‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ป่วยระยะต้นไม่มีอาการ ใครควรตรวจคัดกรอง-สิทธิฟรี

 ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’  ป่วยระยะต้นไม่มีอาการ ใครควรตรวจคัดกรอง-สิทธิฟรี

ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือ ผู้ว่าฯหมูป่า เสียชีวิตด้วย ‘โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่’ ซึ่งคนไทยแนวโน้มพบสูงขึ้น มีวิธีเลี่ยง และตรวจคัดกรอง เพราะระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ

อาหารที่เสี่ยงก่อโรค

        แนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่สาเหตุการตายและปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5   ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง

วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น

  • อาหารไขมันสูง
  • อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น
  • การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม
  • อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ
  •  และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค

         ปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่มีอาการระยะแรก

     โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี

          มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่

  •  การถ่ายอุจจาระผิดปกติ
  • มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
  • ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง
  • ถ่ายไม่สุด
  • ถ่ายเป็นมูกหรือ มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด
  • ขนาดลำอุจจาระเล็กลง
  • และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

       การตรวจพบโดยเร็ว ตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ จึงสำคัญมาก ซึ่งการตรวจคัดกรอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้หลายวิธี เช่น  ตรวจเม็ดเลือกแดงในอุจจาระทุก  1-2 ปี  ,การสวนสารทึบรังสีตรวจลำไส้ใหญ่ หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี 

  •  วิธีคัดกรองที่แพร่หลายมีหลักๆ 2 วิธี ได้แก่
  1. การตรวจเลือดออกแฝงในอุจจาระ แนะนำให้ตรวจในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปที่ไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว หากผลการตรวจปกติ จะทำการตรวจอุจจาระซ้ำทุก 1 ปี และหากผลตรวจผิดปกติ จะพิจารณาตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อไป
  2. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีการคัดกรองที่เป็นมาตรฐาน สามารถมองเห็นติ่งเนื้อและสามารถตัดออกได้ แนะนำให้ตรวจในคนอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีความเสี่ยง ได้แก่ มีญาติในลำดับที่ 1 เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่, มีโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากผลการตรวจปกติ จะพิจารณาตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ซ้ำในอีก 5-10 ปี

คนที่ควรตรวจคัดกรอง 
     มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง  ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

      ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

บัตรทองตรวจคัดกรองฟรี

     ผู้ที่อยู่ในสิทธิประกันสุขภาพบัตรทอง บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี ในปี 2561 สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ
     สำหรับผู้ที่อายุ 50–70 ปี  โดยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุก 2 ปี  หากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ 



อ้างอิง :
กรมการแพทย์

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)