เปิดสาเหตุ 'อาการวูบ' ฉับพลัน เกิดได้กับทุกวัย คนอายุยังน้อยก็เสี่ยงด้วย
คนแข็งแรงก็เสี่ยง! เปิดสาเหตุ "อาการวูบ" หรือ "โรควูบ" ที่ผู้ป่วยมักจะเป็นลมหมดสติแบบฉับพลันทันที แม้ไม่เคยมีโรคประจำตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่หนุ่มสาวที่อายุยังน้อย
จากกรณี "เอส กันตพงศ์ บำรุงรักษ์" เกิด "อาการวูบ" หมดสติกะทันหัน ในงานอีเว้นท์หนึ่งท่ามกลางอากาศร้อนในวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้จัดการส่วนตัวยืนยันว่าพระเอกวัย 36 ปี กำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัว แต่แพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการป่วยได้ ขอดูอาการวันต่อวัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพระเอกหนุ่มเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่กลับมีอาการวูบเกิดขึ้น
นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ย้ำเตือนให้หนุ่มสาว "วัยทำงาน" ต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีเสมอ เนื่องจาก "โรควูบ" สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นผู้ที่ไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ ก็ตาม กรุงเทพธุรกิจ ชวนเปิดสาเหตุ "อาการวูบ" พฤติกรรมเสี่ยง และวิธีป้องกันให้ห่างไกลจากภาวะโรควูบดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "โรควูบ" และอาการวูบหมดสติ คืออะไร?
ที่ผ่านมามีรายงานข่าวหนุ่มสาวคนไทย "วัยทำงาน" เกิดอาการวูบ หมดสติ อยู่หลายเคส บางเคสก็รักษาหายแต่บางเคสก็มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์หลายคนออกมาเตือนว่า “โรควูบ” ถือเป็นภัยร้ายสำหรับนักกีฬาและคนออกกำลังกายเป็นประจำอาจมองข้ามไป
หนึ่งในแพทย์ที่ออกมาพูดถึงประเด็น “อาการวูบ” ก็คือ นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญการด้าน Sports Cardiology การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สำหรับนักกีฬาและ บุคคลทั่วไปที่แม้จะมีสุขภาพดี แต่เกิด "อาการวูบ" แบบกะทันหันหรือในขณะที่ออกกำลังกาย ให้ถือว่าเป็นความผิดปกติที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
"โรควูบ" ส่วนใหญ่จะมาจากการออกกำลังกายที่หนักเกินไป หรือนานเกินไป ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการ "มีโรคซ่อน" โดยเฉพาะ "โรคหัวใจ" และ "โรคสมอง" ซึ่งอันตรายมาก สิ่งที่สำคัญคือต้องคัดกรองก่อนการออกกำลังกายอย่างจริงจังว่า เรามีโรคซ่อนที่ไม่รู้ตัวหรือไม่ และควรตรวจคัดกรองโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะถ้ามีอาการเตือนดังต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม เป็นต้น
- คนอายุน้อยและนักกีฬาที่ร่างกายแข็งแรง ทำไมถึงเสี่ยง?
“โรควูบ” บางคนอาจเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้เฉพาะกับวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่จริงๆ แล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย บางครั้งเกิดกับคนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อยก็มี โดยสาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวเสี่ยงต่อโรควูบ ได้แก่
1. หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวเกินไป หัวใจโต
2. เส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
3. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- อาการแบบไหนบ่งชี้โรควูบ? และควรไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
1. หากเครียดหรือเคยมีอาการหมดสติมาก่อน หรือเจ็บหน้าอก หรือเคยหน้ามืดเวลาออกกำลังกายมาก่อน
2. สมาชิกในครอบครัวมีประวัติหมดสติแบบหาไม่มีสาเหตุ หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์อย่างละเอียด
ส่วน "วิธีการป้องกันอาการวูบ" รวมไปถึงการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่พบว่าเกิดอาการวูบหมดสติกะทันหัน มีข้อมูลว่า หากเข้าไปทำ CPR ให้แก่ผู้ที่วูบหมดสติได้อย่างรวดเร็ว โอกาสรอดชีวิตจะเยอะ ไม่เฉพาะในสนามแข่งกีฬาและสวนสาธารณะเท่านั้น แต่รวมถึงตึกต่างๆ เริ่มมีกฎหมายกำหนดให้มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ตามจุดต่างๆ แล้ว
การสังเกตผู้ป่วยที่มีอาการวูบหมดสติกะทันหันนั้น จุดสำคัญคือ ต่อให้ยังแขนขาผู้ป่วยยังเกร็งอยู่ ก็ให้คิดว่าหัวใจผู้ป่วยหยุดเต้นไว้ก่อน ห้ามรอ หรือเสียเวลาใดๆ ให้รีบ CPR นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ป่วยหัวใจไม่ได้หยุดเต้น
สำหรับ "คนทั่วไป" มีคำแนะนำคือ ควรให้ความสำคัญและสังเกต “อาการวูบ” ของตนเองและคนรอบข้างให้มากขึ้น ถ้ามีห้ามปล่อยผ่าน ตรวจให้พบ ตรวจให้เจอ เพราะอันตรายมาก ในขณะที่ถ้าเป็น "นักกีฬา" มีคำแนะนำคือ ควรตรวจเช็กร่างกายและคัดกรองโรคทางกีฬาปีละครั้ง เพื่อลดอันตรายจากการเล่นกีฬา ยิ่งออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ ก็ยิ่งต้องเช็กสภาพร่างกาย
ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วการออกกำลังกายก็ยังถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งสามารถทำที่ไหนก็ได้ไม่ว่าจะที่บ้านหรือสวนสาธารณะ แต่ก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องตรวจเช็กสุขภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อย่าเพิ่งมั่นใจว่าในเมื่อออกกำลังกายเป็นประจำแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางสุขภาพขึ้น