แสงแดดตัวการ 'ฝ้า กระ' ปกป้องผิว เลือก 'ครีมกันแดด' อย่างไร ให้เหมาะสม
ในหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด แสงแดด ที่รุนแรงภายนอก อาจส่งผลต่อผิวได้ โดยเฉพาะ ฝ้า กระ ที่เกิดจากหนึ่งในตัวการสำคัญ คือ แสงแดด แล้วเราจะปกป้องผิวอย่างไร เลือกครีมกันแดดแบบไหน ถึงจะเหมาะสม
แสงแดด นับเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นและเกิด ฝ้า กระ ได้ นอกจากนี้ การโดนแสงแดดสะสมเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบาย สาเหตุการเกิด ฝ้า กระ ว่า 'ฝ้า' มีลักษณะเป็นปื้น มักเกิดขึ้นบริเวณหน้า โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก คาง ไรหนวด
สาเหตุเกิดฝ้า
- แสงแดด
- พันธุกรรม
- การได้รับฮอร์โมนบางชนิดโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด หรือภาวะตั้งครรภ์
- นอกจากนี้ แสงที่ตามองเห็น (visible light) ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าในคนที่ผิวเข้มได้
ฝ้าบนหน้ามีกี่กลุ่ม
สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายว่า ฝ้าที่พบบนใบหน้าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ส่วนกลางของใบหน้า ได้แก่ หน้าผาก จมูก คาง หรือส่วนเหนือริมฝีปากบน
- ส่วนโหนกแก้ม , แก้ม
- ส่วนแนวกราม
การวินิจฉัย
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- ตรวจด้วย Wood Lamp ทำให้เห็นขอบเขตได้ชัดเจนขึ้น
- การวินิจฉัยแยกโรค จะต้องแยกจากความผิดปกติของเม็ดสีแบบอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ 'กระ' มีหลายชนิด ได้แก่ กระแดด กระตื้น กระลึก และกระเนื้อ เป็นต้น
- กระแดด มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล ขอบชัด ขนาด 0.3-2 เซนติเมตร มักเกิดบริเวณที่ถูกแสงแดด พบได้ในวัยกลางคนถึงสูงอายุ
- กระตื้น (Frec k les) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็ก มักเกิดบริเวณผิวที่ถูกแสงแดด พบได้ในคนผิวขาว ตั้งแต่อายุน้อย
- กระลึก มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเทา ขนาดเล็กที่โหนกแก้ม 2 ข้าง มักพบในคนเอเชีย
- กระเนื้อ เป็นตุ่มนูน สีน้ำตาล ดำ พบได้บ่อยในคนสูงวัย และผู้ที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง
การรักษาฝ้า กระ
ฝ้า
- ยังไม่มีวิธีการรักษาฝ้าให้หายขาด และฝ้าสามารถกลับมาเป็นช้ำได้อีกหลังหยุดการรักษา สิ่งสำคัญในการรักษาฝ้า คือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้า ได้แก่ การหลีก
- เลี่ยงแสงแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ รวมถึงงดการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมน
- การรักษาด้วยยาทา ประเภทไวท์เทนนิ่ง ช่วยให้ฝ้าจางลงได้
- การรับประทานยา ช่วยให้ฝ้าจางลงได้แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
- การรักษาอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกับยาทา ได้แก่ การผลัดเซลล์ผิว (Chemical peeling) และเลเซอร์
กระ
- ยาทา สามารถทำให้กระแดดและกระตื้นจางลงได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถรักษากระให้หายได้ 100% กระ จึงควรรักษาด้วยการทำเลเซอร์ เช่น Picosecond Laser , Q- Switched Laser หรือ Carbon dioxide laser ตามแต่ละชนิดของกระ
- การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การผลัดเซลล์ผิว (Chemical peeling)
- หลังการรักษาควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ อธิบายว่า การรักษากระแดดนั้น สามารถรักษาได้ ดังนี้
1. การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่กลุ่มยาทาลดรอยดำ เช่น hydroquinone, tretinoin, adaptable สามารถลดรอยดำได้ รวมถึงการใช้กรดลอกผิว ในความเข้มข้นที่ต่างๆ กันที่มีฤทธิ์ในการลอกผิวหนังชั้นบน พบว่าได้ผลดีในการรักษากระแดดรวมถึงรอยโรคจากแสงแดดชนิดอื่นๆ แต่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่แนะนำให้ซื้อมาทำเอง
2. การรักษาด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลว, เลเซอร์เม็ดสีโดยการใช้ไอเย็น และเลเซอร์รักษานั้น อาจจะต้องทำหลายครั้งแต่ละครั้งจะมีแผลที่ตกสะเก็ด ถ้าเลี่ยงแดดและดูแลแผลไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดรอยดำมากขึ้น หรือทำให้เกิดรอยขาวได้
"การรักษาส่วนใหญ่จะสามารถทำให้รอยโรคจางลงหรือหายไปได้ชั่วคราวและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ค่อนข้างบ่อย แต่ส่วนใหญ่จะมีสีที่จางลงมากกว่าก่อนการรักษาถ้าได้รับการรักษาและการดูแลแผลหลังการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นก่อนทำการรักษาควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
การป้องกันฝ้า กระ
1. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดให้ได้มากที่สุด สวมหมวกหรือกางร่มเพื่อป้องกันแดด เนื่องจากการใช้ครีมกันแดดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
2. ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยมีค่า SPF 50+ ขึ้นไป ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมคือ บีบครีมให้ยาวประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ แต่หากเป็นกันแดด
ชนิดน้ำหรือโลชั่นควรบีบขนาดประมาณ 1-2 เหรียญ 10 บาท
3. หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรทาครีมกันแดดช้ำทุก 2 ชั่วโมง
เลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะสม
ครีมกันแดด ถือเป็นหนึ่งอาวุธสำคัญ ในการปกป้องผิวจากแสงแดด ขณะเดียวกัน แม้จะทาทุกวัน แต่ก็ต้องทาครีมกันแดดไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการทาบริเวณใบหน้า ลำคอ และผิวบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุมให้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากแสงแดดซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาฝ้า กระแดด จุดด่างดำ หรือมะเร็งผิวหนัง ในภายหลังได้
ครีมกันแดดมีกี่ประเภท
1. Chemical Sunscreen
- ปกป้องผิวโดยการดูดซึมรังสียูวีและมีปฏิกิริยาบนผิว มีโอกาสเกิดการแพ้ได้
2. Physical Sunscreen
- ปกป้องผิวโดยการเคลือบชั้นผิว เมื่อรังสียูวีส่องลงบนผิว รังสียูวีจะสะท้อนกลับออกไป ไม่เกิดปฏิกิริยาที่ผิวโดยตรง ทำให้เกิดโอกาสแพ้ได้น้อยกว่า
UV แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- UVA ทำให้ผิวเกิดผิวแห้งกร้านและริ้วรอยก่อนวัยอันควร
- UVB เป็นสาเหตุให้ผิวไหม้แดด
- UVC ไม่สามารถส่องผ่านมาถึงโลกได้
ดังนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยดูได้จาก
1. SPF (Sun Protective Factor)
SPF บอกถึงการป้องกัน UVB โดยถ้าเลือกใช้ SPF สูงมากเท่าไรก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกัน UVB มากขึ้น
2. การป้องกัน UVA ดูได้จาก 2 สัญลักษณ์ บนผลิตภัณฑ์กันแดด
PA (Protective Grade of UVA)
- PA+ หมายถึง ปกป้อง UVA ได้ 2 - 4 เท่า
- PA++ หมายถึง ปกป้อง UVA ด้ 4 - 8 เท่า
- PA+++ หมายถึง ปกป้อง UVA ได้ 8 - 16 เท่า
- PA++++ หมายถึง ปกป้อง UVA ได้มากกว่า 16 เท่า
มีสัญลักษณ์ UVA
3. Water proof/ Water resistance
ในกรณีเลือกครีมกันแดดชนิดกันน้ำ ควรมีระบุดังนี้
- Water resistance (40 minutes) หมายถึง กันน้ำได้นาน 40 นาที
- Very water resistance (80 minutes) หมายถึง กันน้ำได้นาน 80 นาที
เลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เหมาะสม
1. เลือกใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยครีมกันแดดที่ดีควรมีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
2. ควรเลือกครีมกันแดดที่มีสัญลักษณ์ PA +++ หรือ PA ++++ หรือสัญลักษณ์ UVA
3. ในกรณีที่จำเป็นต้องออกกิจกรรมกลางแจ้งหรือมีเหงื่ออกมาก เช่น ว่ายน้ำตี่กอล์ฟ หรือ เทนนิส ควรเลือกใช้ครีมกันแดดชนิดกันน้ำ
หลักในการทาครีมกันแดด
1. ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที
2. ปริมาณครีมกันแดดสำหรับทาหน้าที่เหมาะสม คือ บีบครีมให้ยาวประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ แต่หากเป็นกันแดดชนิดกันน้ำหรือโลชั่นควรบีบประมาณ 1-2 เหรียญสิบ
3. แต้มครีมกันแดด 5 จุดลงบนใบหน้า (หน้าผาก, แก้มทั้ง 2 ข้าง, จมูก และคาง) และเกลี่ยครีมให้ทั่วหน้า
4. ทาครีมกันแดดช้ำ ในกรณีที่มีเหงื่ออกมากและหลังขึ้นจากน้ำทุกครั้ง
5. ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากออกแดดจัด
6. หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วง 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เพราะแสงอุลตร้าไวโอเลต ในช่วงนั้นแรง
อย่างไรก็ตาม แม้จะทาครีมกันแดดเป็นประจำ และถูกวิธี แต่ความร้อนจากแสงแดดก็อาจทำให้ครีมกันแดดละลายได้ ดังนั้น เวลาออกแดดแรงๆ เป็นเวลานาน จึงไม่ควรละเลยส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็น เช่น คอ หลัง และหู เพราะการทาครีมกันแดดให้ทั่วถึงมีความสำคัญ นอกจากนี้ ควรใช้อุปกรณ์กันแดดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ร่ม แว่นตากันแดด หมวกปีกกว้าง หรือใส่เสื้อแขนยาว เพื่อช่วยป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตเพิ่มเป็นสองชั้น
อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , สถาบันโรคผิวหนัง