8 บทเรียนที่ทำให้ 'ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ชีวิตมีความสุข'
บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาฯ ผนึกบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ประเทศไทย สานต่โครงการ Nutrition Academy Thailand หลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับภาคธุรกิจ พร้อมเปิด 8 บทเรียนดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดี ชีวิตมีความสุข
Keypoint:
- จุฬาฯเปิดตัวหลักสูตร Nutrition Academy Thailand หลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับภาคธุรกิจ เรียนรู้ให้เท่าทันบริบทของเทคโนโลยีและบริการสุขภาพทางการแพทย์อย่างครบวงจร
- การเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมความก้าวหน้าด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทย รองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสังคมผู้สูงอายุ
- 8 บทเรียนที่ผู้สูงอายุและผู้ดูแลสูงวัยควรรู้ พร้อมเช็กวิธีการดูแลสุขภาพ การจัดสภาพแวดล้อม อาหารที่เหมาะสมกับวัยเก๋า สร้างสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่Happy
‘Nutrition Academy Thailand’ เป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป หนึ่งในหลักสูตร Lifelong Learning ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยให้เกิดความก้าวหน้า สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้านสุขภาพของไทยให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับในระดับสากล
โดยหลักสูตร ‘Nutrition Academy Thailand’นอกจากเป็นการอบรมระยะสั้น ยังเป็นการพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัย การจัดการความรู้ และนวัตกรรมทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางสุขภาพให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปที่สนใจ อบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการบริการสุขภาพอย่างครบวงจร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“สังคมสูงอายุ” โอกาสผู้ประกอบการ ลงทุนวิจัย นวัตกรรมตอบโจทย์
อว.ประสานสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ช่วยเสริม 'วชช.' พัฒนาชุมชน
เดินหน้าหลักสูตร Nutrition Academy Thailand
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Nutrition Academy Thailand โดยมี รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่าความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายองค์ความรู้ด้านสุขภาพและการแพทย์ให้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ
โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารภาคธุรกิจได้รับการอบรม ถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากหลายแขนง เพื่อช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพให้พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสุขภาพ โดยจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพนักงาน
ทั้งนี้ หลักสูตร ‘Nutrition Academy Thailand’ เป็นไปตามการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ภายใต้โครงการบริการวิชาการ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUGS Academy: Lifelong Learning and Interdisciplinary Graduate School, Chulalongkorn University โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพของบัณฑิตรุ่นใหม่และบุคลากรในภาคแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น
ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบริการทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและทำให้มีสุขภาวะ และอายุขัยเฉลี่ยไปในทางที่ดีขึ้น
โดยในส่วนของบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ได้มีการเปิดวิชา ‘การดูแลตนเองเพื่อการเป็นผู้สูงวัยสุขภาพดีมีความสุข (Aging Society and The Oral Health Care)’ ซึ่งเป็นการนำเสนอความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตนเองซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและมีความสุขในทุกช่วงวัย โดยจะมุ่งเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในมิติต่าง ๆ ตามแนวทางการบูรณาการดูแลผู้สูงอายุขององค์การอนามัยโลก
8 บทเรียนที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี มีความสุข
โดยรายวิชาดังกล่าว จะเป็นผลผลิตจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญ และความร่วมมือกับกรมอนามัย กรมการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนึนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย (จุฬาอารี) เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ
สำหรับเนื้อหาวิชาเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ดูแลตนเอง สร้างสุขภาพดีมีความสุข จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 บทเรียน มีดังนี้
- ความรอบรู้และการตระหนักรู้ตนเองด้านสุขภาพตามแนวทางองค์การอนามัยโลก
- กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดีมีความสุข
- โภชนาการเพื่อสุขภาพดีมีความสุข
- การได้ยินและการมองเห็นเพื่อสุขภาพดีมีความสุข
- การดูแลตนเองเพื่อชะลอสมองเสื่อมเพื่อสุขภาพดีมีความสุข
- การดูแลสุขภาพจิตเพื่อสุขภาพดีมีความสุขและสุขภาวะ
- การดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อสุขภาพดีมีความสุข
- สรุปบทเรียนการดูแลตนเองเพื่อเป็นผู้สูงวัยสุขภาพดีมีความสุข
อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้สูงอายุ มีความจำเป็นและสำคัญมาก เราควรเอาใจใส่ในด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หลักในการดูแลผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และวิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุ
เช็กวิธีดูแลสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุ
วิธีดูแลสุขภาพดีให้ผู้สูงอายุ การทำงานของร่างกายจะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุประกอบด้วยการดูแลอวัยวะส่วนต่าง ๆ และจัดการเรื่องเข้ารับการตรวจและรักษาปัญหาสุขภาพได้ดังนี้
1). ดูแลสุขภาพดวงตา
- ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาหรือวัดสายตา เพื่อตัดแว่นสายตาที่เหมาะสม รวมทั้งตรวจดูว่าผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพตาหรือไม่ เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไปในกรณีที่ดวงตาผิดปกติ
- ไม่ควรให้ผู้สูงอายุสูบบุหรี่ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่เมื่ออยู่ใกล้ผู้สูงอายุ เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงเกิดจอตาเสื่อม หรือต้อกระจกได้
- เตรียมผักและผลไม้ในแต่ละมื้ออาหารให้ผู้สูงอายุรับประทานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
- เมื่อต้องออกแดดจ้าควรเตรียมแว่นกันแดดให้ผู้สูงอายุได้สวมใส่เพื่อถนอมสายตา
2). ดูแลการได้ยิน
- ดูแลให้ผู้สูงอายุเข้ารับตรวจเกี่ยวกับการได้ยิน ภาวะสูญเสียการได้ยินนับเป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
- การสูญเสียการได้ยินส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ฟังหรือปฏิบัติตามคำแนะนำที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา
- ลูกหลานควรพาผู้สูงอายุไปตรวจเกี่ยวกับการได้ยิน เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุของการไม่ได้ยิน และเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที
3). ดูแลสุขภาพช่องปาก
- ผู้สูงอายุควรลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล รวมทั้งเลี่ยงรับประทานอาหารประเภทนี้นี้ก่อนเข้านอน เพราะน้ำตาลอาจเกิดการสะสมและกลายเป็นแป้งอยู่ในช่องปากและฟัน ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพปากและฟันเกิดขึ้น
- ดูแลผู้สูงอายุให้แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ
- ผู้สูงอายุควรบ้วนน้ำลายหลังแปรงฟันทุกครั้ง โดยไม่ต้องบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากทันทีที่แปรงฟันเสร็จ เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากอาจล้างฤทธิ์ฟลูออไรด์ของยาสีฟัน
- ดูแลผู้สูงอายุไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมทั้งให้งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก และมะเร็งบางชนิดมากขึ้น
- หมั่นให้จิบน้ำบ่อย ๆ อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาล หรืออมน้ำแข็งก้อนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันปากแห้ง
4). ดูแลสุขภาพเท้า
- หมั่นล้างเท้าให้สะอาดทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ เนื่องจากสิ่งสกปรกที่ติดตามผิวหนัง อาจทำให้ระคายเคืองและติดเชื้อ ทั้งนี้ ควรเป่าเท้าและระหว่างนิ้วเท้าให้แห้งเพื่อป้องกันฮ่องกงฟุต
- ทาครีมบำรุงเท้า เพื่อลดอาการหยาบกร้านของผิวหนัง โดยเลือกใช้ครีมสำหรับทาเท้าโดยเฉพาะ
- หมั่นดูแลเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้เดินได้สะดวก
- เมื่อตัดเล็บ ควรเล็มเล็บเท้าตรงๆ ไม่ตัดเป็นมุม เนื่องจากอาจทำให้เล็บฝังอยู่ในเนื้อเท้า
- ควรดูแลเท้าให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยอาจสวมถุงเท้าตอนนอน
- ผู้สูงอายุควรเลี่ยงสวมรองเท้าที่แน่นเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเท้าไม่ได้ ทำให้เกิดตะคริวและชาที่เท้า
- ผู้สูงอายุควรเลือกใช้รองเท้าที่ทำจากวัสดุหนังแบบนุ่มหรือมีความยืดหยุ่น เพื่อความสบาย คล่องตัว และควรเลือกรองเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดีป้องกันการอับชื้น
5). ดูแลสมอง
- ผู้สูงอายุควรได้รับอาหารที่ดีและมีสารอาหารครบถ้วนให้รับประทาน ทั้งยังต้องรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพดีและแข็งแรง
- ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มมากเกินไป
- ผู้สูงอายุควรหมั่นตรวจเช็คสัญญาณชีพ ชีพจรการเต้นของหัวใจ และดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- จัดการให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอ
- หมั่นพูดคุยหรือพาผู้สูงอายุไปเที่ยวเพื่อสร้างความผ่อนคลาย หากิจกรรมเสริมสร้างทักษะให้ได้ใช้สมองเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หรือมีกิจกรรมใหม่ๆตามสมควร
6). ดูแลสุขภาพจิต
- ชวนผู้สูงอายุพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ หรือติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ในกรณีที่ไม่ได้เจอกัน
- สอนให้ผู้สูงอายุใช้งานอินเทอร์เน็ต และ social media เพื่อให้ท่านได้ทำกิจกรรมใหม่ๆในยามว่างที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก ทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ๆให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ
- เข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมหรือชุมชน เพื่อทำกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
- วางแผนทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ท่านไม่เหงาและเกิดภาวะเครียด
7). กระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกาย
- พาผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคกระดูกผุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมทั้งเสริมสร้างการนอนหลับ อารมณ์ และความจำ
- กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ประมาณครั้งละ 30 นาที โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสม เช่น เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ฝึกออกกำลังกายอย่างง่าย โดยใช้เก้าอี้ช่วย
- ลองให้ผู้สูงอายุถือของเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างตามสมควร
- ชวนทำสวน ทำกิจกรรมเข้าจังหวะอื่นๆ หรือกิจกรรมที่กระตุ้นการเดิน ขยับเขยื้อนร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี
8). ดูแลปัญหาสุขภาพการปัสสาวะและขับถ่าย
- ดูแลให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาการเกี่ยวกับปัสสาวะจะกำเริบได้หากดื่มน้ำน้อย
- ลดปริมาณการดื่มชา กาแฟ โคล่า หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนและน้ำตาลที่เยอะจนเกินควร
- ตรวจดูว่ายารักษาโรคที่ใช้อยู่ส่งผลต่อการขับปัสสาวะของผู้สูงอายุหรือไม่
จัดสภาพแวดล้อม เตรียมอาหารอย่างไรให้เหมาะกับสูงวัย
- การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยตรง หากผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย สะอาด ลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุได้ และยังเอื้อต่อการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีแก่ผู้อยู่อาศัย
- วิธีจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
- จัดบ้านให้ปลอดภัย สะอาดสะอ้าน อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดส่องเข้าถึงเพื่อไม่อับชื้น
- ติดเครื่องส่งเสียงหรือสัญญาณเตือนภัยในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังบ่อย ๆ
- ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟไว้ตามทางเดิน ห้องนั่งเล่น และห้องครัว หรือบ้านที่ติดตั้งเตาแก๊สควรติดตั้งเครื่องจับควันและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ รวมทั้งทดสอบการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ
- เลือกวัสดุสำหรับปูพื้นในห้องน้ำที่ไม่ทำให้ลื่นง่าย และควรทำราวจับไว้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวกขึ้นและไม่หกล้ม
- เก็บของให้เป็นระเบียบ ทำความสะอาด กวาดพื้นให้เรียบร้อย ไม่ทิ้งไว้ตามทางเดินหรือบันได
- ติดตั้งโคมไฟที่เปิด-ปิดอัตโนมัติใช้งานตอนกลางคืน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นเส้นทาง และเดินเข้าห้องน้ำหรือขึ้นลงบันไดได้อย่างสะดวกสบาย
- ม้วนสายไฟเก็บให้เรียบร้อย รวมทั้งตรวจสอบความชำรุดของเต้าเสียบและสายไฟอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าชำรุด ควรเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ป้องกันการเกิดอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ
- ควรให้ผู้สูงอายุสวมรองเท้าสำหรับใส่เดินภายในบ้าน ไม่ควรให้สวมถุงเท้าเดินหรือเดินเท้าเปล่า
- เสื้อผ้าที่ผู้สูงอายุสวมใส่ควรรัดกุม ไม่รุ่มร่าม เพื่อป้องกันเดินสะดุดหกล้ม
ขณะที่การรับประทานอาหารของผู้สูงอายุ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี มีความสุขในการใช้ชีวิตและห่างไกลต่อโรคต่างๆ ได้ โดยผู้สูงอายุ ควรรับประทานอาหารดังนี้
- รับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 ส่วน โดยเลือกผักและผลไม้สดสะอาด
- ดูแลให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำระหว่างวัน
- จัดอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา ที่สามารถย่อยได้ง่ายให้รับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
- ควรดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับวิตามินดีอย่างพอเพียง อาทิเช่น รับแสงแดด ให้รับประทานอาหารเสริม เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสุขภาพดี
- ลองให้ผู้สูงอายุรับประทานเครื่องดื่มพลังงานสูง อาทิเช่น นม และ Milk Shake หรือเครื่องดื่ม Smoothie(หวานน้อย) เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักตัวลดลง