เมื่อ ‘ต่อมรับรส’ เปลี่ยนไป ทำให้ ‘ผู้สูงอายุ’ กินอาหารได้น้อยลง
หลายคนคงเคยเจอปัญหา “ผู้สูงอายุ” ไม่ยอมกินอาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง นั่นเป็นเพราะผู้สูงอายุส่วนมากมีการรับรู้รสชาติต่างๆ ในอาหารที่เปลี่ยนไป แต่กลับรู้สึกถึงรสชาติหวานได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
Key Points:
- หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลงนั้น เป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการรับรู้รสชาติที่เสื่อมถอยลง
- เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัย 70 ปีขึ้นไป คนเราจะรับรสชาติได้ลดลงมากถึง 2 ใน 3 ของต่อมรับรสทั้งหมด
- แม้ว่าจะรับรสชาติส่วนใหญ่ได้น้อยลง แต่ในบางรสชาติอย่าง “รสหวาน” ผู้สูงอายุกลับรับรสนี้ได้ง่ายขึ้น ทำให้บางคนรับประทานของหวานมากเกินพอดี จนกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม
ใครที่ต้องคอยดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ อาจจะเคยพบปัญหาผู้สูงอายุไม่ยอมรับประทานอาหาร แม้ว่าจะเป็นเมนูเดิมที่เคยทำ หรือมาจากร้านเดิมที่เคยซื้อให้บ่อยๆ หรือเป็นอาหารที่ผู้สูงอายุเคยชอบทาน แต่อยู่มาวันหนึ่งก็กลับบอกว่าไม่ชอบและไม่ยอมรับประทานเสียอย่างนั้น
หลายคนอาจมองว่าเกิดจากปัญหา “เบื่ออาหาร” แต่ความจริงแล้วอาจเกิดจาก “การรับรู้รสชาติ” ที่เปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอยลงไปตามอายุ และที่เป็นอันตรายก็คือ รสชาติหวานกลับเป็นรสชาติแรกที่ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ได้มากกว่ารสอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคได้ในอนาคต
- อายุมากขึ้น การรับรสชาติก็ยิ่งเสื่อมถอยลง
แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้นระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายย่อมมีความเสื่อมถอยลงไป หนึ่งในนั้นก็คือ “การรับรู้รสชาติ” ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนเกิดอาการเบื่ออาหารตามมา สาเหตุเกิดจากผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่อมรับรสที่รับรสชาติต่างๆ จะเริ่มมีประสิทธิภาพลดลง จากเดิมที่เคยมีอยู่ประมาณ 10,000 -15,000 ต่อมรับรส แต่เมื่ออายุเข้าสู่ช่วง 70 ปี ต่อมรับรสจะลดลงถึง 2 ใน 3 ของต่อมรับรสทั้งหมด โดยรสเค็มและรสขมจะเป็นรสชาติแรกๆ ที่ผู้สูงอายุรับรสได้น้อยลง ทำให้เมื่อรับประทานอาหารจะรู้สึกว่าจืดชืด ไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน แม้ว่าจะเป็นเมนูเดิมที่ปรุงรสอย่างเดิมก็ตาม
สำหรับสาเหตุที่เร่งให้เกิดการเสื่อมของต่อมรับรส ได้แก่ ยา หรือโรคบางโรค เช่น โรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมอง เชื่อมโยงให้ระบบประสาททางความรู้สึกต่างๆ ทำงานลดลง นอกจากนี้ในผู้สูงอายุบางคนต่อมน้ำลายจะลดลงด้วย ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง และดื่มน้ำน้อยลง ยิ่งส่งผลให้การรับรสชาติต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
- แม้รับรสได้น้อยลง แต่รสหวานกลับเป็นรสชาติแรกที่สัมผัสได้
ในทางกลับกันถึงแม้ว่าผู้สูงอายุรับรู้รสชาติต่างๆ ของอาหารได้น้อยลง แต่ “รสหวาน” กลับเป็นรสชาติที่ชัดเจนที่สุดในการรับรสของผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุบางคนเริ่มติดอาหารหวานๆ หรือขนมหวาน เนื่องจากเป็นอาหารที่รับประทานแล้วรู้สึกถึงรสชาติมากกว่าอาหารประเภทอื่น
ทั้งนี้ การที่ผู้สูงอายุติดอาหารรสชาติหวานและรับประทานของหวานมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายตามมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและข้อเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคฟันผุ และ โรคขาดสารอาหาร เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานของหวานจนติดเป็นนิสัย คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลควรจัด เมนูอาหารของผู้สูงอายุในแต่ละวันให้เป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ เบื้องต้นสามารถทำได้โดยการตรวจสอบจากการอ่านฉลากโภชนาการ หรือ ลดการเติมน้ำตาลลงในอาหาร ลดการกินผลไม้ที่มีรสหวานหรือผลไม้แห้ง และพยายามควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารไม่ให้เกิน 4 ช้อนชา ต่อวัน
- ปรับเมนูอาหาร เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ
สิ่งสำคัญสำหรับการเตรียมอาหารให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการเบื่ออาหาร เพราะการรับรู้รสชาติที่เปลี่ยนไปนั้น อาจเริ่มจากการปรับลดหรือเพิ่มวัตถุดิบบางอย่างเพื่อให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น แต่ต้องไม่ปรุงให้มีรสจัดเกินไปเพราะจะกลายเป็นยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยสามารถเริ่มปรับได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ลดแป้งและไขมันลง
สำหรับผู้สูงอายุแล้วไม่ควรบริโภคข้าวหรือสารอาหารประเภทแป้งและไขมันมากเกิน 2 ทัพพีต่อ 1 มื้อ เพราะจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
2. เพิ่มอาหารประเภทผักและผลไม้
เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีระดับ คอเลสเตอรอลในร่างกายที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้น ควรเสริมด้วยผักและผลไม้ที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้ดีขึ้น ทั้งยังได้รับแร่ธาตุและวิตามินที่ดี แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้รับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงเกินไป
3. ลดโซเดียมและอาหารรสจัดลง
ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้สูงอายุรับรู้รสชาติอาหารได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางร่างกาย แต่ก็ไม่ควรเตรียมอาหารรสจัด รสเค็ม หรืออาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงให้กับผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิต และ โรคไตได้ง่ายขึ้น ควรเตรียมอาหารที่มีการปรุงรสน้อยที่สุด แต่เปลี่ยนวิธีการทำหรือเปลี่ยนเมนูให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น
การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการเบื่ออาหารนั้น ถือเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับลูกหลานในครอบครัว ผู้ดูแล และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เนื่องจากหากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลงเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลงเรื่อยๆ การปรึกษาแพทย์ จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกสำคัญเพื่อให้ผู้สูงชีวิตมีสุขภาพที่ดีและห่างไกลจากโรคภัย
อ้างอิงข้อมูล : อายุวัฒน์, Tatlpartnership และ Gourmet & Cuisine