เจ็บป่วยขนาดไหน....ควรเรียกรถพยาบาล
การเดินทางทั้งในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด อาจเกิดความล่าช้า เนื่องจากการจราจรที่ติดขัด กับสถานการณ์ที่มีภาวะเร่งรีบ อย่าง การเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และอาจส่งผลต่อความรุนแรงของโรคได้
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวอาการป่วยแบบไหน ลักษณะใด ที่ทุกท่านควรจะต้องเรียกรถพยาบาล เพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
รถพยาบาล หรือ Ambulance เป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อการดูแลผู้ป่วย โดยมีระดับของรถพยาบาลอยู่ 3 ระดับ คือ
- ระดับทั่วไป: การรับคนผู้ป่วยออกมาจากที่เกิดเหตุมาส่งที่โรงพยาบาล สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่บาดเจ็บเล็กน้อยได้ อุปกรณ์ในรถพยาบาลจะมีเปลขนย้ายที่สามารถยึดติดกับรถพยาบาลได้ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น กระเป๋าชุดปฐมพยาบาล เป็นต้น
- ระดับเบสิก: มีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นมา สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นในภาวะไม่รุนแรง ไม่คุกคามต่อชีวิต อุปกรณ์ในรถพยาบาลประกอบด้วย อุปกรณ์ช่วยชีวิต ออกซิเจน อุปกรณ์ให้ออกซิเจน อุปกรณ์การขนย้ายลำเลียง กระเป๋าชุดปฐมพยาบาล
- ระดับ Advanced : รถพยาบาลจะมีความเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยทีมงานที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี และรถพยาบาลที่มีความพร้อมมากขึ้น ในรถพยาบาลจะมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูง อาทิเช่น สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ในกรณีที่พบผู้ป่วยไม่หายใจ สามารถปั๊มหัวใจได้หรือให้ยาช่วยชีวิตในเบื้องต้น มักจะมีทีมแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลที่มีความชำนาญการไปกับรถพยาบาลด้วย ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยก็จะลดลง
การประเมินการใช้รถพยาบาลขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อาการของผู้ป่วย ระยะเวลาเข้าถึงในการช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
CITE DPU พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์
รถพยาบาลจิตอาสา'คุณถั่วช่วยส่งต่อ'ดูแลผู้ป่วยโควิด -19 ที่ยากไร้
'รถพยาบาล' ควรเรียกตอนไหน?
ความต้องการทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่บ้าน หรืออยู่นอกบ้าน อย่างไรก็ตาม หากคุณเกิดข้อสงสัยว่าควรเรียกรถพยาบาลเมื่อไหร่ คำถามนี้เรามีคำตอบที่สามารถช่วยเป็นแนวทางให้คุณได้ดังนี้
- ผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะที่คุกคามต่อชีวิตหรือไม่? เช่น มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง อาการของผู้ป่วยอาจแย่ลงกว่านี้ และอาจคุกคามต่อชีวิตขณะกำลังเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือไม่? เช่น มีอาการหายใจผิดปกติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้าเขียว
- การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บยิ่งขึ้นหรือไม่? เช่น มีประวัติตกจากที่สูง แขนขาผิดรูป
- จำเป็นต้องใช้ทักษะของบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ในสถานการณ์นี้หรือไม่
- ระยะทางและการจราจรอาจทำให้เกิดความล่าช้าจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่?
ถ้าคุณตอบว่า 'ใช่'ในข้อใดข้อหนึ่งหรือคุณไม่แน่ใจ โปรดเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันทีที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669 หรือ 02-483-9944 ซึ่งเป็นเบอร์โทรตรงของโรงพยาบาลนวเวช
สิ่งที่ควรรู้ก่อนโทรเรียกรถพยาบาล
เนื่องจากการออกไปรับผู้ป่วย ทางทีมแพทย์และพยาบาล ต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปรับ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่ควรรู้ก่อนเรียกรถพยาบาล คือ
1. ต้องให้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น มีผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บในลักษณะใด อาการเป็นอย่างไร
2. บอกสถานที่เกิดเหตุและเส้นทางให้ชัดเจน
3. บอกชื่อ เพศ และอายุของผู้ป่วยได้
4. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วยได้
5. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น เหตุเกิดบนท้องถนน หรือ สถานที่มีก๊าซพิษ
6. บอกชื่อผู้แจ้ง และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
หลังแจ้งเหตุ จะได้รับคำแนะนำเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้แจ้งเหตุควรทำการดูแลผู้ป่วยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และรอทีมจากรถพยาบาลไปดูแลเพิ่มเติมต่อไป
ทีมรถพยาบาลโรงพยาบาลนวเวช สามารถมีบริการรถพยาบาล ทั้งในแบบ Basic และ Advance ให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เพราะทุกวินาทีคือชีวิต 'โรงพยาบาลนวเวช' มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดี และเข้าถึงง่าย (Accessible Quality Healthcare) ให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน (Advance ambulance) พร้อมทีมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินและทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการช่วยชีวิตคนไข้วิกฤตและผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej I www.navavej.com