'หมอธีระ' เผยติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อ ไต หัวใจ สมอง
"หมอธีระ" เผยความรู้จากการวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แต่ติดเชื้อจบที่ทางเดินหายใจ
แต่ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วย ทั้งไต หัวใจ สมอง
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า ผลของการติดเชื้อโควิด-19 ต่อ ไต หัวใจ และสมอง
ความรู้จากการวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แต่ติดเชื้อจบที่ทางเดินหายใจ แต่ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วย ทั้งไต หัวใจ สมอง
ทีมงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาทำการศึกษาตั้งแต่มีนาคม 2020 ถึงมกราคม 2022 พบว่าผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโควิด-19 จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมีอัตราการตรวจพบค่าการทำงานของไตผิดปกติเฉียบพลันได้ราวหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด (ภาพที่ 1-2)
ในขณะที่ทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกาอีกทีม ได้เผยแพร่ผลการศึกษาใน European Heart Journal เมื่อปลายพ.ค.ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า หลังจากติดเชื้อไป ไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ก็อาจส่งผลให้เกิดการไหลเวียนเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้ (ภาพที่ 3-4)
นอกจากนี้ทีมจากออสเตรเลีย เผยผลการศึกษาใน Science Advances วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 นั้นสามารถติดเชื้อในเซลล์สมองและนำไปสู่การทำงานผิดปกติได้ (ภาพที่ 5-6)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สถานการณ์ไทยเรา ยังมีติดเชื้อแต่ละวันจำนวนมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ ไม่กินดื่มใกล้ชิดร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง คือ หัวใจสำคัญ
นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดไทย ระบุว่า สถิติรายสัปดาห์ล่าสุด 4-10 มิ.ย. 2566 จำนวนป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,709 ราย ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 12.18% แต่สูงกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 14.98% หรือ 1.15 เท่า
จำนวนเสียชีวิต 69 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 1.47% หรือ 1.01 เท่า แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 213.63% หรือ 3.14 เท่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 231 ราย น้อยกว่าสัปดาห์ก่อน 4.94% แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 41.72% หรือ 1.42 เท่า
จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 382 ราย ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 1.02% แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 18.63% หรือ 1.19 เท่า
"คาดประมาณติดใหม่รายวันอย่างน้อย 19,350-26,875 คน"
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขในระบบจะน้อยกว่าสถานการณ์จริง ความใส่ใจสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทย ที่ต้องการสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว
เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน รักษาความสะอาดบริเวณที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่น
ไม่สบาย ควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วันจนไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ แสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วย
ป้องกันตัวไม่ให้ติด หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
1. Geographic and Temporal Trends in COVID-Associated Acute Kidney Injury in the National COVID Cohort Collaborative. CJASN. 3 May 2023.
2. Coronary microvascular health in symptomatic patients with prior COVID-19 infection: an updated analysis. European Heart Journal. 31 May 2023.
3. SARS-CoV-2 infection and viral fusogens cause neuronal and glial fusion that compromises neuronal activity. Science Advances. 7 June 2023.