‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่แค่เพราะ ‘สารเคมีในสมอง’ แต่เกิดจากหลายปัจจัย

‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่แค่เพราะ ‘สารเคมีในสมอง’ แต่เกิดจากหลายปัจจัย

อย่างที่หลายคนรู้และเข้าใจว่าสาเหตุสำคัญของการเกิด “โรคซึมเศร้า” นั้น มาจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล แต่นั่นไม่ใช่แค่เพียงสาเหตุเดียว ความจริงแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยร่วมที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ เช่น ประสบการณ์จากวัยเด็กหรือพันธุกรรม

“โรคซึมเศร้า” เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปในสังคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติของ “สารเคมีในสมอง” ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในการปรับระดับและการประสานงานร่วมกันของระบบสารสื่อประสาทในสมอง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองในระยะยาว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับ “โรคซึมเศร้า” ที่สำคัญ ได้แก่

1. อะเซทิลโคลน (Acetylcholine)

2. ซีโรโทนิน (Serotonin)

3. นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine)

4. โดพามีน (Dopamine)

ในความเป็นจริงแล้ว สารเคมีในสมองเป็นเพียงแค่หนึ่งปัจจัยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายๆ ปัจจัยร่วมที่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยซึมเศร้า ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีปัจจัยและที่มาของโรคที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทางที่แตกต่างกันตามไปด้วย และต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

  • นอกจากสารเคมีในสมองแล้ว “โรคซึมเศร้า” เกิดจากอะไรได้อีกบ้าง?

1. ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Early Life Experiences)

เนื่องจากวัยเด็กเป็นช่วงที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์รอบตัวได้ ทำให้เด็กที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายตั้งแต่อายุน้อย มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งประสบการณ์ไม่ดีส่วนใหญ่ของเด็กเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น ถูกทารุณกรรมหรือมีการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ, ผู้ปกครองมีความบกพร่องในการเลี้ยงดูหรือไม่ใส่ใจดูแลเด็กเท่าที่ควร ไปจนถึงการสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่พึ่งหลักของเด็ก เช่น พ่อหรือแม่ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้เด็กมีความเครียดรุนแรงซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า

2. ความโน้มเอียงทางพันธุกรรม (Genetic Predisposition)

พันธุกรรมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิด “โรคซึมเศร้า” เช่น หากมีญาติเป็นโรคซึมเศร้า จะทำให้คนอื่นๆ ในครอบครัวมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2-3 เท่า และในฝาแฝดจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าตามกันได้มากถึงร้อยละ 37 รวมถึงในผู้ป่วยบางรายก็พบความผิดปกติของยีนที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า ถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นยีนตำแหน่งใดก็ตาม

3. มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem)

หากเป็นคนที่มีมุมมองต่อตัวเองในทางลบเป็นอย่างมาก จะส่งผลให้มีความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองไม่มีค่าและไม่มีเรื่องอะไรให้น่าภูมิใจในตัวเอง เมื่อความคิดเหล่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาว ทำให้กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย มีความภูมิใจในตัวเองต่ำ ไปจนถึงไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และเริ่มแยกตัวออกจากสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดโรคซึมเศร้า

4. มีความคิดลบจนติดเป็นนิสัย (Negative Thought Patterns)

คนที่มองโลกในแง่ลบและเห็นแต่ความบกพร่องของตัวเองและคนอื่นจนติดเป็นนิสัย หรือมีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน และหากต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลมากกว่าช่วงเวลาปกติ ก็ยิ่งมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้นกว่าเดิม

5. ขาดการสนับสนุนทางสังคม (Lack of Social Support)

ในช่วงเวลาที่สภาพจิตใจของคนเราย่ำแย่ลง หรือช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหามากมายที่เข้ามาในชีวิต ทำให้บางคนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องการกำลังใจ แต่หากคนเหล่านั้นไม่ได้รับกำลังใจหรือการสนับสนุนทางสังคม ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว สิ้นหวัง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าในอนาคตได้

  • วัยทำงานควรทำอย่างไรไม่ให้เสี่ยง “โรคซึมเศร้า”

แม้ว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าจะมีมากกว่าที่หลายคนเคยรู้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ วิธีดูแลตัวเองง่ายๆ อาจเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจตัวเอง รวมถึงสำรวจและประเมินอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ ดังนี้

- ปรับมุมมอง ความคิด และทัศนคติให้เป็นแง่บวกมากขึ้น ทั้งนี้ควรทำแต่พอดีไม่ฝืนความรู้สึกตัวเองมากเกินไป

- ให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองมีหรือทำได้ มากกว่าการหมกมุ่นตอกย้ำและจมอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้หรือสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต และทดลองตั้งเป้าหมายในชีวิต

- กล้าขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาจากคนอื่น ซึ่งอาจเริ่มจากคนใกล้ตัว เช่น คนในครอบครัว หรือ เพื่อนสนิท

- หากิจกรรมทำในยามว่างเพื่อผ่อนคลายตนเองจากความเครียด

- หากมีความหลังฝังใจจากเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก อาจต้องพยายามเปิดใจเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดที่มีความชำนาญเฉพาะทาง

ย้ำอีกทีว่าการป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” นั้นเกิดได้จากหลายปัจจัยตามที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น ใครที่รู้สึกว่าตัวเองอาจเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าว ก็จำเป็นจะต้องคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่ว่าหากมีอาการรุนแรงขึ้น จะได้เข้ารับการรักษาทันเวลา และไม่ใช่แค่การสังเกตตัวเองเท่านั้น แต่การสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว

อ้างอิงข้อมูล : รพ.กรุงเทพ และ iStrong