กลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำน้อย เสี่ยง 'กรวยไตอักเสบ' เช็กอาการ ก่อนไตพัง
หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิง ที่ชอบกลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำน้อย อาจส่งผลให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และ กรวยไตอักเสบได้ จากการติดเชื้ออีโคไล การที่ปล่อยให้อาการหนัก จะทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
Key Point :
- กรวยไตอักเสบ ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการกลั้นปัสสาวะ การดื่มน้ำน้อย ทำให้ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะมีท่อปัสสาวะสั้น
- อาการเตือนของกรวยไตอักเสบ สังเกตได้โดยการมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบคัน เปลี่ยนสี มีกลิ่นแรง มีเลือด เหลืองขุ่น หรือหนองเจ็บบริเวณสีข้าง และปวดท้อง
- หากสงสัยว่ามีอาการกรวยไตอักเสบ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้ช็อก หมดสติ และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ หากเป็นซ้ำบ่อยๆ มีโอกาสสูญเสียการทำงานของไตถาวร
กรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เป็นเชื้ออีโคไล อักเสบจากจากท่อปัสสาวะ ลามไปยังท่อไต และลงไปยังกรวยไต เพราะฉะนั้น หากกลั้นปัสสาวะ แทนที่เชื้อจะถูกขับออกทางปัสสาวะก็ขึ้นไปที่ไต ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย โดยภาวะแทรกซ้อน จะทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็น หรือฝีในไต ภาวะโลหิตเป็นพิษ และ ปัญหาทางสูติกรรม
โรคดังกล่าว มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะสั้น และทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ยกเว้นผู้ชายอายุมากที่ปัสสาวะไม่ออก ต่อมลูกหมากโต โดยเฉพาะคนที่อายุเกิน 50 ปี ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม กรวยไตอักเสบ ยังสามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย เพราะเด็กๆ อาจกลั้นปัสสาวะ ขณะที่เด็กผู้ชายหากมีอาการต้องดูว่ามีภาวะตีบตันของท่อปัสสาวะหรือไม่ ทำให้โอกาสเชื้อเจริญเติบโต และติดเชื้อได้ง่าย หากสงสัยว่ามีอาการกรวยไตอักเสบ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว ปล่อยไว้อาจส่งผลให้ติดเชื้อเชื้อในกระแสเลือดได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช. แนะผู้ป่วยไตวายรายใหม่ เลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะกับตัวเอง
- นวัตกรรมวิจัย ’ชุดตรวจโรคไต’ แบบพกพา หยุดโรคลุกลาม
- เช็ก 8 ประเภทอาหารเสี่ยงโรคไต เผยไทยมีผู้ป่วยไตเรื้อรังกว่า 11.6 ล้านคน
เช็กสัญญาณอันตราย กรวยไตอักเสบ ป้องกันให้ทันท่วงที สังเกตให้ดี รีบรักษาก่อนไตพัง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวชศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคไต ให้ความรู้ผ่านช่องทาง RAMA Channel โดยอธิบายว่า กรวยไต เป็นแหล่งกรองปัสสาวะ สาเหตุจากการติดเชื้อ และสาเหตุหนึ่ง คือ การขาดเลือด ส่งผลให้อักเสบและเน่า เช่น จากการเป็นเบาหวาน ติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น
อาการเตือน กรวยไตอักเสบ
- มีไข้ หนาวสั่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะแสบคัน เปลี่ยนสี มีกลิ่นแรง
- ปัสสาวะมีเลือด เหลืองขุ่น หรือหนอง
- เจ็บบริเวณสีข้าง ปวดท้อง ปกติจะปวดข้างใดข้างหนึ่งก่อน
“หากเป็นมากต้องรีบมาโรงพยาบาล เพราะอาจทำให้ช็อก หมดสติ และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ การมาพบแพทย์เร็วและได้รับยาฆ่าเชื้อเร็วก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้รักษาหายเร็วกว่า หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน ขณะเดียวกัน หากไม่มีไข้แต่ปวดหลังอย่างเดียว ก็สามารถเป็นกรวยไตอักเสบได้ ในคนที่ภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ แสดงว่าเป็นมากแล้ว ภูมิต้านทานไม่ดี รวมถึงในเด็ก และคนที่ทานยากดภูมิ”
การวินิจฉัย-รักษา กรวยไตอักเสบ
สำหรับการวินิจฉัยโรคกรวยไตอักเสบ ทำได้โดยการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ มีสีเหลืองขุ่น เป็นหนอง หรือหากเข้ากระแสเลือด จะตรวจได้โดยการนำเลือดไปเพาะเชื้อ รวมทั้งหากติดเชื้อบ่อยๆ และมีความสงสัยว่ามีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เป็นนิ่ว เนื้องอก สามารถทำได้โดยการอัลตราซาวด์ ฉีดสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็สามารถบอกได้ว่ามีการผิดปกติ หรืออุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หากมีอาการดังกล่าว ต้องรักษาด้วยหลายวิธีการ เช่น สลายนิ่วเพิ่มเติม นอกจากการให้ยาฆ่าเชื้อ การให้น้ำเกลือ และการดื่มน้ำมากๆ จะทำให้การอักเสบหายเร็วขึ้น
ในคนไข้บางราย อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถทานยาแก้อักเสบ หากเป็นน้อยทานประมาณ 7 – 10 วัน แต่หากเป็นมากจะต้องทานประมาณ 10 – 14 วัน ขึ้นอยู่กับว่าอาการ ไม่ต้องมาฉีดยาที่โรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม คนที่ติดเชื้อบ่อยๆ และไม่สาเหตุอื่น เช่น ไม่มีนิ่ว ไม่พบความผิดปกติ จะต้องให้ยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ วันละเม็ด เป็นระยะเวลา 6 เดือน
กรวยไตอักเสบ เป็นซ้ำได้หรือไม่
รศ.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า กรวยไตอักเสบ สามารถเป็นซ้ำได้ หากมีพฤติกรรมที่ชอบ กลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำน้อย ทำให้โอกาสติดเชื้อได้ง่าย หรือบางคนอาจจะเป็นหลังจากมีเพศสัมพันธ์ในผู้หญิง เพราะมีเพศสัมพันธ์เสร็จไปนอนเลย ไม่ได้ปัสสาวะทิ้ง หากไม่กำจัดเชื้อแบคทีเรียออกไป ไม่ไปเข้าห้องน้ำ ก็จะอยู่กับเราทั้งคืน ตื่นเช้ามาทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขณะเดียวกัน คนที่มีท่อไตผิดปกติ ภาวะท่อไตอุดกั้น เช่น มีนิ่ว เนื้องอก โอกาสติดเชื้อได้ง่ายเพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
"ผู้หญิงบางคนเป็นบ่อยใน 6 เดือน พบทางเดินปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากทำงานเพลิน ไม่เข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำน้อย เป็นสาเหตุหนึ่ง ก็ต้องระมัดระวัง การเป็นซ้ำบ่อยๆ จะทำให้เกิดการอักเสบซ้ำ เกิดแผลเป็น และทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของไตถาวร เรียกว่าภาวะโรคไตเรื้อรัง ทำให้เกิดไตเสื่อมเรื้อรัง เข้าสู่ระยะไตทำงานลดลง หากรักษาไม่ดี ในอนาคตอีก 10 – 15 ปี จะทำให้เกิดไตวายได้ ดังนั้น อย่าทำให้ติดเชื้อจะดีกว่า ถนอมการทำงานของไต อย่าทำให้เกิดการอักเสบ"
ใช้ยาล้างช่องคลอด ดีหรือไม่
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น การใช้ยาล้างช่องคลอด รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงไม่ควรทำ เพราะจะเข้าไปทำลายเชื้อที่ดีในช่องคลอด ทำให้เชื้อที่ไม่ดี เช่น เชื้ออีโคไลเติบโตได้ง่ายขึ้น ต้องระมัดระวัง ควรดื่มน้ำ 8 – 10 แก้วต่อวัน ขณะเดียวกัน ในภูมิปัญญาตะวันตก ที่ดื่มน้ำแคนเบอร์รี่ สามารถช่วยได้บ้างแต่ไม่ 100% บางคนทานแล้วก็ดีขึ้น ทำให้การติดเชื้อน้อยลง
"คนที่ติดเชื้อที่กรวยไตด้านซ้าย ครั้งต่อไปก็มีโอกาสติดที่กรวยไตด้านขวาได้ และในผู้หญิงตั้งครรภ์ ก็ต้องระมัดระวัง เพราะเวลามดลูกโต เด็กอยู่ในท้อง เด็กจะไปกดท่อไต ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เพราะปัสสาวะไหลไม่สะดวก ดังนั้น ต้องระมัดระวัง หากติดเชื้อต้องรับพบแพทย์ และทานยาฆ่าเชื้อทำให้การเกิดไตอักเสบน้อยลง การที่ไตอักเสบทำให้ส่งผลต่อเด็กได้ เนื่องจากเชื่อมกับกระแสเลือด"
สิ่งที่ควรจะงด เมื่อเป็นกรวยไตอักเสบ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า ข้อห้ามจริงๆ ไม่มี แต่จะมีอาหารที่ทำให้ไตทำงานหนัก เช่น การทานเนื้อสัตว์มากๆ ทานเค็มมากๆ เป็นปัจจัยเสริมทำให้การทำงานของไตบกพร่อง และเป็นการส่งเสริมให้เกิดไตเรื้อรังได้ เพราะฉะนั้น ในคนไข้ที่ติดเชื้อบ่อยๆ อาจจะลดอาหารที่ทำให้การทำงานของไตบกพร่อง หรือทำให้เป็นไตเรื้อรัง
กรวยไตอักเสบ ป้องกันได้ ?
- ดื่มน้ำให้มาก เพื่อขับแบคทีเรียออกจากร่างกาย ผ่านการปัสสาวะ
- ไม่กลั้นปัสสาวะ การกลั้นจะทำให้เชื้อโรคอยู่ได้นาน จนเจริญเติบโต
- หลังมีเพศสัมพันธ์ ให้ปัสสาวะทันที ลดความเสี่ยงเชื้อโรคที่ค้างภายใน
- รักษาความสะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อต่างๆ