับเพศรส โดยปัจจุบัน มีไลน์แอดเพื่อให้เข้าถึงง่าย ไม่ต้องผ่านโรงพยาบาล เข้าสู่คลินิกโดยตรง สามารถทำใบนัดได้เลย ไม่ต้องผ่านเวชระเบียน เพื่อให้ผู้ที่มารับบริการสบายใจขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ จึงมีการจัดหลักสูตรให้กับบุคลากร รวมถึง พยาบาลในคลินิกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง พยายามผลิตแพทย์เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น และขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนกเฉพาะ โดยการจัดสิ่งแวดล้อมในคลินิกให้ Gender Friendly มีบรรยากาศสีสัน มีห้องน้ำข้างใน All gender Restroom ให้ทุกคนสามารถเข้าได้ทั้งหมด มีห้องตรวจ 10 ห้อง ซึ่งในส่วนที่ทำใหม่นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2566 

 

ทั้งนี้ ภายในคลินิกมีการทำงานแบบทีมสหสาขาวิชาชีพ มีพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตบำบัด นักพฤติกรรมบำบัด และการฝึกแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเป็นแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศโดยตรง มีการบริการหลากหลาย ได้แก่ ให้การบำบัดรักษาปัญหาสุขภาพทางเพศของทั้งผู้หญิง ชาย และบุคคลข้ามเพศ ด้วยวิธีการทางแพทย์แผนปัจจุบันโดยประยุกต์ให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมไทย และดูแลผู้รับบบิการแบบ Holistic Approach โดยใช้ทักษะในการ Counseling อย่างเป็นระบบในหลักการ Open Minded และ Non-Judgemental

 

"นอกจากนี้ ยังมี สมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ (ประเทศไทย) โดยมีการประชุมวิชาการ พูดคุยเรื่องปัญหาทางเพศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าใจ เรียนรู้ได้มากขึ้น อนาคตคาดว่าจะมีการผลักดันวิชาชีพ ในบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ ในการดูแลเรื่องปัญหาทางเพศ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มี นักเพศบำบัด เป็นต้น"

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์

 

BKK Pride Clinic กทม.

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีศูนย์บริการสาธารณสุข กระจาย 50 เขต 69 แห่ง ได้มีการจัดตั้ง คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร หรือ BKK Pride Clinic ตามนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายในศูนย์บริการสาธารณสุขทั้งหมด 16 แห่ง และ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร

 

พญ.ภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า BKK Pride Clinic มีบริการทั้งปรึกษาสุขภาพจิต ปรึกษาเรื่องฮอร์โมน ตรวจ HIV/TB/STI , การให้ยาต้าน HIV , ปรึกษาด้านศัลยกรรม และ ปรึกษาสุขภาพทั่วไป อีกทั้ง ยังมีเพิ่มเติมเรื่องยาเสพติด เนื่องจากมีเครือข่ายหลายคน พบว่า มีการใช้สารเคมีบางอย่างก่อนมีเซ็ก บางครั้งทำให้บางคนติดสารเคมีเหล่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีการกระจายความรู้เรื่องยาเสพติด การบริการ การตรวจ บำบัด รักษา ในคลินิกด้วย โดยพบว่ามีคนไข้ ให้ความสนใจ เข้ามารับการรักษามากขึ้น

 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก