พี่นัทการ์ตูนคลับ อาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน หมอเผยปัจจัยทำให้เสียชีวิต
อาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน คร่าชีวิต นัท ธนัท ตันอนุชิตติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย หรือ "พี่นัทการ์ตูนคลับ" ด้านคุณหมอด้านโรคหืดและภูมิแพ้ก็ได้พูดถึงปัจจัยเสี่ยงจากโรคนี้จนทำให้เสียชีวิต
อาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน คร่าชีวิต นัท ธนัท ตันอนุชิตติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย หรือ "พี่นัทการ์ตูนคลับ" เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.66) ด้านคุณหมอด้านโรคหืดและภูมิแพ้ก็ได้พูดถึงปัจจัยเสี่ยงโรคหอบหืดนี้จนทำให้เสียชีวิต
(6 พ.ค.66) ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กอาลัยต่อขอแสดงความเสียใจ และเป็นกำลังใจให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดของคุณนัท โดยระบุว่า ในฐานะที่เป็นหมอดูแลคนไข้โรคหืด รู้สึกเสียใจมากในทุกครั้งที่ได้ยินข่าวการเสียชีวิตของคนไข้โรคหืด
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดหืดกำเริบรุนแรงจนเสียชีวิตจากโรคนี้เกิดจาก การใช้ยาขยายหลอดลม ที่เป็นยาฉุกเฉินบ่อยอย่างน้อย 3 หลอด/ปี หรือเกือบทุกวัน ซึ่งการใช้ยาฉุกเฉินขยายหลอดลมบ่อยๆ ทำให้ดื้อยาและหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การใช้ยาควบคุมที่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูดทุกวันจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันหืดกำเริบเฉียบพลัน
ส่วนปัจจัยอื่นๆที่เพิ่มความเสี่ยงในการหอบกำเริบ ได้แก่
- การที่มีอาการหอบกำเริบรุนแรง (หอบจนต้องมา รพ.หรือใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน)
- หอบกำเริบบ่อยทุกเดือน (กรณีไม่รุนแรง) หรือมีโรคอื่นๆพบร่วมอื่นๆ
ศ.พญ.อรพรรณ ย้ำว่า สำหรับใครที่เป็นโรคหืด อย่าลืมใช้พ่นยาควบคุมอาการทุกวัน เพื่อป้องกันอาการหอบกำเริบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'โรคหอบหืด' ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย
- อาลัย 'พี่นัท การ์ตูนคลับ' เสียชีวิตแล้ว
ภาวะหอบหืดเฉียบพลัน (Acute Asthmatic Attack) จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ
- ไอเป็นชุดๆ
- หายใจลำบากมากแม้จะนั่งพักอยู่
- หายใจมีเสียงหวีดดัง
- แน่นหน้าอก
- หายใจแล้วหน้าอกบุ๋ม
หากอาการหอบหืดเฉียบพลันรุนแรงมาก จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้ปกติ รู้สึกตัวน้อยลง ซึมหรือสับสน
นับว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากสมองและอวัยวะสำคัญขาดออกซิเจน
ข้อมูลของ worldlifeexpectancy บอกว่า พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหืดวันละ 8-9 ราย คิดเป็น 3,142 รายต่อปี คิดเป็น 3.42 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งผู้ใหญ่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า
สาเหตุส่วนใหญ่ คือ ไม่ได้พ่นยาป้องกันหอบต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทัน/ไม่ถูกวิธี เนื่องจากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อมีอาการ ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้าใจเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย