นักวิชาการดัง เผย 5 ข้อ ปม "ซีเซียม-137" ถูกหลอม ชี้กระทบหนักระยะยาว
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง เผย 5 ข้อ ความจริงที่ต้องยอมรับเพื่อนำไปสู่การจัดการสำหรับ "ซีเซียม-137" ที่ถูกหลอมไปแล้ว ชี้กระทบหนักระยะยาว
กรณีการประกาศตามหาท่อขนาดใหญ่ วัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทั่งต่อมา ผู้ว่าฯปราจีนบุรี ได้แถลงยืนยันพบแท่งเหล็กบรรจุ ซีเซียม-137 ในโรงหลอมแห่งหนึ่งพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นสั่งปิดพื้นที่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ซึ่งจากประเด็นดังกล่าว นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Sonthi Kotchawat" ระบุว่า ความจริงที่ต้องยอมรับ เพื่อนำไปสู่การจัดการสำหรับ Cs137 หรือ "ซีเซียม-137" ที่ถูกหลอมไปแล้ว
1. ข้อมูลกรมโรงงานแท่ง Cs137 ถูกหลอมกับเศษเหล็กแล้วที่โรงงานเคพีพี ซึ่งเป็นโรงงานหลอมเหล็กใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แล้วได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตันในโรงงานไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2566
2. กระบวนการหลอมเหล็กในเตาหลอม จะนำเศษเหล็ก (ซึ่งกรณีนี้มีแท่ง Cs137 มารวมด้วย) มาอัดกันเป็นก้อน แล้วเทเข้าสู่เตาหลอมที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศา ขณะที่เพิ่มความร้อนจะมีฝุ่นเหล็กละเอียดออกมาลอยพ่น Hood ขึ้นไปสู่ถุงกรองฝุ่นหรือ Baghouse filter ซึ่งจะทำการกรองฝุ่นละเอียดไว้ได้ถึง 90% อีก 10% จะลอยออกไปที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศ ขณะที่ก้นเตาหลอมจะมีตะกรันเหล็ก หรือ Slag ที่เผาไหม้ไม่หมดกองอยู่ด้วย
3. ดังนั้นที่ปลายปล่องมีฝุ่นละเอียดกับ Cs137 ระบายออกไปสู่บรรยากาศรอบๆโรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งอาจไปไกลมากกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนฝุ่นแดงกับ Cs137 ในถุงกรอง หรือ Baghouse filter จะถูกบรรจุในถุงขนาดใหญ่นำไปรีไซเคิลยังโรงงานบริษัท เอ็น เอฟ เอ็ม อาร์ จำกัด หนองแฟบ ห้วยโป่ง จ.ระยอง เพื่อสกัดธาตุสังกะสีออกมา ซึ่งการสกัดต้องใช้การถลุงที่ใช้ความร้อนสูง จึงอาจมี Cs137 ปนเปื้อนออกมาที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศรอบๆโรงงานนั้นใน จ.ระยอง ด้วย ส่วนตะกรันเหล็ก หรือ Slag ทราบว่าโรงงานหลอมเอาไปฝังกลบไว้รอบๆโรงงาน ดังนั้นจึงอาจมีสาร Cs137 ปนเปื้อนในดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินได้
4. สิ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตหากสาร Cs137 ปะปนในสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยา เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ทั้งการหายใจและทางอาหาร เช่น Cs137 ลงในน้ำเข้าสู่ตัวปลาและมนุษย์จับปลามากิน เป็นต้น หรือหายใจเอาฝุ่นของ Cs137 เข้าไปจะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสาร Cs137 จะปล่อยรังสีแกมม่าและเบต้าออกมา การสลายตัวครึ่งชีวิตใช้เวลาถึง 30 ปี รังสีที่แผ่ออกมาจากฝุ่น Cs137 จะทำให้เซลในร่างกายเกิด Mutation หรือกลายเป็นเซลที่ผิดปกติ บางส่วนของรังสีจะไปกระตุ้นโครโมโซมในยีนส์ให้เปลี่ยนรูป สุดท้ายประมาณ 5-10 ปีก็อาจกลายเป็นมะเร็งได้
5. ผลกระทบต่อสุขภาพในปัจจุบันอาจไม่ค่อยเห็น แต่ระยะยาวหากรับสารนี้เข้าไปไม่ว่าทางการหายใจหรือการกินมีผลกระทบแน่ ดังนั้นภาครัฐต้องเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงานและประชาชน รวมทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอาหารสัตว์น้ำ พืช ผัก ผลไม้ที่ปลูกใกล้เคียงโรงงานอย่างน้อย 1-2 ปี ให้แน่ใจว่าไม่มีสาร Cs137 ตกค้างในห่วงโซ่อาหารแล้วจึงค่อยวางมือ ขณะเดียวกันต้องบอกความจริงเกี่ยวกับผลของการตรวจวัดรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตร อย่างน้อย 5 ปีด้วย
นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม