ลุ้นนายกฯคนที่ 30 เสพข่าวการเลือกตั้งอย่างไร? ให้ไม่เครียด

ลุ้นนายกฯคนที่ 30 เสพข่าวการเลือกตั้งอย่างไร? ให้ไม่เครียด

วันเลือกตั้ง '14 พ.ค.2566' เป็นอีกหนึ่งครั้งที่หลายๆ คนรอคอยที่จะได้ไปใช้สิทธิเลือกพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อย่างที่ต้องการ ซึ่งกว่าจะปิดหีบการเลือกตั้งต้องรอถึงเวลา 17.00 น.

Keypoint 

  • การติดตามข่าวสารการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งที่ทุกคนรอคอย ย่อมทำให้ใครหลายๆคนเกิดภาวะความกดดัน ความเครียดขึ้นได้ ดังนั้น การเสพข่าวการเลือกตั้ง ข่าวการเมืองต่างๆ ต้องระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อสุขภาพใจ และคนรอบข้าง
  • เห็นต่างได้แต่ต้องไม่แตกแยก และไม่รุนแรง กรมสุขภาพจิตแนะให้ประชาชนใส่ใจกันและกัน พยายามใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ระวังการดูถูกเหยียดหยามผู้ที่สนทนา รับฟังและระงับอารมณ์ให้สงบเมื่อได้ยินถ้อยคำที่รุนแรง
  • เช็ก 5 วิธีจัดการความเครียดที่เห็นผลชัดเจน ออกกำลังกายเบาๆ นั่งสมาธิ จัดสรรเวลา ผ่อนคลายทำกิจกรรมอื่นๆ และปรับเปลี่ยนความคิด 

 

หลายคนที่ติดตามผลคะแนนการเลือกตั้ง เสพข่าวการเมือง การเลือกตั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกกดดัน ความเครียด ยิ่งเมื่อต้องไปแสดงความคิดเห็น พูดคุยกับคนใกล้ชิด หากความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคงไม่มีปัญหา แต่หากเป็นคนละทิศทางอาจทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แนะนำประชาชนที่สนใจติดตามข่าวสารการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด 'พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์' อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากสถานการณ์กระแสข่าวการเลือกตั้ง 66 ตลอดทั้งวัน

กรมสุขภาพจิตได้สำรวจสุขภาพใจด้วยตนเองผ่านทางไลน์แอปฯ Mental Health Check In (MHCI) โดยแบ่งช่วงผลสำรวจเพื่อประเมินแนวโน้มรายเดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนมีแนวโน้มเครียดเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 20 มีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 2.17 เป็นความเครียดที่ระดับ 3.07 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 จากฐานกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 127,009 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ติดตามข่าวการเลือกตั้ง รับฟังความคิดเห็นอย่างมีสติ

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่าบรรยากาศการเลือกตั้ง 2566 ในปีนี้มีความคึกคักอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัว ชุมชนมีการตื่นรู้การเมือง เป็นโอกาสของสังคมไทยในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างสร้างสรรค์ ทำให้การสนทนาและสื่อสารบนโลกออน์ไลน์หลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองได้ยาก ทั้งในประเด็นนโยบายของพรรคการเมือง และคุณสมบัติที่น่าสนใจของผู้ลงสมัคร โดยมีข้อสังเกตได้ว่า ประเด็นเหล่านี้อาจเร้าความเห็นที่แตกต่างในแต่ละวงสนทนาได้มาก

"ทุกฝ่ายจึงควรรับฟังกันและกันอย่างมีสติ เคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ใคร่ครวญวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือจากข่าวสารที่ได้รับ เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดและมุมมองให้เกิดประโยชน์ พยายามลดการแสดงความเห็นลักษณะตำหนิขัดแย้งเพื่อเอาชนะคู่สนทนา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งพัฒนาการของการเมืองและสัมพันธภาพในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนฝูงด้วย”พญ.อัมพร กล่าว

ลุ้นนายกฯคนที่ 30 เสพข่าวการเลือกตั้งอย่างไร? ให้ไม่เครียด

ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขอให้ประชาชนใส่ใจกันและกัน พยายามใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ระวังการดูถูกเหยียดหยามผู้ที่สนทนา รับฟังและระงับอารมณ์ให้สงบเมื่อได้ยินถ้อยคำที่รุนแรง รวมทั้งสังเกตอากัปกิริยาของผู้ที่จะสนทนาว่ามีอารมณ์ฉุนเฉียว หรืออยู่ในอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมสติ เช่น กำลังดื่มสุรา เป็นต้น ที่อาจจะนำไปสู่การถกเถียง ทะเลาะวิวาทได้

นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการชื่นชมคู่สนทนาในการแสดงออกที่เหมาะสม สุภาพ มีเหตุผล เคารพผู้อื่น ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนให้แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี ไม่นำเรื่องของการเลือกตั้งมาใช้ในการพนันหรือเดิมพัน เพราะจะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นและเกิดปัญหาอื่นตามมา

 

วิธีจัดการความเครียด รับมือผลการเลือกตั้ง

หากพบว่ามีความเครียดจนเกิดอาการปวดหัว หัวใจเต้นเรง เกรี้ยวกราด เหงื่อแตก หรือมีการเกร็งกล้ามเนื้อ ควรตั้งสติและยุติการสนทนา แยกตัวมาสงบใจ จัดการอารมณ์ตนเองก่อนเพื่อไม่ให้อารมณ์ด้านลบส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ อีกทั้งยังควรดูแลตนเองให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติและมีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดตามสมควร

"ให้เปิดใจรับฟัง ยอมรับความแตกต่าง เอาใจเขาใส่ใจเราในมุมมองที่เคารพสิทธิผู้อื่น สนทนาอย่างมีสติ ไม่กระตุ้นความเครียด ก้าวร้าว เกลียดชัง เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงจากความเห็นต่าง ทั้งนี้ หากพบความเครียดในระดับที่น่าเป็นห่วง สามารถสำรวจสุขภาพใจตนเองผ่านไลน์แอพลิเคชั่น คิวอาร์โค้ด Mental Health Check In (MHCI) เพื่อรู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยงภาวะสุขภาพจิต หรือหากรู้สึกเครียด สามารถสำรวจสุขภาพใจด้วย MHCI และปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการดูแลที่เหมาะสม"

ทั้งนี้ 'ความเครียด' เป็นสภาวะของอารมณ์ของคนที่ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดันหลายครั้งที่หลายคนมักจะเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนเรามักจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อเกิดความเครียดเราจะแสดงออกมาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม บางคนหงุดหงิดง่าย บางคนป่วยง่าย บางคนนอนไม่หลับ

 

5 วิธีจัดการความเครียด

หากเรารู้ วิธีจัดการและบรรเทาความเครียด ต่างๆ เหล่านั้นได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราพร้อมรับมือกับความเครียดได้มากขึ้น มาดูวิธีจัดการความเครียดง่ายๆ กันว่ามีอะไรบ้าง

1. ออกกำลังกาย คลายเครียด 

Cortisol จะทำงานอย่างหนัก เราสามารถแก้ได้โดยการให้ฮอร์โมนเอนดอร์ฟีนทำงานบ้างด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อยๆ ถ้าเรารู้สึกตัวว่ากำลังเครียดอยู่ การได้ออกจากหน้าจอจากการติดตามผลการเลือกตั้ง ให้ไปยืดเส้นสาย หรือเดินขึ้นลงบันไดอาจทำให้เราหลุดโฟกัสเรื่องเครียดสักพักหนึ่ง จริงๆ แล้วการออกกำลังกายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการออกแรงอย่างหนัก เหงื่อตกมากๆ แต่เป็นการออกกำลังกายที่ให้ผลทางสุขภาพจิต เพียงแค่เดินปกติสัก 10 นาที หันเหความสนใจไปในทางบวก ก็ได้ผลแล้ว แต่ถ้ามีเวลาหลังเลิกงานควรจะไปออกกำลังกายอย่างจริงจัง อย่างน้อยวันละ 30 นาที แค่ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอให้ฮอร์โมนแห่งความสุขทำงานได้อย่างเต็มที่บ้าง

2. นั่งสมาธิ ฝึกจิต ลดเครียด

หากลองสังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกเครียด จะเหมือนมีก้อนความคิดบางอย่างวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งเมื่อมีความเครียดวิ่งวนอยู่ในหัวตลอดทำให้เราต้องคิดซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องเครียดนั้นๆ เราจะจัดการแก้ปัญหากับมันอย่างไรดี การจมอยู่กับความเครียดอาจทำให้เราไม่อยากทำอย่างอื่นเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาง่ายๆ เมื่อรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป ลองหาเวลาทำสมาธิ หรือสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกลมหายใจ ลองกำหนดลมหายใจเข้า - ออกง่ายๆ ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง เอาใจไปโฟกัสการกำหนดลมก็ทำให้เราลืมเรื่องเครียดๆ ไปได้ประมานหนึ่ง

3. จัดสรรเวลาในชีวิตประจำวัน

Work Life Balance เราได้ยินกันมานานแล้วแต่หลายคนยังคงไม่สามารถทำได้ นอกจากการจัดสรรเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดีจะช่วยให้ชีวิตส่วนตัวดีขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรี่องของการที่เราไม่เอาความเครียดต่างๆ ไปให้กับครอบครัวด้วย 8 ชั่วโมงการทำงานหลังจากนั้นควรจะหยุดคิดเรื่องงาน ไม่นำงานไปทำในขณะที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ให้โฟกัสกับเรื่องครอบครัว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบริหารความเครียดได้ดีเลยทีเดียว

4. ผ่อนคลายด้วยการดูหนัง ฟังเพลง

แม้ว่าเราจะจัดการปัญหาความเครียดต่างๆ ยังไม่ได้ทันที แต่การที่เราเอาตัวเองออกมาจากความเครียดได้สักพักหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีได้ทำตามใจตัวเองบ้าง เช่น การนอนดูหนัง ฟังเพลงสบายๆ หรือออกไปหากิจกรรมทำที่นอกจากการนั่งจมกับความคิดเครียดๆ แน่นอนว่าช่วยให้สมองปลอดโปร่งสักพัก และอาจทำให้เรากลับมาคิดแก้ไขปัญหาหรือเรื่องเครียดได้ด้วย

 5. ปรับเปลี่ยนความคิด

การจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัวได้ หรือถ้าหากเราจมอยู่กับความวิตกกังวลมากๆ ก็กลายเป็นความเครียดสะสม ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าความคิดสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคิดอย่างหนึ่งสมองก็จะตอบสนองไปตามนั้น หากเราตกอยู่ในภาวะเครียดเรื่องงาน สุขภาพ หรือเพื่อนร่วมงาน

วิธีการคือให้เอาตัวเองออกจากความเครียดนี้ด้วยการลองปรับมุมมองปัญหาต่างๆ เอาตัวเองออกมายืนเป็นคนนอกดูบ้าง อาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขได้ง่ายกว่าการเอาตัวเองไปจมอยู่กับตรงนั้น หรือหากเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อย และยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของงานหรือเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ และหายเครียดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังน่าจะป้องกันตัวจากความทุกข์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย

เมื่อพยายามดูแลสุขภาพจิตแล้วก็ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพกายด้วยการรับประทานอาหาร และนอนหลับให้เพียงพอ ก็จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้น ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดี สดชื่นแจ่มใส่ในทุกๆ วัน

อ้างอิง:กรมสุขภาพจิต ,โรงพยาบาลเปาโล