อย่าตื่นตระหนก "ซีเซียม 137" ปริมาณน้อยฟุ่งกระจายไม่ไกล ผลไม้ปราจีนฯ ทานได้

อย่าตื่นตระหนก "ซีเซียม 137" ปริมาณน้อยฟุ่งกระจายไม่ไกล ผลไม้ปราจีนฯ ทานได้

จากกรณีที่โรงไฟฟ้าไอน้ำแห่งหนึ่งในจ. ปราจีนบุรี ได้แจ้งความถึงการสูญหายของวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 โดยที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าวันที่หายไปนั้นวันไหนกันแน่

Keypoint:

  • ซีเซียม 137 ในไทย ปริมาณ 41.4 mCi ถือว่าน้อย  คณะแพทย์ รามาฯ ยันกระแสข่าวฟุ้งกระจายไกล 1,000 กม. ไม่ใช่ความจริง เจือจางตามธรรมชาติไดิ
  • ขอให้ประชาชนตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนัก ผัก ผลไม้จากปราจีนบุรี ยังรับประทานได้ ไม่ปนเปือน 
  • เตือนประชาชนห้ามซื้อยา Prussian blue ใช้เอง การรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ขณะเดียวกัน กระแสข่าวก่อนหน้านี้ ได้ระบุว่า วัตถุซีเซียม-137 ได้ถูกหลอม-ถลุง กลายเป็นฝุ่นเหล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสี สร้างความกังวลให้แก่ประชาชน และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขอย่างมาก

ด้วยการสูญหายไปแน่ชัดว่าเมื่อใด และหายไปอย่างไร? ทางสำนักงานสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ร่วมกับหน่วยงายในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี กว่า 10 วัน ในการค้นหา จนพบ ซีเซียม-137 ปนเปื้อนอยู่ใน “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” ซึ่งเกิดจากการหลอมโลหะด้วยความร้อนสูง ณ โรงหลอมเหล็ก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แต่ทั้ง ปส. และ จ.ปราจีนบุรี ออกมายืนยันว่าไม่ได้มาจากวัตถุที่สูญหาย

ล่าสุด แม้จะมีการพบซีเซียมแล้ว และอยู่ในโรงหลอมจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่กระจายออกจากโรงหลอม แต่ด้วยความกังวลของประชาชนส่งผลให้หลายๆ คนไม่กล้ารับประทานผลผลิตทางการเกษตร ผลไม้ พืชผักต่างๆ หรือไปเที่ยวจ.ปราจีนบุรี และมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการแพร่กระจาย อันตรายของซีเซียมมากมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ซีเซียม-137' ไม่เทียบเท่ากับ ‘เชอร์โนบิล’

นักวิชาการดัง เผย 5 ข้อ ปม "ซีเซียม-137" ถูกหลอม ชี้กระทบหนักระยะยาว

ซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปริมาณต่ำ - ไม่น่าเป็นกังวล

ข้อสังเกต'ซีเซียม-137' ล่องหนหายไปได้อย่างไร 

 

ซีเซียมที่เกิดเหตุ 41.4 mCi เป็นปริมาณน้อยมาก

ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี  ผู้เชี่ยวชาญภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว “ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue)” จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า

ซีเซียม ที่เกิดเหตุมีค่าความแรงรังสี (activity) ปัจจุบันอยู่ที่ 41.4 mCi ซึ่งเมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 mCi  หรือถ้าคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.000505 กรัม (505 ไมโครกรัม) ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำเพราะจากที่หาข้อมูลมีการใช้งานตั้งแต่ 1 – 10,000 mCi

อย่าตื่นตระหนก \"ซีเซียม 137\" ปริมาณน้อยฟุ่งกระจายไม่ไกล ผลไม้ปราจีนฯ ทานได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้งานซีเซียมในการควบคุมคุณภาพเครื่องมือทางรังสีวิทยา ความแรงรังสีประมาณ 1/100 ของซีเซียมที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2529 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 27 kg หรือ 2.35×109 mCi  เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุ 56.76 ล้านเท่า  

ปริมาณรังสีซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา (Fukushima Daiichi) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 17 PBq = 4.60×108 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุนี้ 11 ล้านเท่า โดยประมาณ 24% จากเหตุการณ์นี้ถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดยตรง

 

โอกาสซีเซียมปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมน้อย

ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์  กล่าวต่อว่าซีเซียมจุดเดือดต่ำเมื่อเทียบกับเหล็ก คือ จุดเดือด 671 องศาเซลเซียส จึงทำให้ถ้าเกิดการหลอม ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและเป็นฝุ่นในห้องหลอม ฉะนั้น การล้างห้องหลอมหรือการเกิดควันที่เกิดจากการหลอมมีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม การที่ไอและฝุ่นในห้องหลอม ถ้าไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิดและถูกจัดการให้เป็นกากกัมมันตรังสี มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำหรือปลิวไปในอากาศและอาจไปสะสมในสิ่งแวดล้อมได้

“จากข้อมูลตามการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การหลอมเป็นระบบปิดและมีตัวกรองของเตาหลอม ถ้ามีการจัดเก็บฝุ่นในระบบปิดตามที่แถลง โอกาสที่จะมีรังสีซีเซียมปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมจึงน้อย” ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์ กล่าว

เมื่อพบวัตถุกัมมันตรังสี ปิดกั้นบริเวณแจ้งสายด่วน  1296

ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์  กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรับรังสีนั้น จะสามารถรับรังสีจากภายนอก และแหล่งกำเนิดจากร่างกาย (ภายใน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ได้  ดังนั้น ชาวบ้าน หรือประชาชนที่อยู่รอบๆ  หรือคนที่ทำงานอยู่ในโรงหลอมจะต้องเฝ้าระวัง และมีการตรวจเช็กร่างกาย แต่ทั้งนี้ ในภาวะปัจจุบันอาจจะไม่ต้องกังกวลมาก  เพราะจำนวนปริมาณซีเซียมน้อย  

“ตอนนี้ที่มีกระแสข่าวว่าซีเซียม กระจายได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตรนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะด้วยปริมาณของซีเซียมที่ถือว่าน้อยมาก สามารถเจื้อจางได้ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับผักผลไม้ พืชผลทางการเกษตร ซึ่งปกติมีสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว ฉะนั้น ปริมาณรังสีที่เกิดเหตุในครั้งนี้ 41.4 mCi ถือว่าไม่มีโอกาสที่จะทำให้ผลไม้ พืชผักในพื้นที่เกิดการปนเปื้อนได้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลสามารถรับประทานอาหารในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี หรือไปเที่ยวในจ.ปราจีนบุรี ทำได้ตามปกติได้” ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์   กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังอยู่ในขึ้นตอนการพิสูจน์ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่สูญหายไปจริง ยังรอกระบวนการพิสูจน์ แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวัง และสังเกตวัตถุต้องสงสัยโดยให้ดูเครื่องหมายทางรังสี ป้ายสัญลักษณ์รังสี ซึ่งหากพบวัตถุที่สงสัย ไม่ควรไปนำมาส่งคืน หรือพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง

“สิ่งที่ควรทำเมื่อพบวัตถุกัมมันตรังสี คือปิดกั้นบริเวณและแจ้งสายด่วน  1296 เนื่องจากรังสีสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดรังสีเท่านั้น ส่วนเรื่องเรื่องฝุ่นกัมมันตรังสีซีเซียมนั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามค่าการวัดรังสีที่รายงานจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  ส่วนการปฏิบัติตัวสามารถทำได้ตามปกติได้” ผศ.ดร.กฤศณัฏฐ์   กล่าว

ซีเซียมเทียบขนาด 1ใน 1,000 เท่าของยาพารา

ศ.นพ.วินัย วนานุกูลหัวหน้า ศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่าซีเซียมที่เกิดเหตุปริมาณไม่มาก ซึ่งอยากให้ทุกคนตระหนัก แต่ต้องไม่ตระหนก  และขอให้ปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพราะปริมาณของซีเซียมที่เกิดขึ้น หากเทียบกับยาพารา จะมีขนาด 1 ใน 1,000 เท่าของเม็ดยาพารา ดังนั้น ไม่อยากให้ทุกคนกังวล

“ขณะที่เรื่องของยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue) นั้น ก่อนหน้านี้ ศูนย์พิษวิทยา มียาดังกล่าวแต่ไม่ได้ใช้ ทำให้ขณะนี้ยาส่วนใหญ่หมดอายุไป ทำให้ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มียาที่จะใช้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้เริ่มมีการซื้อเข้ามาแล้ว  และทางศูนย์พิษวิทยา ร่วมกับสปสช. และอย.ได้มีการสำรองยาต้านพิษ ไว้บางส่วน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม นอกจากนั้น สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้” ศ.นพ.วินัย กล่าว

Prussian blue รักษาต้านพิษซีเซียม

รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย  อาจารย์ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าPrussian blue เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน ใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียมโดยมีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมอยู่ภายในร่างกาย (Internal contamination) ของคนไทยเท่านั้น แต่ถ้าเปื้อนผิวหนัง เสื้อผ้า จะไม่ใช้ในการรักษา

กลไกการออกฤทธิ์หลักของ Prussian blue คือ การลดการดูดซึมซีเซียมเข้าสู่ร่างกาย โดยมีการจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (enterohepatic recirculation

“Prussian blue มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้ ดังนั้น ในการดูแลรักษาในระยะที่เป็นพิษ ไม่ควรซื้อมารับประทานเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้  การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์เท่านั้น”รศ.พญ.สาทริยา กล่าว

ส่วนการจะให้ยา Prussian blue ได้นั้น ต้องมีการตรวจวัดปริมาณรังสีในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ส่วนการจะให้ปริมาณยาเท่าใด ขนาดยาที่จะใช้ต่อวัน ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีในร่างกายของแต่ละคน

เฝ้าระวังซีเซียมสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้

รศ.พญ.สาทริยา  กล่าวด้วยว่าซีเซียม (Cesium, Cs-137) เป็นสารกัมมันตรังสี โดยเป็นไอโซโทปของซีเซียม มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) นาน โดยประมาณกว่า 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา ซึ่งสามารถส่งผลต่อร่างกายโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณของรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ ส่วนของร่างกายที่ได้รับ

สำหรับผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ผลในระยะสั้น ได้แก่ ผลที่เกิดเฉพาะที่ (local radiation injury) เมื่อมีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง  คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้

นอกจากนั้น ผลต่อระบบอื่นในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก เรียกว่า กลุ่มอาการเฉียบพลันจากการได้รับรังสีปริมาณสูง (acute radiation syndrome) โดยจะมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะมีผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่ ระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ

“ผลกระทบต่อร่างกายในแต่ละระบบจะมีความแตกต่างกัน นั่นคือ ถ้าเป็นระบบโลหิต ผู้รับสารซีเซียมเข้าสู่ร่างกาย จะกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดต่ำลงได้ ส่วนระบบทางเดินอาหาร มีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด และระบบประสาท  ทำให้คนไข้มีอาการสับสน เดินเซ ซึมลง และชักได้โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง  ขณะที่ผลระยะยาวที่สำคัญคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ ดังนั้น ถึงในครั้งนี้จะปริมาณไม่มา แต่ประชาชนต้องเฝ้าระวัง ป้องกันตนเองไม่ให้ซีเซียมเข้าสู่ร่างกาย ” รศ.พญ.สาทริยา กล่าว